หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
สาระภูมิศาสตร์
หน่วยที่ 3 ภูมิศาสตร์โลก World Geography  
บทที่ 9 ภูมิอากาศ Climate  
ความหมาย
ปัจจัยที่มีอิธิพลต่อภูมิอากาศ
เขตภูมิอากาศ
การใช้สัญลักษณ์แทนชื่อภูมิอากาศ
ประเภทภูมิอากาศ
การแบ่งภูมิอากาศตามพืชพรรณธรรมชาติ
 

ภูมิอากาศ

นักภูมิอากาศวิทยาได้พยายามจำแนกลักษณะภูมิอากาศของโลกออกเป็นกลุ่ม ๆ และกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิอากาศนั้น ๆ โดยใช้ค่าเฉลี่ยขององค์ประกอบหลาย ๆ ชนิดเป็นตัวกำหนด อาทิ ละติจูด  อุณหภูมิ หยาดน้ำฟ้า มวลอากาศ พืชพรรณธรรมชาติ เป็นต้น

 

การแบ่งเขตภูมิอากาศของโลกโดยใช้ละติจูดเป็นเกณฑ์
           ชาวกรีกเป็นชาติแรกที่ใช้ละติจูดเป็นเกณฑ์กำหนดเขตภูมิอากาศของโลก  โดยใช้หลักที่ว่า  แกนของโลกเอียง 23 องศา 30 ลิปดา กับระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์
ในวันที่ 21 มิ.ย. แสงอาทิตย์ส่องตั้งฉากบริเวณเส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์ Tropic of Cancer โลกหันขั้วโลกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์ บริเวณเหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล Arctic Circle  ละติจูด 66 องศา 30 ลิปดาเหนือขึ้นไป  จะได้รับแสงอาทิตย์ตลอดเวลา     ส่วนบริเวณใต้ เส้นแอนตาร์กติกเซอร์เคิล Antarctic Circle ละติจูด 66 องศา 30 ลิปดาใต้ลงมา จะเป็นกลางคืนตลอดเวลา ซีกโลกเหนือเป็นฤดูร้อน ขณะที่ซีกโลกใต้เป็นฤดูหนาว

 

          เมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์อีกหกเดือนต่อมา ในวันที่ 21 ธ.ค. แสงอาทิตย์ส่องตั้งฉากบริเวณเส้นทรอปิกออฟแคบริคอร์นTropic of Cabricorn บริเวณใต้เส้นแอนตาร์กติกเซอร์เคิล  Antarctic Circle ละติจูด 66 องศา 30 ลิปดาใต้ ลงมา จะได้รับแสงอาทิตย์ตลอดเวลา ส่วนบริเวณเหนือเส้นอาร์คติกเซอร์เคิล   Arctic Circle ละติจูด 66 องศา 30 ลิปดาเหนือ  ขึ้นไป จะกลายเป็นกลางคืนตลอดเวลา ซีกโลกใต้เป็นฤดูร้อน ขณะที่ซีกโลกเหนือเป็นฤดูหนาว 

 

          จากการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ดังกล่าวทำให้ลมฟ้าอากาศ  weather  เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน เกิดเป็นฤดูกาล
           ลมฟ้าอากาศ  weather  หมายถึง สภาวะอากาศของบริเวณใดบริเวณหนึ่งที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา
อาทิ วันที่ 31 มกราคม 2555 ลมฟ้าอากาศบริเวณกรุงเทพมหานคร มีเมฆมากกับมีฝนกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-30 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม

 

          ภูมิอากาศ  climate  หมายถึง ลักษณะอากาศของบริเวณใดบริเวณหนึ่งในระยะเวลานาน หรือ ลักษณะอากาศเฉลี่ยของภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งในช่วงระยะเวลานาน หาได้จากการจดบันทึกสภาพอากาศประจำวัน ของอุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ แล้วนำผลมาหาค่าเฉลี่ย เพื่อสรุปหาค่าภูมิอากาศของภูมิภาคนั้น ซึ่งระยะเวลาในการจดบันทึกอาจนานมากกว่า 30 ปี       

 
          เมื่อนำละติจูดมาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตภูมิอากาศของโลกจะแบ่งออกเป็น 3 เขต รวม 5 บริเวณบนโลกได้แก่
1. เขตร้อน torrid zone  อยู่ระหว่างเส้นทรอปิก ออฟ แคนเซอร์ (ละติจูด 23 องศา  30 ลิปดาเหนือ) กับ เส้นทรอปิกออฟแคบริคอน  ละติจูด 23 องศา  30 ลิปดาใต้ แสงอาทิตย์สามารถส่องตั้งฉากบนพื้นโลกบริเวณเขตนี้ได้ มีโอกาสที่ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือศีรษะได้ 2 ครั้งในหนึ่งปี พื้นที่เขตนี้จึงรับพลังงานจากดวงอาทิตย์ได้มากกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลก
 
