ด้านการปกครอง
การจัดระเบียบการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังคงใช้รูปแบบเดิมเหมือนสมัยรัชกาลที่
3 กล่าวคือ
โปรดให้ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง วังหน้า แต่ยกฐานะเทียบเท่าพระมหากษัตริย์
พระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร์ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ( พระนามเดิมเจ้าฟ้าจุธามณี ) เป็นพระอนุชาร่วมพระชนนีเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีการปฏิรูปประเพณีที่เกี่ยวกับการปกครองบางประการ
ได้แก่
1. การใช้กฎหมาย
ในสมัยรัชกาลที่ 4 อารยธรรมตะวันตกได้เข้ามามีบทบาทในวงราชการอย่างมาก กฎหมายตราสามดวง ที่ไทยเคยใช้อยู่ไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้ทั้งหมด
เนื่องจากชาวต่างชาติมักใช้เป็นข้ออ้างอยู่เสมอว่า กฎหมายไทยป่าเถื่อนล้าสมัย
กฎหมายบางข้อไม่ยุติธรรมหรือบางครั้งรุนแรงเกินกว่าเหตุ จึงได้มีการตรากฎหมายขึ้นใหม่เกือบ
500 ฉบับ นอกจากนี้ยังมีประกาศต่าง ๆ ที่มีผลบังคับใช้เหมือนกฎหมายอีกมากมาย
อาทิ ประกาศให้ชาวกรุงรับจ้างฝรั่งได้ ประกาศห้ามนำคนในบังคับของชาวต่างชาติมาเป็นทาส
ประกาศให้ราษฎรและขุนนางสามารถเป็นเจ้าของละครผู้หญิงได้ เป็นต้น นอกจากนี้ได้โปรดให้ตั้งโรงพิมพ์หลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวังนามว่า โรงอักษรพิมพการ เพื่อใช้พิมพ์เอกสารต่าง
ๆ ของทางราชการ โดยพิมพ์ออกมาในรูปหนังสือพิมพ์แถลงข่าวของทางราชการ โดยพระราชทานนามว่า
ราชกิจจานุเบกษา
2.
การพิพากษาคดีและการศาล
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศาล ส่วนใหญ่ยังคงใช้แบบเดิมยังไม่ได้รวมเป็นกระทรวงเดียวกัน
การพิจารณาคดีความต่าง ๆ ได้โปรดให้ยกเลิกวิธีการพิจารณาพิพากษาตามจารีตนครบาลอันทารุณโหดร้ายเสีย
มีการจัดตั้ง ศาลคดีต่างประเทศหรือศาลต่างประเทศ
ขึ้น เพื่อใช้ว่าความในกรณีที่คนไทยเป็นจำเลย โดยมีเรื่องราวกับชาวต่างชาติ
ที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในเมืองไทย หรือเข้ามาติดต่อค้าขายกับคนไทย
มีการจัดตั้งศาลกงสุลขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจัดตั้งขึ้นอันเนื่องมาจากการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตก
เมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างคนไทยกับคนในบังคับของชาวต่างชาติหรือชาวต่างชาติแล้ว
ถ้าเป็นความอาญาและคนในบังคับของชาวต่างชาติหรือชาวต่างชาติเป็นผู้กระทำผิด
กงสุลประเทศนั้น ๆ จะเป็นผู้พิจารณาพิพากษาโทษ ตามกฎหมายของเขาเอง ลักษณะอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่มีเอกราชในทางศาลหรือที่เรียกกันว่า
ไทยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต
3. กำเนิดตำรวจนครบาล
ได้มีการจัดตั้งตำรวจพระนครบาลหรือโปลิส Polis
ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2404 โดยได้จ้างชาวยุโรปและชาวมลายูซึ่งเคยเป็นนายโปลิสมาก่อนมาเป็นครูฝึก
การจัดตั้งตำรวจพระนครบาลในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันอันตรายอันจะเกิดขึ้นแก่ชีวิตและทรัพย์สินของชาวยุโรป
ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพระนคร โดยเริ่มปฏิบัติงานครั้งแรกบริเวณตลาดสำเพ็ง
4. การฝึกทหารแบบยุโรป
ได้จ้าง ร้อยเอกอิมเปย์ Captain Impey ซึ่งเป็นทหารนอกประจำการของกองทัพบกอังกฤษ
ประจำประเทศอินเดีย เข้ามาเป็นครูฝึก จัดระเบียบทหารบกใหม่ตามแบบตะวันตก
เมื่อ พ.ศ. 2394 การเรียกชื่อ ยศ ตำแหน่ง และการบอกแถวทหาร ใช้ภาษาอังกฤษทั้งสิ้น
จึงเรียกการฝึกทหารหน่วยนี้ว่า
ทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรปหรือทหารเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง ในการฝึกทหารครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นทหารประจำพระองค์ ซึ่งมีถึง
2 กอง คือกองทหารรักษาพระองค์ปืนปลายหอกข้าหลวงเดิมและกองทหารหน้า ในปี
พ.ศ. 2395 ได้จ้างทหารนอกราชการชาวอังกฤษอีกคนหนึ่งชื่อ
ร.อ.โทมัส ยอร์ช นอกซ์ เข้ามาฝึกทหารทำนองเดียวกันกับร้อยเอกอิมเปย์ ให้กับวังหน้าอีกด้วย
ต่อมาในตอนปลายรัชกาลได้จ้างชาวฝรั่งเศสชื่อ ลามาส เข้ามาฝึกทหารแบบยุโรปแต่ใช้ภาษาฝรั่งเศส
การฝึกทหารที่กล่าวมานี้เป็นการฝึกเพื่อใช้เป็นทหารรักษาพระองค์เท่านั้น
การป้องกันประเทศยังคงใช้วิธีเดิมทั้งสิ้น
|
|
ช่วง บุนนาค |
ร.อ.โทมัส ยอร์ช นอกซ์ |
5. ปรับปรุงการทหารเรือ
ได้โปรดให้เปลี่ยนแปลงเรือรบใหม่ จากเรือกำปั่นรบใช้ใบมาเป็น
เรือกำปั่นรบกลไฟ โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
( ช่วง บุนนาค ) เสนาบดีสมุหพระกลาโหมเป็นผู้อำนวยการต่อเรือกำปั่นและบังคับบัญชาเรือกลไฟหลวง
ซึ่งจัดเป็นกรมหนึ่งเรียกว่า กรมอรสุมพล
ถือว่าเป็นต้นกำเนิดของกองทัพเรือแห่งราชนาวีไทยในปัจจุบัน ในสมัยนี้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงโปรดการทหารเรืออย่างมากเป็นผู้อำนวยการต่อเรือกลไฟ
เรือกลไฟลำแรกของไทยที่ต่อขึ้นในรัชกาลนี้คือ เรือสยามอรสุมพล
นอกจากนี้ยังต่อเรือปืนขึ้นอีกหลายลำ อาทิ เรือราญรุกไพรี เรือศรีอยุธยาเดช
เป็นต้น และตอนปลายรัชกาลได้ต่อเรือรบขนาดใหญ่ขึ้นคือ เรือสยามูประสดัมภ์
แล้วโปรดให้ตั้ง กรมเรือกลไฟขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2411
|