หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
Ram 3
สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 3

1.พระราชประวัติ

แบบฝึกหัด
2.การปกครอง
3.เศรษฐกิจ  
4.ศาสนา
5.ศิลปกรรม-วัฒณธรรม
6.กวีและวรรณกรรม  
7.ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  
8.อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตก  
9. ตำราฤาษีดัดตน
เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี )
 
       
       
ประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 3 ( พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ) ( 21/07/ 2367 –02/04/2394 )
ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
กัมพูชากับไทย
ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 2
สมเด็จพระอุทัยราชา ประทับอยู่ที่พนมเปญ เขมรตกอยู่ใต้อำนาจของญวน ครั้นถึง พ.ศ. 2377 สมเด็จพระอุทัยราชาถึงพิราลัย ไม่มีลูกชาย ญวนจึงยกธิดาชื่อ นักองค์มี ให้เป็นเจ้าเมืองพนมเปญโดยตำแหน่ง แต่อำนาจสิทธิ์ขาดตกอยู่กับญวนทั้งสิ้น ส่วนนักองค์อิ่ม พระมหาอุปโยราช ที่ไทยสนับสนุนให้ไปครองเมืองพระตะบองเอาใจออกห่างไปขึ้นกับญวน โดยหวังว่าจะได้เป็นกษัตริย์ แต่ญวนไม่สนับสนุน แต่กดขี่ทารุณพระราชวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่และชาวเขมร
พวกเขมรสุดจะทนได้จึงก่อการกบฏขึ้น ไทยได้ส่ง เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพไปช่วย
นักองค์ด้วง ( น้องของสมเด็จพระอุทัยราชา )รบกับญวนในดินแดนเขมรนานถึง 14 ปี กองทัพไทยไม่สามารถตีเมืองพนมเปญได้เพราะทัพเรือของญวนมีกำลังเหนือกว่าไทยมาก ในปี พ.ศ. 2384 พระเจ้ามินมางกษัตริย์ญวนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าเถียวตรีได้ครองราชย์สืบต่อมา ญวนเห็นว่าไม่สามารถแปลงเมืองเขมรได้สำเร็จจึงส่ง
นักองค์อิ่ม พระมหาอุปโยราช มาครองเมืองเขมรอยู่ใต้อารักขาของญวน ทำนองเดียวกับ นักองค์ด้วง ครองเมืองเขมรอยู่ในอารักขาของไทย นักองค์อิ่มมาอยู่ที่พนมเปญได้ไม่นานก็เกิดอหิวาตกโรคระบาด ญวนจึงกวาดต้อนผู้คนไปอยู่ที่เมืองโจดก ไทยจึงได้เมืองพนมเปญและบรรดาหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด
เขมรจึงแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ภาคใต้เป็นของนักองค์อิ่ม ภาคเหนือเป็นของนักองค์ด้วง ต่างฝ่ายไม่สามารถปราบปรามกันได้ พ.ศ. 2389 พระเจ้าเถียวตรีกษัตริย์สิ้นพระชนม์
พระเจ้าตือดึกได้ขึ้นครองราชย์ต่อ นักองค์อิ่มที่ญวนสนับสนุนอยู่ก็สิ้นพระชนม์ลงอีก ญวนจึงขอเจรจาหย่าศึก โดยญวนขอให้เขมรส่งเครื่องราชบรรณาการต่อญวนเหมือนสมัยพระนารายณ์ราชา ทางไทยตอบตกลง เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงถอยทัพกลับในปี พ.ศ. 2390 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้จัดการอภิเษกนักองค์ด้วงขึ้นเป็นสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณฯ ครองกรุงกัมพูชาสืบมา เป็นอันว่าไทยได้เขมรกลับมาเป็นประเทศราชอีกครั้ง ต่อมาสมเด็จพระหริรักษ์ฯ เจ้ากรุงกัมพูชาได้ส่งนักองค์ราชาวดี (สมเด็จพระนโรดม กษัตริย์เขมรองค์ต่อมา ) ราชบุตรเข้ามารับราชการที่กรุงเทพ และต่อมายังส่งนักองค์ศรีสวัสดิ์ ( สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กษัตริย์เขมรต่อจากพระนโรดม ) และ นักองค์วัตถาราชบุตรองค์รองเข้ามารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ อีกด้วย นักองค์ด้วงรู้สึกทราบซึ้งในคุณงามความดีของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่ช่วยปลดแอกชาวเขมรให้รอดพ้นจากการกดขี่ของญวน จึงได้สร้างศาลตั้งรูปปั้นของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ไว้ที่เมืองอุดงลือชัย เพื่อเป็นที่สักการะของชาวเขมร คนทั้งหลายเรียกศาลนี้ว่า “ศาลองค์บดินทร”
 