2. เขตอบอุ่น  temperate zone  เป็นลักษณะภูมิอากาศระหว่างเขตร้อนและเขตหนาวมีอยู่ 2 บริเวณ ตั้งแต่เส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์ Tropic of Cancer  ละติจูด 23 องศา  30 ลิปดาเหนือ  ถึง เส้นอาร์กติกเซอร์เคิล  Arctic Circle ละติจูด 66 องศา  30 ลิปดาเหนือ  และพื้นที่ตั้งแต่เส้นทรอปิกออฟแคบริคอน Tropic of Cabricorn ละติจูด 23 องศา 30 ลิปดาใต้ ถึงเส้นแอนตาร์กติกเซอร์เคิล (Antarctic Circle ละติจูด 66 องศา 30 ลิปดาใต้) แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมเฉียง แม้ว่าไม่มีโอกาสที่ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือศีรษะ แต่ก็ยังได้รับแสงอาทิตย์ตลอดปี
 
3. เขตหนาว (frigid zone) มีอยู่ 2 บริเวณ ได้แก่ ดินแดนเหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล (Arctic Circle ละติจูด 66  องศา  30 ลิปดาเหนือ) ขึ้นไปถึงขั้วโลกเหนือ และใต้เส้นแอนตาร์กติกเซอร์เคิล (Antarctic Circle ละติจูด  66 องศา 30 ลิปดาใต้) ลงมาถึงขั้วโลกใต้ แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมลาด มีโอกาสได้รับแสงอาทิตย์ในช่วงฤดูหนาวน้อยมาก

 

การแบ่งเขตภูมิอากาศของโลกโดยใช้พืชพรรณธรรมชาติเป็นเกณฑ์กำหนด

นักชีววิทยาเชื่อว่าสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของพืชคือภูมิอากาศ ตามความเชื่อของนักมานุษยวิทยาดังกล่าวได้นำพืชพรรณชาติมาจำแนกเขตภูมิอากาศโดยแบ่งออกเป็น 12 เขตดังนี้

1. ป่าดิบชื้น tropical rain forest climate เป็นเขตภูมิอากาศที่มีป่าไม้อยู่ในเขตร้อนและมีฝนตกชุก ต้นไม้ลำต้นสูงใหญ่ พร้อมด้วยพรรณไม้เลื้อยนานาชนิด และที่พื้นดินมีพรรณไม้ชั้นล่างขึ้นหนาแน่นเป็นป่าทึบ เรียกว่า ป่าดิบ หรือ ป่าดิบชื้น บริเวณที่มีภูมิอากาศแบบป่าดิบชื้น มักปรากฏอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรลากผ่านหรือบริเวณด้านหน้าที่ได้รับลมสินค้า ได้แก่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำแอมะซอน ลุ่มแม่น้ำคองโก ทางตะวันออกของเกาะมาดากัสการ์ ตอนใต้ของแอฟริกาตะวันตก หมู่เกาะอินดีสตะวันตก ตะวันออกของอเมริกากลาง เกาะบบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย หมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซีย ชายฝั่งตะวันออกของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย


 

2. ป่ามรสุม monsoon forest เป็นเขตภูมิอากาศที่มีป่าไม้ที่ขึ้นในบริเวณที่มีฤดูแล้งและฤดูฝนสลับกันอย่างเด่นชัดอย่างละ 6 เดือน ในหนึ่งปี บริเวณที่อยู่ในเขตป่ามรสุม เช่น อินเดีย เอชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย

 

3. ป่าละเมาะไม้หนาม  scrub and thorn forest  เป็นเขตที่มีภูมิอากาศที่มีป่าไม้ ประเภทไม้พุ่มเตี้ยมีหนาม ซึ่งปรากฏในเขตแห้งแล้งที่อาจมีต้นไม้สูงขึ้นปะปนบ้างเป็นหย่อม ๆ เช่น  ในรัฐควีนส์แลนด์ของประเทศออสเตรเลีย

 

4. ป่าเมดิเตอร์เรเนียน  mediterranean scrub เป็นเขตภูมิอากาศที่มีป่าไม้ ประเภทไม้พุ่มเตี้ย chaparral (ชาปาร์รัล) มีหนามเปลือกหนาขึ้นสลับกับทุ่งหญ้า ป่าแคระ เป็นป่าไม้พุ่มเตี้ยเขียวชะอุ่มตลอดทั้งปี จำพวก ต้นโอ๊ก ไม้ตระกูลมะฮอกกานี เขตภูมิอากาศแบบนี้จะพบได้บริเวณตอนกลางของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนใต้ของทวีปยุโรปติดชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐออสเตรเลียตะวันตก ตอนใต้ของรัฐออสเตรเลียใต้ ตอนกลางของประเทศ ชิลี เมืองเคปทาวน์ ในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้

 

