หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
โยนิโสมนสิการ

          พระพุทธเจ้า ตรัสสอนให้เรารู้จักคิด การรู้จักคิด วิเคราะห์ วิจารณ์อย่างรอบด้าน ทำให้เกิดปัญญา จนแตกฉาน เรียกว่า  "โยนิโสมนสิการ"
โยนิโส แปลว่า ถูกต้องแยบคาย
มนสิการ (มะนะสิกาน)  การกําหนดไว้ในใจ  แปลว่า ทำไว้ในใจ.
โยนิโสมนสิการ หมายถึง การทำไว้ในใจโดยแยบคาย หรือการคิดถูกต้องตามความเป็นจริง มีไวพจน์อีก 4 คำ  ที่โยงเข้ากับโยนิโสมนสิการ คือ อุบายมนสิการ  ปถมนสิการ  การณมนสิการ อุปปาทกมนสิการ
     โดยอาศัยการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและคิดเชื่อมโยงตีความข้อมูลเพื่อนำไปใช้ต่อไป

1. อุบายมนสิการ เป็น การคิดหรือพิจารณาโดยอุบาย คือ การคิดอย่างมีวิธีหรือถูกวิธี ซึ่งหมายถึง การเข้าถึงความจริง สอดคล้องกับแนวสัจจะ ซึ่งทำให้รู้สภาวลักษณะและสามัญลักษณะของสิ่งทั้งหลาย
2. ปถมนสิการ เป็น การคิดถูกทาง ต่อเนื่องเป็นลำดับ หมายถึง ความคิดที่เป็นระเบียบตามหลักเหตุผล ไม่ยุ่งเหยิงสับสน จิตไม่แว็บติดพันในเรื่องนี้ แต่เดี๋ยวกลับเตลิดไปคิดอีกเรื่องหนึ่ง จิตยุ่งเหยิงนี้กระโดดไปมา ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่รวมทั้งความสามารถในการชักความนึกคิดไปสู้แนวทางที่ถูกต้อง
3. การณมนสิการ เป็น การคิดอย่างมีเหตุผล เป็นการสืบค้นตามแนวความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย พิจารณาสืบสาวหาสาเหตุ ให้เข้าใจถึงต้นเค้า หรือแหล่งที่มาซึ่งส่งผลต่อเนื่องตามลำดับ
4. อุปปาทกมนสิการ การคิดการพิจารณาให้เกิดกุศลธรรม(กรรมดี) เช่น การพิจารณาที่ทำให้มีสติ หรือทำให้จิตใจเข้มแข็งมั่นคง เป็นต้น
ไขความทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นเพียงการแสดงลักษณะด้านต่างๆ ของความคิดแบบโยนิโสมนสิการ ซึ่งการเกิดในแต่ละครั้ง อาจมีลักษณะครบทั้ง 4 ข้อ หรือเกิดครบทั้งหมด หรือเขียนลักษณะทั้ง 4 ข้อนี้สั้นๆ ได้ว่า คิดถูกวิธี   คิดมีระเบียบ   คิดมีเหตุผล   คิดเร้ากุศล

           พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตโต) อธิบายความหมายของโยนิโสมนสิการ (Crltical Reflection) ไว้ดังนี้  
“ในระบบการศึกษาอบรม โยนิโสมนสิการ เป็นการฝึกใช้ความคิด  ให้รู้จักคิดอย่างถูกวิธี  คิดอย่างมีระเบียบรู้จักคิดวิเคราะห์ไม่มองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างตื้น ผิวเผิน  เป็นขั้นสำคัญในการสร้างปัญหาที่บริสุทธิ์ เป็นอิสระทำให้ทุกคนช่วยตนเองได้  และนำไปสู่จุดมุ่งหมายของพุทธธรรมอย่างถ่องแท้”
           ดังนั้นขอนำข้อคิดเห็นของ พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตโต) มาเสนอไว้ในที่นี้   “ว่า โดยรูปศัพท์  โยนิโสมนสิการ  ประกอบด้วย โยนิโส กับ มนสิการ  โยนิโส มาจาก โยนิ แปลว่า เหตุ ต้นเค้า แหล่งเกิด ปัญญาอุบาย  วิธี  ทาง ส่วนมนสิการ แปลว่า  การทำในใจ  การคิด คำนึง นึกถึง ใส่ใจ  พิจารณา  เมื่อรวมเข้าเป็นโยนิโสมนสิการ  ท่านแปลสืบทอดกันมาว่า การทำในใจโดยแยบคาย”
         กล่าวอีกนัยหนึ่ง  การทำในใจโดยแยบคายก็คือการคิดเป็น คือคิดถูกต้องตามความเป็นจริงอาศัยการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ  และคิดเชื่อมโยงตีความข้อมูลเพื่อนำไปใช้ต่อไป
วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ
     ในทัศนะของพระธรรมปิฎก อธิบายได้ว่า วิธีโยนิโสมนสิการพอประมวลเป็นแบบใหญ่ได้ 10 วิธีดังต่อไปนี้
           1. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
           2. วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบหรือกระจายเนื้อหา
           3. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์  หรือวิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา
           4. วิธีคิดแบบอริยสัจ หรือ คิดแบบแก้ปัญหา
           5. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ 
           6.  วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก
           7. วิธีคิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม 
           8. วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม 
           9. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน
          10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาทหรือคิดแบบแยกแยะประเด็น
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@gmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th