หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
     
หน่วยที่ 5 แนวการพัฒนาประเทศไทย  
บทที่ 13 ภูมิศาสตร์ประเทศไทย  
 
 
  การแบ่งเขตภูมิประเทศ  
  ประเทศไทยแบ่งภาคทางภูมิศาสตร์ออกเป็น 6 เขต ได้แก่  
  1. ภาคเหนือ  เขตเทือกเขาและที่ราบหุบเขา  
  2. ภาคกลาง    เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ  
  3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขตที่ราบสูง  
  4. ภาคตะวันออก เขตที่ราบชายฝั่งทะเลและที่ราบลูกฟูก  
  5. ภาคตะวันตก  เขตเทือกเขาและที่ราบหุบเขา  
  6. ภาคใต้   เขตเทือกเขาและที่ราบชายฝั่งทะเล  
     
  5. ภาคตะวันตก  เขตเทือกเขาและที่ราบหุบเขา มี 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์  
     
 

ที่ราบลุ่มน้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี  เป็นที่ราบภาคตะวันตก  ทางด้านทิศตะวันตกมีภูเขาตะนาวศรี ทางด้านทิศตะวันออกติดที่ราบภาคกลาง และอ่าวไทย

 
     
  แม่น้ำเพชรบุรี ต้นกำเนิดแม่น้ำเพชรบุรีเกิดจากเทือกเขาตะนาวศรีทางด้านตะวันตกของจังหวัดเพชรบุรี ไหลผ่านอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง ลงสู่อ่าวไทย ที่อำเภอบ้านแหลม มีความยาว 210 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญของจังหวัด ซึ่งเมื่อมาถึงอำเภอบ้านแหลม แม่น้ำจะแยกออกเป็นสองสาย สายหนึ่งออกสู่อ่าวไทยที่ตำบลบ้านแหลม อีกสายไหลไปทางทิศเหนืออกสู่อ่าวไทยที่ตำบลบางตะบูน เรียกว่า แม่น้ำบางตะบูน โดยมีเขื่อนแก่งกระจานเป็นเขื่อนดิน กั้นแม่น้ำเพชรบุรี  อยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นทะเลสาบ น้ำจืดขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ  
 
 
  แม่น้ำแม่กลอง 
เป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งในภาคตะวันตก เกิดจากแม่น้ำแควใหญ่ และแควน้อย ไหลมาบรรจบกันที่ตำบลปากแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรีไหลผ่านจังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม และไหลลงสู่ปากอ่าวไทยที่อำเภอเมืองสมุทรสงคราม มีความยาวประมาณ 132 กิโลเมตร
 
     
  แม่น้ำแควใหญ่ หรือ แม่น้ำศรีสวัสดิ์ เป็นแม่น้ำสำคัญทางภาคตะวันตกของประเทศไทย มีต้นน้ำที่ทิวเขาถนนธงชัย ไหลลงมาทางใต้ผ่านอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
 เขตทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดอุทัยธานี ต่อกับ อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอเมืองกาญจนบุรี ไหลมารวมกับแม่น้ำแควน้อยที่ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นแม่น้ำแม่กลอง มีความยาวประมาณ 450 กิโลเมตร โดยมี เขื่อนศรีนครินทร์ (เขื่อนเจ้าเณร) กั้นแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณบ้านเจ้าเณร ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรีเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง สร้างขึ้น  เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และสถานที่พักผ่อนที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี 
 
 
 
  แม่น้ำแควน้อย
เป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของประเทศที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศไทย เกิดจากการรวมตัวกันของลำน้ำใหญ่สามสายจากเทือกเขาตะนาวศรี
ได้แก่ ซองกาเลีย รันตี และบิคี่ใหญ่ไหลมาบรรจบกันที่ด้านใต้ของด่านสามสบในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 
ไหลผ่านอำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค แล้วจึงไหลมาบรรจบกับแม่น้ำศรีสวัสดิ์หรือแม่น้ำแควใหญ่ ที่ตำบลปากแพรก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี 
รวมกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง มีความยาวประมาณ 318 กิโลเมตร สองฝั่งแม่น้ำเป็นภูเขาสูงชัน มีเขื่อนเขาแหลม (เขื่อนวชิราลงกรณ)
กั้นแม่น้ำแควน้อยที่อำเภอทองผาภูมิ และครอบคลุมพื้นที่บางส่วนในอำเภอสังขละบุรีและอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
 
 
 
     
     
  แม่น้ำปิง
ไหลมาจากภาคเหนือผ่านภาคตะวันตกในเขตจังหวัดตาก ไหลรวมกับแม่น้ำวังที่อำเภอบ้านตาก จังหวัดาก เรียกแม่น้ำปิง
โดยมีเขื่อนภูมิพลสร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เขื่อนภูมิพล เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ในประเทศไทย ลักษณะเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง ได้รับการอนุมัติให้สำรวจและก่อสร้างในปี พ.ศ. 2496 ในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2500 เดิมมีชื่อโครงการว่า เขื่อนยันฮี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2504 การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำรัฐพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 มีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตร ความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้รับพระราชทานนามว่า "เขื่อนภูมิพล"
 
 
 
     
     
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th