หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
Ram 4
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 4
1.พระราชประวัติ

เงินพดด้วง


2.การปกครอง
3.เศรษฐกิจ
4.ศาสนา
5.การฟื้นฟูประเพณี  
6.กวีและวรรณกรรม  
7.ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  
   
 
   
       

ด้านเศรษฐกิจ
      ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงวิธีการค้าขายกับต่างประเทศอย่างมาก อันเนื่องมาจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง กับอังกฤษและชาติอื่น ๆ ทำให้ระบบการค้าแบบผูกขาด โดยพระคลังสินค้าถูกยกเลิก ยกเลิกพระคลังสินค้า ยกเลิกสินค้าต้องห้าม เปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บภาษีจากเรือสินค้าใหม่ ถือว่าเป็นการปฏิวัติประเพณีการค้าขายของไทยครั้งใหญ่
       
สาระสำคัญของสนธิสัญญาเบาว์ริ่งที่เกี่ยวกับการค้ามีดังนี้
1. ลูกค้าจะซื้อสินค้าส่งออกนอกประเทศได้ทุกชนิด โดยเสรี แต่รัฐบาลไทยสามารถสงวนสิทธิที่จะห้ามส่งสินค้าออกนอกประเทศได้เมื่อเกิดทุพภิกขภัย
2. พ่อค้าจะนำสินค้าเข้ามาขายในกรุงได้ทุกชนิด นอกจากอาวุธยุทธภัณฑ์ต้องขายให้กับรัฐบาลเท่านั้นและฝิ่นต้องขายให้กับเจ้าภาษีฝิ่นเท่านั้น
3. พ่อค้าและลูกค้าสามารถติดต่อซื้อขายกันได้โดยเสรี
4. ยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือ เปลี่ยนมาเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าขาเข้าร้อยละ 3
       ผลจากสนธิสัญญาทำให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ อาทิ
1. การทำการค้าโดยเสรี มีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายมากมาย สินค้าของไทยขายได้ดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว ทำให้คนไทย มีงานทำ
2. เมื่อมีการยกเลิกพระคลังสินค้า ทำให้รายได้ของรัฐบาลลดน้อยลง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องตั้งภาษีขึ้นใหม่ เช่น ภาษีฝิ่น ภาษีสุกร ภาษีปลาทู ภาษีปลาสด ภาษีหม้อหวด ภาษีเตาหล่อ ภาษีขี้ผึ้ง ภาษีเรือมาด ภาษีเรือโกลน ภาษีผัก ภาษีแจวพาย ภาษีไหม อากรการพนัน อากรมหรสพ อากรค่าน้ำ อากรรักษาเกาะ เป็นต้น
       ผลจากการทำการค้าเสรี ทำให้มีการค้าขายเพิ่มมากขึ้น เงินพดด้วงที่เราเคยใช้อยู่ มีไม่เพียงพอในการแลกซื้อสินค้า ในระยะแรกรัฐบาลจึงอนุญาตให้ใช้
เงินเหรียญดอลล่าร์ได้ ( เหรียญเงินเม็กซิกัน ชาวบ้านเรียก เหรียญนก ) ต่อมารัชกาลที่ 4 ได้โปรดให้สร้างโรงกระษาปณ์ โดยสั่งซื้อเครื่องจักรมาจากเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ มาผลิตเหรียญกระษาปณ์ หรือ เงินแป มีหลายประเภทดังนี้
       1. เหรียญเงิน เริ่มผลิตในปี พ.ศ. 2403 มี 4 ขนาด ได้แก่ หนึ่งบาท กึ่งบาท หนึ่งสลึง หนึ่งเฟื้อง
       2. เหรียญดีบุก เริ่มผลิตในปี พ.ศ. 2404 มี 2 ขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า อัฐ ขนาดเล็กเรียกว่า โสฬส เหรียญดีบุกนี้ผลิตขึ้นใช้แทนเบี้ยหอย
       3. เหรียญทองคำ เริ่มผลิตในปี พ.ศ. 2406 มี 3 ขนาด มูลค่า 8 บาท เรียกว่า ทศ มูลค่า 4 บาท เรียกว่า พิศ มูลค่า 10 สลึง เรียกว่า พัดดึงส์
       4. เหรียญทองแดง เริ่มผลิตในปี พ.ศ. 2408 มี 2 ขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า ซีก ขนาดเล็กเรียกว่า เสี้ยว