5. ป่าไม้ใบกว้าง  broadleaf forest  เป็นเขตภูมิอากาศที่ประกอบด้วยป่าไม้ที่มีไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้เนื้อแข็ง ใบกว้าง และใบไม้จะผลัดใบในช่วงปลายฤดูร้อนซึ่งมีอากาศแห้งแล้ง  เขตภูมิอากาศแบบนี้จะพบได้บริเวณที่ราบ ที่ราบภาคกลางและชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของทวีปอเมริกาเหนือ ทางภาคตะวันออกของประเทศจีน พืชพรรณที่สำคัญ ได้แก่ โอ๊ก เมเปิล ไม้พุ่มเตี้ย

 

6. ป่าสน หรือ ป่าไทกา coniferous forest เป็นเขตภูมิอากาศที่มีพืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าสน ใบแหลม เป็นป่าไม่ไม่ผลัดใบ มักมีน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นในฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากหิมะเริ่มละลาย บริเวณที่พบป่าไม้ประเภทนี้ ได้แก่ ทางตอนเหนือของรัสเซีย ทวีปยุโรป ภาคเหนือของแคนาดา ทวีปอเมริกาเหนือ ภาคเหนือของทวีปเอเชีย

 

7. ทุ่งหญ้าสะวันนา  savanna เป็นภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าเขตร้อน tropical grassland ภูมิอากาศแบบนี้จะพบในเขตร้อนที่มีปริมาณน้ำฝนน้อย พืชบริเวณนี้เป็นหญ้ายาวและมีไม้พุ่มขึ้นปะปนอยู่บ้าง พบได้ในทุ่งหญ้ายานอส (Llanos) ลุ่มแม่น้ำโอริโนโค ทุ่งหญ้าแกมปอส  (Campos) บนที่ราบสูงบราซิล ของทวีปอเมริกาใต้ ตอนกลางของทวีปแอฟริกา ทางเหนือของประเทศออสเตรเลีย  ทางตะวันตกของอเมริกากลาง บางแห่งของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และประเทศไทย

 

8. ทุ่งหญ้าแพรรี prairie เป็นภูมิอากาศที่มีพืชพรรณธรรมชาติเป็นหญ้ายาว ในเขตอบอุ่น ซึ่งไม่ค่อยมีต้นไม้ใหญ่เพราะฝนตกน้อย พบได้บริเวณที่ราบใหญ่ภาคกลางทวีปยุโรป ที่ราบเชิงเขาร็อกกีถึงเกรตเลก บริเวณแอลเบอร์ตา มานิโทบา ซัสแกตเชวัน ของแคนนาดา ทุ่งหญ้าแพรรีของสหรัฐอเมริกา ทุ่งหญ้าดาวน์ ประเทศออสเตรเลีย ทุ่งหญ้าปัมปา ทวีปอเมริกาใต้

 

9. ทุ่งหญ้าสเตปป์ steppe เป็นภูมิอากาศที่มีพืชพรรณธรรมชาติแบบทุ่งหญาสั้น ปรากฏในเขตอบอุ่นที่มีฝนตกน้อย พบบริเวณตอนกลางทางตะวันตกและตอนเหนือของทะเลสาบแคสเปียน ทวีปยุโรป ไปจนถึงตอนใต้ของไซบีเรีย ทวีปเอเชีย

 

10. ไม้พุ่มทะเลทราย desert shrub เป็นเขตภูมิอากาศที่มีทุ่งหญ้าและไม้พุ่มชายขอบทะเลทรายประกอบด้วยหญ้าใบแข็ง แหลม และพืชมีหนามที่ทนความแห้งแล้งได้จำพวกกระบองเพชร cactus บริเวณที่ปรากฏ ภูมิอากาศแบบนี้ ได้แก่ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ภาคเหนือของเม็กซิโก ภาคเหนือของแอฟริกา ภาคใต้ของทวีปอเมริกาใต้
 

11. ทุนดรา tundra เป็นเขตภูมิอากาศที่มีพืชพรรณธรรมชาติ จำพวกพืชขนาดเล็ก เช่น ไลเค็น lichen มอสส์ moss  ตะไคร่น้ำ thallophytic plant บริเวณที่พบ ได้แก่  ชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติกตอนเหนือของยุโรปถึงเอเชีย บริเวณอ่าวฮัดสัน ชายฝั่งรอบเกาะกรีนแลนด์ เกาะแบฟฟิ่น ทวีปอเมริกาเหนือ

 
12. พืดน้ำแข็ง ice cap เป็นบริเวณที่ไม่มีพืชพรรณธรรมชาติเจริญเติบโตได้เลย เพราะพื้นดินถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งตลอดเวลา พบได้บริเวณ กลางเกาะกรีนแลนด์  หมู่เกาะทางตอนเหนือของแคนาดา ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปแอนตาร์กติกา บริเวณขั้วโลกใต้                        
 
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th