หน้าแรก | โรงเรียนสายน้ำผึ้ง
ในพระอุปถัมภ์ |
|||||
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม |
||||||
สารบัญ | ||||||
โยนิโสมนสิการ |
3. วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดาหรือวิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ |
วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดาหรือวิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ คือคิดเพื่อให้เกิดรู้เท่าทันในความเป็นไปของสภาพสิ่งทั้งหลาย ที่มีความแปรเปลี่ยน ดับสลายในที่สุด ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืนตลอดกาล เมื่อธรรมดามันเป็นของมันเช่นนั้น This is it . ดั่งคำท่านพทธทาสท่านกล่าว "มันเป็นเช่นนั้นแล" องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าท่านแสดง ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร เรื่องอนัตตาใน ขันธ์ห้า ต่อเหล่าปัญจวัคคีย์ จนสำเร็จพระอรหันต์ ความว่า เบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ 5 หมายถึง กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมห้าหมวดที่ประชุมกันเข้าเป็นชีวิต ขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ 1. รูปขันธ์ กองรูป ส่วนที่เป็นรูป ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่าง ๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด 2. เวทนาขันธ์ กองเวทนา ส่วนที่เป็นการเสวยรสอารมณ์ ความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ เมื่อรับรู้เกิดความพอใจ มนุษย์เรียกว่า สุข เมื่อรับรู้เกิดความไม่พอใจ มนุษย์เรียกว่า ทุกข์ เมื่อรับรู้แล้วไม่ทุกข์ไม่สุข เรียกว่า อุเบกขา 3. สัญญาขันธ์ กองสัญญา ส่วนที่เป็นความกำหนดหมายให้จำอารมณ์นั้น ๆได้ ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ 6 เช่น เสียงดัง รูปสวย กลิ่นหอม รสหวาน ร้อน และดีใจ 4. สังขารขันธ์ กองสังขาร ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลาง ๆ คุณสมบัติต่าง ๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต 5. วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์ ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 รวมเรียกว่า เบญจขันธ์ เป็น อนัตตา ไม่ใช่ตน ถ้าเป็นตนจริงแล้ว ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่อความลำบาก ผู้เป็นเจ้าของก็จะปรารถนาได้ตามใจหวัง แต่ความจริงเบญจขันธ์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตน ผู้ที่ถือว่าเป็น เจ้าของจึงปรารถนาให้เป็นไปตามใจหวังไม่ได้ แล้วทรงถามความเห็นของท่านปัญจวัคคีย์ให้ตอบด้วยความจริงใจว่า เบญจขันธ์ ไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงก็เป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์ก็มีความแปรปรวนเป็น ธรรมดา จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าของเรา เป็นของเรา ไม่เป็นตัวตนของเรา แล้วทรงสอนให้ละความยึดถือว่า เบญจขันธ์ ที่ล่วงไปแล้ว หรือยังไม่มาก็ดี เกิดขึ้นจำเพาะบัดนี้ก็ดี หยาบหรือละเอียด เลวหรืองาม อยู่ใกล้หรือไกลก็ดี ทั้งหมด ก็สักแต่ว่าเป็น เบญจขันธ์ พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงว่าไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตนของเรา เห็นประจักษ์ใจเช่นนี้ ย่อมเบื่อหน่ายคลายกำหนัด จิตก็พ้นจากความถือมั่น เมื่อพระศาสดาตรัสสอนอยู่ดังนี้ ปัญจวัคคีย์น้อมใจพิจารณาไป ตามพระธรรมเทศนา จิตก็พ้นจาก อาสวะ ไม่ถือมั่นด้วย อุปาทาน สรุปรวมเป็น อนัตตลักขณสูตร เรียกว่า ไตรลักษณ์ แปลว่า ลักษณะ 3 ประการ หมายถึง สามัญลักษณะ คือ กฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง อันได้แก่ 1. อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง ทุกสิ่งในโลกย่อมมีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา 2. ทุกขัง คือ ความเป็นทุกข์ มีความบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป 3. อนัตตา คือ ความที่ทุกสิ่งไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการได้ เช่น ไม่สามารถบังคับให้ชีวิตยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป ไม่สามารถบังคับจิตใจให้เป็นไปตามปรารถนา เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสแสดงตรัสแสดง ธรรมดาของโลก คือ เรื่องของโลก ธรรมที่ครอบงำโลก หรือธรรมที่มีประจำโลก เรียกว่า โลกธรรม 8 หมายถึง ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลกและสัตว์โลกต้องเป็นไปตามธรรมนี้ หรือทุกคนในโลกนี้ย่อมถูกโลกธรรมนี้กระทบทั้งนั้น ไม่มีใครพ้นไปได้เลย ยกเว้นพระอรหันต์ผู้อยู่เหนือโลกเท่านั้น อันประกอบด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ทุกคนที่เกิดมาไม่ว่ายากดีมีจน ย่อมประสบสิ่งเหล่านี้เหมือนกันหมดไม่มียกเว้น แต่ละคนที่ประสบบ้างก็ทำใจได้บ้างก็เสียอกเสียใจเลยทำร้ายตัวเองด้วยความโง่เขลา พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้รู้จักคิดพิจารณาจนรู้เท่าทันธรรมดาของโลก เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำใจให้หนักแน่นมั่นคงไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วจะอยู่บนโลกอย่างมีความสุข |
Copyright By : Chalengsak
Chuaorrawan Sainampeung School 186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand e-mail address : chalengsak.ch@gmail.com Tel; 089-200-7752 mobile |
|
http://www.sainampeung.ac.th |