สิงห์ สิงหเสนี
ลาวกับไทย
ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 2 เจ้าอนุวงศ์ แห่งนครเวียงจันทน์ มีอำนาจเหนือนครจำปาศักดิ์ เพราะไทยสนับสนุนให้เจ้าโย้ ราชบุตรเจ้าอนุวงศ์ไปครองเมืองจำปาศักดิ์ อิทธิพลของเจ้าอนุวงศ์จึงลงมาถึงลาวตอนใต้ เจ้าอนุวงศ์ไม่พอใจในรัชกาลที่ 3 อันเนื่องจากเจ้าอนุวงศ์ทูลขอชาวลาวที่ไทยกวาดต้อนมาในสมัยกรุงธนบุรี กลับไปเวียงจันทน์แต่ไทยไม่ให้ เจ้าอนุวงศ์ขอละครไปแสดงที่เวียงจันทน์ไทยก็ไม่ให้ ทำให้เจ้าอนุวงศ์ไม่พอใจ จึงหันไปฝักใฝ่ญวนเพราะอยากได้อิสรภาพจากไทยประกอบกับเจ้าอนุวงศ์ได้ข่าวลือว่าอังกฤษยกทัพเรือมาตีไทย เจ้าอนุวงศ์จึงคิดกบฏต่อไทยโดยยกทัพมากวาดต้อนผู้คนที่เมืองนครราชสีมาและสระบุรี รัชกาลที่ 3 โปรดฯให้พระยาราชสุภาวดี ( เจ้าพระยาบดินทรเดชา ) ยกทัพไปปราบศึกครั้งนี้
เจ้าอนุวงศ์สู้ไม่ได้จึงหนีไปพึ่งญวน ทำให้ไทยกับญวนต้องหมองหมางกัน สงครามระหว่างไทยกับลาว ในครั้งนี้ได้กำเนิดวีรสตรีของไทยขึ้นคือ ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม)
ท้าวสุรนารี
 