เงินพดด้วงในสมัยรัชกาลที่ 4
ตราแผ่นดินเหมือนรัชกาลที่ ๒ และที่ ๓ สำหรับตราประจำพระองค์ ที่ใช้ประทับบนเงินพดด้วงมีดังนี้
ตราพระมหามงกุฎ รูปร่างคล้ายชฎายอดแหลม ใช้กับเงินพดด้วง ขนาดหนึ่งบาท สองสลึง หนึ่งสลึง หนึ่งเฟื้อง สองไพ และหนึ่งไพ ตราพระมหามงกุฎเถา สร้างเป็นที่ระลึงมีหลายขนาดตั้งแต่ ๑ ชั่งลงมา มีกึ่งชั่ง สิบบาท สี่บาท และสองบาท ตราพระมหามงกุฎทองคำ ใช้กับเงินพดด้วงขนาดหนึ่งบาท สองสลึง หนึ่งสลึง หนึ่งเฟื้อง มีรูปร่างแปลกออกไปจากเงินพดด้วงทั่วไป คือไม่พับขา เรียกว่าทองเม็ดขนุน เงินพดด้วงที่ทำด้วยทองคำ มีราคาสูงกว่าที่ทำด้วยเงินที่มีขนาดเดียวกับ ๑๖ เท่า
ตราพระเต้า ใช้กับเงินพดด้วงขนาด หนึ่งสลึง หนึ่งเฟื้อง สองไพ และหนึ่งไพ ทำด้วยเงินและทองคำ ไม่มีตราแผ่นดินประทับ

ด้านคมนาคม
       กำเนิดถนนสายแรก ในปี พ.ศ. 2405 ทรงมีพระราชดำริว่า กรุงเทพฯ มีแต่คลองเป็นทางคมนาคม จะมีถนนก็เป็นตรอกซอยแคบ ๆ ไม่สะดวกในการเดินทาง โดยเฉพาะเมื่อมีพ่อค้าต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยมาก ๆ ไม่เป็นสง่าแก่บ้านเมือง จึงโปรดให้สร้างถนนให้กว้างใหญ่คล้ายคลึงกับถนนในยุโรป ถนนสายแรกให้สร้างตั้งแต่วัดโพธิ์มาถึงสามยอด เมื่อสร้างเสร็จฝรั่งเรียกว่า NEW ROAD ปัจจุบันคือ ถนนเจริญกรุง
      โปรดให้สร้าง
ถนนบำรุงเมือง จากเสาชิงช้าไปออกประตูผี (ประตูสำราญราษฎร์) และถนนเฟื่องนคร สร้างตั้งแต่บ้านหม้อ วัดราชบพิตรมาถึงวัดบวรนิเวศน์ ในปี พ.ศ. 2406
นอกจากนี้ยังมีการขุดคลองเพิ่มดังนี้
      โปรดฯ ให้ขุด
คลองผดุงกรุงเกษม ทางทิศเหนือเริ่มจากเทเวศร์มาออกที่สี่พระยา ในปี พ.ศ. 2394
โปรดฯ ให้ขุด คลองถนนตรง โดยขุดคลองต่อจาก คลองผดุงกรุงเกษม ตรงหัวลำโพงไปเชื่อมกับคลองพระโขนง และนำดินที่ขุดขึ้นมาไปทำถนน เรียกว่า
ถนนตรง ( ปัจจุบันคือถนนพระราม 4 ) คลองที่ขุดนี้เรียกว่าคลองถนนตรงหรือคลองตรงหรือคลองหัวลำโพงในปี พ.ศ. 2400
       ส่วนในหัวเมืองโปรดฯ ให้ขุด
คลองเจดีย์บูชา ที่นครปฐมเชื่อมแม่น้ำนครไชยศรีไปยังพระปฐมเจดีย์ เพื่อให้ประชาชนได้ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ได้อย่างสะดวก
โปรดฯ ให้ขุด
คลองมหาสวัสดิ์ จากวัดไชยพฤกษ์มาลา ต่อจากคลองบางกอกน้อย ไปออกแม่น้ำนครไชยศรีอีกแห่งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2403
โปรดฯ ให้ขุด
คลองดำเนินสะดวก จากแม่น้ำนครไชยศรี ไปออกราชบุรีที่ตำบลบางนกแขวงในปี พ.ศ. 2409
โปรดฯ ให้ขุด
คลองภาษีเจริญ ต่อจากคลองบางกอกน้อย ไปออกแม่น้ำนครไชยศรี โดยให้พระภาษีสมบัติเจริญ ซึ่งเป็นเจ้าภาษีฝิ่นเป็นแม่กองในการขุด ในปี พ.ศ. 2410

Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile