ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทวีปยุโรปกำลังเกิดสงคราม
เนื่องจากการรุกรานของจักรพรรดินโปเลียน และการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส
ชาวยุโรปที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยได้แก่ ชาวโปรตุเกส อังกฤษ
- ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกส
ชาวโปรตุเกส เป็นชาติแรกที่เข้ามาติดต่อทำการค้ากับไทยในสมัยรัตนโกสินทร์
พ.ศ. 2329 อันโตนิโอเดอวีเสนท์ ชาวไทยเรียก องตนวีเสน เป็นทูตผู้เชิญพระราชสาส์เข้ามาถวายโดยเรือสลุป
ทางไทยได้จัดการต้อนรับเป็นอย่างดี โดยจัดเกณฑ์ข้าราชการน้อยใหญ่ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน
ทั้งวังหลวง วังหน้าและวังหลัง ตลอดจนขุนนางจีน ญวน แขก ฝรั่ง ฯลฯ มีการจัดงานเลี้ยง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เสด็จออกต้อนรับคณะทูตครั้งนี้ ณ
พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
- ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษ
ไทยต้องเสียเกาะหมาก ( ปีนัง )และสมารังไพร ( ดินแดนตรงข้ามเกาะหมาก ซึ่งอังกฤษเรียกว่าปรอวินส์
เวลเลสลีย์ ) ให้กับอังกฤษไป โดย ฟรานซีสไลท์ ชาวอังกฤษ ชาวไทยเรียก กัปตันไลท์ ได้บังคับเช่าจาก พระยาไทรบุรี ( อัลดุลละ โมกุรัมซะ ) เพื่อใช้เป็นสถานีการค้ากลาง
ติดต่อค้าขายกับ จีน ชวา มลายู และหมู่เกาะ อินโดนีเซีย อังกฤษทราบดีว่า
ไทรบุรีเป็นเมืองขึ้นของไทย จึงพยายามเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
และได้ทูนเกล้าถวายดาบประดับพลอย และ ปืนด้ามเงินหนึ่งกระบอก เพื่อผูกสัมพันธไมตรีกับไทย
รัชกาลที่ 1 ได้ แต่งตั้งให้ ฟรานซีสไลท์ เป็น พระยาราชกัปตัน นับเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์
ในสมัย รัตนโกสินทร์
- ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่า
ส่วนใหญ่เป็นการทำสงคราม ในสมัยนี้มีทั้งหมด 7 ครั้ง
ครั้งที่ 1 สงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328
ครั้งที่ 2 สงครามท่าดินแดง พ.ศ. 2329
ครั้งที่ 3 พม่าตีลำปางและป่าซาง พ.ศ. 2330
ครั้งที่ 4 ไทยตีเมืองทวาย พ.ศ. 2330
ครั้งที่ 5 การรบที่เมืองทวาย พ.ศ. 2336
ครั้งที่ 6 พม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2340
ครั้งที่ 7 ไทยขับไล่พม่าออกจากล้านนา พ.ศ. 2345
การรบที่สำคัญคือ ศึกสงครามเก้าทัพ โดยพระเจ้าปดุงคุมทัพมาเอง ยกมาตีหัวเมืองเหนือสองทัพ
หัวเมืองปักษ์ใต้สองทัพ ทัพหลวงห้าทัพ เข้ามาทางด้านเจดีย์สามองค์ สู้รบกับ
ทัพหลวงของไทย บริเวณทุ่งลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี สงครามครั้งนี้ฝ่ายไทยชนะทุกด้าน
ซึ่งในสงครามเก้าทัพนี้ ได้เกิด วีรสตรีสองท่านคือ ท้าวเทพสตรี ( คุณหญิงจัน
) และท้าวศรีสุนทร ( นางมุก )
สงครามครั้งสำคัญอีกครั้งคือ ศึกท่าดินแดง พ.ศ. 2329 พระเจ้าปดุงพยายามจะแก้ตัวในการโจมตีไทยอีก
แต่ต้องพ่ายแพ้กลับไป
- ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับหัวเมืองมลายู
เมื่อศึกสงครามเก้าทัพ ในปี พ.ศ. 2328 รัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท
คุมทัพไปป้องกันพม่าที่เข้ามาตีหัวเมืองทางใต้ ครั้นเมื่อรบกับพม่าเรียบร้อยแล้ว
เห็นว่ามีกองทัพพร้อมแล้ว เป็นโอกาสเหมาะที่จะปราบปราม หัวเมืองมลายู ให้อ่อนน้อมต่อไทย
สุลต่านเมืองปัตตานีไม่ยอมอ่อนน้อม กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท จึงยกทัพไปตีเมืองปัตตานีได้ชัยชนะ
พระยาไทรบุรี ( อับดุลละ โมกุรัมซะ ) เจ้าเมืองไทรบุรี เจ้าเมืองกลันตัน
เจ้าเมืองตรังกานู ทราบข่าวก็ยอมอ่อนน้อม แต่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย
หัวเมืองมลายูจึงตกเป็นเมืองขึ้นของไทยอีกวาระหนึ่ง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2332 2334 เจ้าเมืองปัตตานีเป็นกบฏ โดยชักชวน องเชียงสือ
( ชาวญวน ) ยกทัพมาตีกรุงเทพฯ แต่กองทัพเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลา
ช่วยกันตีกองทัพปัตตานีไว้ได้
- ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญวน
ญวนได้เกิด กบฏไตเซิง ( ไกเซิน ) มาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี กษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ได้หนีมาพึ่งไทย
ที่สำคัญ 2 พระองค์คือ องเชียงซุนและองเชียงสือ องเชียงซุนได้ถูกพระเจ้าตากสินประหารชีวิต
เพราะเตรียมจะหนีออกนอกราชอาณาจักร
ส่วนองเชียงสือ หรือ เหวียงอาน เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อขอให้ไทยช่วย
ไทยได้จัดทัพไปช่วย แต่ไม่สามารถช่วยได้
เพราะกบฏมีกำลังมากกว่า องเชียงสือได้ขอทหารอาสาจากชาวยุโรปในการช่วยปราบกบฏ
3 ปี สามารถยึดญวนทางใต้ ได้สำเร็จ ในปี พ.ศ. 2333 จึงตั้งตนเป็นเจ้าอนัมก๊ก
นามว่า พระเจ้ากาววางเหวียงจั๊ว ในปี พ.ศ. 2345 องเชียงสือ สามารถปราบกบฏไกเซิน
ได้จนหมด จึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้ายาลอง
- ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน
การค้าขายส่วนใหญ่ของไทยในสมัยนี้ทำการค้ากับจีนแทบทั้งสิ้น เพราะทางยุโรปกำลังเกิดสงคราม
และ จีนนั้นมุ่งหวังจะทำการค้าเพียงอย่างเดียว จึงยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของไทยเป็นอย่างดี
ตรงข้ามกับชาวยุโรปมักแสวงหาผลประโยชน์และยุ่งเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองของไทย
มักเรียกร้องสิทธิพิเศษต่าง ๆ แล้วนำไปใช้ในทางไม่ชอบ โดยเหตุนี้ ชาวไทยจึงชอบทำการค้ากับจีนและแขกมากกว่าชาวยุโรป
ดังจะเห็นได้จาก กรมท่า มีตำแหน่งขุนนางจีน ที่ทำหน้าที่ ติดต่อการค้ากับชาวจีนประจำกรมท่าซ้าย
ชื่อ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี และมีขุนนางแขก ชื่อ พระยาจุฬาราชมนตรี ประจำกรมท่าขวา
เพื่อทำหน้าที่ติดต่อการค้ากับชาวแขก มลายู ชวาและอินเดีย
- ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา
เหตุการณ์ตอนปลายสมัยกรุงธนบุรี เกิดความวุ่นวายในกัมพูชา รบราฆ่าฟันแย่งความเป็นใหญ่กันอยู่ตลอดเวลา
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 1 การจลาจลในเขมรก็ยังไม่จบสิ้น จึงโปรดให้พระยายมราช
( แบน ) ขุนนางเก่าในเขมรที่เข้ามา อยู่ในเมืองไทยออกไประงับเหตุการณ์
พระยายมราชเห็นว่าเหลือกำลัง ที่จะจัดการได้จึงพา นักองค์เอง ผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์เขมร
ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 10 ปี เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 1 ทรงชุบเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรมและทรงพระราชทาน
ให้พระยายมราช ( แบน ) ขึ้นเป็น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ( แบน ) ต่อมาเหตุการณ์ในกัมพูชาสงบลง
ขุนนางผู้ใหญ่ในเขมร ได้ร้องขอ นักองค์เอง ขึ้นเป็นกษัตริย์ รัชกาลที่
1 ทรงเห็นว่านักองค์เองอายุยังน้อยอยู่ เกรงว่า จะไม่สามารถเอาตัวรอดได้
จึงได้โปรดให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ( แบน ) ออกไปเป็นผู้สำเร็จราชการก่อน
พ.ศ. 2327 นักองค์เอง มีอายุได้
21 ปี จึงโปรดอภิเษกนักองค์เองขึ้นเป็น สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ศรีสุริโยพรรณฯ ออกไปครองกรุงกัมพูชา และได้แต่งตั้งให้ พระยากลาโหม ( ปก ) ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงนักองค์เอง
เป็น สมเด็จฟ้าทะละหะ ( ปก ) คอยดูแลเจ้ากรุงกัมพูชา ส่วนเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์
( แบน ) ไม่ใช่พรรคพวกของนักองค์เอง แต่มีความชอบที่ดูแลกัมพูชามา 10 ปี
รัชกาลที่ 1 จึงให้ดูแลเขมรส่วนใน ( พระตะบอง เสียมราฐ ) ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ
โดยตรง สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีฯ ครองกรุงกัมพูชาได้เพียง 3 ปีก็สิ้นพระชนม์
ในปี พ.ศ. 2340 มีบุตร 5 องค์
องค์โตมีอายุเพียง 6 ปี มีชื่อตามลำดับดังนี้ นักองค์จันทร์ นักองค์พิม
นักองค์สงวน นักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วง
รัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้สมเด็จฟ้าทะละหะ ( ปก ) เป็นผู้สำเร็จราชการไปพลาง
ๆ ก่อน จนถึง พ.ศ. 2349 สมเด็จฟ้าทะละหะ ( ปก ) ก็พานักองค์จันทร์ มาเข้าเฝ้า
บอกว่าตนเองอายุมากแล้ว ขอให้อภิเษก นักองค์จันทร์ ขณะนี้ มีอายุ 16 ปีแล้ว
ขึ้นเป็นกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจึงแต่งแต่ง นักองค์จันทร์ขึ้นเป็น
สมเด็จพระอุทัยราชา ครองกรุงกัมพูชาต่อไป
|