พม่ากับไทย
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวเมืองมณีปุระเป็นกบฏ พม่าต้องจัดการปราบ พวกกบฏหนีเข้าไปในแคว้น อัสสัมของอินเดียซึ่งอยุ่ในความดูแลของอังกฤษ จึงเกิดสงครามระหว่างพม่ากับอังกฤษ การรบทางบกอังกฤษสู้พม่าไม่ได้เพราะพม่าชำนาญภูมิประเทศมากกว่า อังกฤษจึงเปลี่ยนมารบทางเรือ
เวอร์ อาร์ชิเบลด์ แคมป์เบล แม่ทัพเรือของอังกฤษ ทำการรบทางอ่าวเบงกอลและอ่าวเมาะตะมะ ยึดหัวเมืองชายทะเลได้เป็นจำนวนมาก แต่มีปัญหาเรื่องเสบียงอาหารและพาหนะจึงชวนไทยช่วยรบพม่า โดยให้ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี่ เป็นทูตเข้ามารัชกาลที่ 3 โปรดให้ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย ) คุมทัพบกไปช่วยรบทางด่านเจดีย์สามองค์ ให้พระยาชุมพร (ซุย) คุมทัพเรือไปช่วยรบทางเมืองมะริดและเมืองทวาย แต่ไทยกับอังกฤษมีเรื่องขัดแย้งกัน ทางเมืองหลวงจึงเรียกทัพกลับหมด
อังกฤษไม่ละความพยายาม เข้ามาชวนไทยรบอีก โดยสัญญาว่าจะแบ่งดินแดนของพม่าทางด้านอ่าวเบงกอลให้ ไทยได้ช่วยอังกฤษอีก เมื่ออังกฤษชนะสงครามไทยได้ขอดินแดนจากอังกฤษแต่อังกฤษบ่ายเบี่ยงบอกว่ายังไม่สิ้นสุดสงคราม ไทยไม่พอใจจึงระงับการช่วยอังกฤษและยกทัพกลับ
ในปี พ.ศ. 2393 การตีเมืองเชียงตุง เนื่องจากพม่าแพ้สงครามต่ออังกฤษ ต้องเสียค่าปรับมากมาย จึงบังคับเอาเงินจากเมืองขึ้นไปช่วย เชียงตุงเป็นเมืองขึ้นของพม่าต้องไปบังคับเอาจากเมืองเชียงรุ้ง ชาวเมืองเชียงรุ้งเดือดร้อนจึงก่อการกบฏมาขอสวามิภักดิ์ต่อไทย รัชกาลที่ 3 ทรงรับไว้แล้วโปรดให้จัดทัพไปตีเมืองเชียงตุง แต่ไม่สำเร็จเพราะเจ้านายเมืองเหนือไม่ปรองดองกันและรัชกาลที่ 3 ก็ประชวรด้วย
 
ผลดีที่ไทยได้ช่วยเหลืออังกฤษรบกับพม่า
1. ไทยกับอังกฤษได้เป็นไมตรีต่อกัน
2. พม่าไม่มีโอกาสมารบกวนไทยอีก
3. ไทยได้มีโอกาสจัดการรบกับเขมรและญวน
4. ยุติปัญหาเรื่องเมืองไทรบุรี โดยตกลงว่าไทยจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับหัวเมืองมลายูของอังกฤษและอังกฤษจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเมืองไทรบุรีของไทย
อังกฤษกับไทย ในสมัยรัชกาลที่ 3 อังกฤษต้องการให้ไทยช่วยรบกับพม่า ลอร์ด แอมเฮอสต์ ผู้สำเร็จราชการประจำอินเดียของอังกฤษ ได้ส่งร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี่ Captian Henry Burney ซึ่งคนไทยในสมัยนั้นเรียก “กะปิตัน หันตรี บารนี” เป็นทูตเข้ามาเจรจากับไทย โดยมีความต้องการ 4 ประการคือ
1. เพื่อพยายามรักษาสัมพันธไมตรี อย่าให้ไทยเป็นอริกับอังกฤษได้
2 . เพื่อขอกำลังจากไทยไปช่วยอังกฤษรบกับพม่า
3 . เพื่อชักชวนให้ไทยยอมทำสัญญาการค้ากับอังกฤษ
4 . เพื่อทำความตกลงกันในปัญหาเมืองไทรบุรีและหัวเมืองมลายู
เมื่อไทยกับอังกฤษตกลงกันได้จึงทำสัญญาต่อกันนับเป็นสัญญาโดยสมบูรณ์ฉบับแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีชื่อเรียกว่า “
สัญญาเบอร์นี่” มีภาษากำกับถึง 4 ภาษาคือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาโปรตุเกสและภาษามลายู ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 มีสาระสำคัญดังนี้
“ไทยกับอังกฤษจะมีไมตรีต่อกัน จะไม่คิดร้ายต่อกัน จะไม่แย่งชิงเอาบ้านหรือดินแดนซึ่งกันและกัน ถ้ามีคดีเกิดขึ้นภายในอาณาเขตประเทศไทยก็ให้ไทยตัดสินตามใจไทยตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ทั้งสองฝ่ายจะอำนวยความสะดวกในการค้าต่อกันเป็นอันดี จะอนุญาตให้พ่อค้าของอีกฝ่ายหนึ่งเข้าไปตั้งหรือเช่าบ้านเรือนโรงสินค้าและร้านค้าได้ แต่คนของอีกฝ่ายหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในอาณาเขตของอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของอาณาเขตนั้นทุกประการ”
 
สัญญาที่เกี่ยวกับการค้ามีสาระดังนี้
1. เรือของชาวอังกฤษหรือชาวเอเชียในบังคับอังกฤษที่เข้ามาค้าขายในกรุงเทพ ฯ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย
ทุกประการ จะซื้อข้าวสารหรือข้าวเปลือกออกนอกประเทศไม่ได้
2. ถ้าเรือนั้นนำอาวุธปืน กระสุนปืนหรือดินดำเข้ามาจะต้องขายให้รัฐบาลเท่านั้นถ้ารัฐบาลไม่ต้องการต้องนำออกไป
3. นอกจากข้าวและอาวุธยุทธภัณฑ์แล้ว อนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษกับพ่อค้าไทยซื้อขายกันได้โดยสะดวกเสรี
4. เรือที่นำสินค้าเข้ามาขายในเมืองไทยนั้น จะต้องเสียภาษีเบิกร่องหรือค่าปากเรือ ในอัตราวาละ 1,700 บาท ถ้ามิได้บรรทุกสินค้ามาจะเสียในอัตราวาละ 1,500 บาท ทั้งนี้ไม่ต้องเสียภาษีขาเข้าขาออกอีก
5. พ่อค้าอังกฤษ จะเป็นชาวยุโรปก็ดี หรือชาวเอเชียก็ดีตลอดจนผู้บังคับการเรือ นายเรือ ลูกเรือที่เข้ามาค้าขายในเมืองไทยนั้นจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยทุกประการ ถ้าหากมีการกระทำผิดขึ้น ก็ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตัดสินลงโทษได้ ในกรณีฆาตกรรมโดยเจตนา ผู้กระทำผิดจะต้องถูกประหารชีวิต โทษอย่างอื่นถ้าเป็นความผิดก็ให้ปรับ โบยหรือจำคุกตามกฎหมายไทย
ในตอนปลายรัชกาลที่ 3 อังกฤษได้ส่ง เซอร์ เจมส์ บรุค เข้ามาขอแก้ไขสัญญาการค้าที่เฮนรี เบอร์นี่ได้ทำไว้แต่ไม่เป็นผลสำเร็จพอดีเปลี่ยนรัชกาลเสียก่อน
 
อเมริกากับไทย
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาได้มีขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2376 โดยประธานาธิบดี
แอนดรูว์ แจ๊คสัน ได้ส่ง เอ็ดมันด์ โรเบอร์ต Edmund Roberts คนไทยเรียก “เอมินราบัด” เป็นทูตเข้ามาทำสัญญาการค้ากับไทย ทำนองเดียวกับอังกฤษที่ เฮนรี เบอร์นี่ ทำไว้ เนื่องจากสัญญาฉบับดังกล่าว ไม่สู้จะเกิดประโยชน์ต่อพ่อค้าชาวอังกฤษและอเมริกันมากนัก ดังนั้นในปี พ.ศ. 2393 อเมริกัน ได้ส่ง โยเซฟ บัลเลสเตียร์ Joseph Balestier เข้ามาขอแก้ไขสนธิสัญญา ที่ทำไว้ เมื่อ ปี พ.ศ. 2375 แต่เนื่องจาก โยเซฟ บัลเลสเตียร์ Joseph Balestier ไม่เข้าใจขนบธรรมเนียมไทย พูดจากร้าวร้าว จึ่งไม่สามารถแก้ไขสนธิสัญญาได้
 
 
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile