หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
     
หน่วยที่ 5 แนวการพัฒนาประเทศไทย  
บทที่ 13 ภูมิศาสตร์ประเทศไทย  
 
 
  การแบ่งเขตภูมิประเทศ  
  ประเทศไทยแบ่งภาคทางภูมิศาสตร์ออกเป็น 6 เขต ได้แก่  
  1. ภาคเหนือ  เขตเทือกเขาและที่ราบหุบเขา  
  2. ภาคกลาง    เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ  
  3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขตที่ราบสูง  
  4. ภาคตะวันออก เขตที่ราบชายฝั่งทะเลและที่ราบลูกฟูก  
  5. ภาคตะวันตก  เขตเทือกเขาและที่ราบหุบเขา  
  6. ภาคใต้   เขตเทือกเขาและที่ราบชายฝั่งทะเล  
     
     
  3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขตที่ราบสูง มี 20 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี  
            ลักษณะภูมิประเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ในระดับความสูงระหว่าง 120-400 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีเทือกเขาเพชรบูรณ์และเทือกเขาดงพญาเย็นเป็นขอบสูงทางทิศตะวันตก ลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งจานลาดเอียงไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ
ทางทิศใต้มีเทือกเขาสันกำแพงและเทือกเขาพนมดงรักเป็นขอบแล้วลาดเทไปทางตะวันออกลงสู่แม่น้ำโขง ทิวเขาที่สำคํญได้แก่ ทิวเขาเพชรบูรณ์ ทิวเขาดงพญาเย็น ทิวเขาสันกำแพงและทิวเขาพนมดงรัก
มีเทือกเขาภูพานอยู่ตอนกลางค่อนข้างไปทางเหนือแบ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกเป็น 2 ส่วน คือ แอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร
 
              
            แอ่งสกลนคร มีแม่น้ำที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำสงคราม แม่น้ำเลย พื้นที่หลายแห่งเกิดจากการทรุดตัวลงกลายเป็นหนองน้ำ ที่สำคัญ เช่น หนองหาน จังหวัดสกลนคร หนองประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี หนองญาติ จังหวัดนครพนม เป็นต้น  
     
            แอ่งโคราช มีแม่น้ำที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำมูล แมน้ำชี มีที่ราบกว้างใหญ่อยู่หลายแห่ง เช่น ทุ่งกุลาร้องไห้ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และยโสธร ทุ่งหมาหิว จังหวัดอุบลราชธานี  
  แม่น้ำที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้  
     
 

แม่น้ำมูล มีต้นกำเนิดจากทิวเขาสันกำแพง บริเวณเขื่อนมูลบน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ไหลผ่าน จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์  จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดศรีสะเกษ บรรจบกับกับแม่น้ำชีบริเวณบ้านขอนไม้ยูง ตำบลห้วยขะยูง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี แล้วไหลผ่านอำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอสว่างวีรวงศ์ อำเภอดอนมดแดง อำเภอตาลสุม อำเภอพิบูลมังสาหาร และไหลลงแม่น้ำโขงที่ตำบลบ้านด่าน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีความยาวทั้งหมดประมาณ 640 กิโลเมตร โดยมี เขื่อนปากมูลกั้นแม่น้ำมูลในจังหวัดอุบลราชธาน ตัวเขื่อนตั้งอยู่บริเวณแก่งตะนะ ซึ่งห่างจากปากแม่น้ำขึ้นมา 4 กิโลเมตร ก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก

 
 
 
 

แม่น้ำชี  เกิดจากที่ราบด้านตะวันออกของเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นแนวภูเขาชายเขตแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดชัยภูมิ  มีลำน้ำสาขาได้แก่ ลำน้ำพรม ลำน้ำพอง ลำน้ำเซิน ลำน้ำปาว และลำน้ำยัง แม่น้ำชีถือว่าเป็นแม่น้ำที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย ไหลผ่าน จังหวัดชัยภูมิ  จังหวัดนครราชสีมา  จังหวัดขอนแก่น  จังหวัดมหาสารคาม  จังหวัดกาฬสินธุ์  จังหวัดร้อยเอ็ด  จังหวัดยโสธร  จังหวัดศรีสะเกษ  จังหวัดอุบลราชธานี  และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่บ้านวังยาง ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีความยาวทั้งสิ้น 765 กิโลเมตร

 
     
  แม่น้ำพอง ต้นน้ำเกิดจากน้ำตกขุนพองบนภูกระดึงจังหวัดเลยไหลผ่านจากทางตะวันตกมาทางตะวันออก เข้าเขตจังหวัดขอนแก่น บริเวณผานกเค้า ทิวเขาภูเปือย เขตติดต่อระหว่าง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น กับอำเภอ ภูกระดึงจังหวัดเลย ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ และไหลต่อไปในเขตอำเภอน้ำพอง อำเภอเมืองขอนแข่น จังหวัดขอนแก่น ไปบรรจบกับ แม่น้ำชี ที่บ้านหนองแสง ตำบลโพนงาม อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มีความยาวที่ผ่านเขตจังหวัดขอนแก่น ประมาณ 125 กิโลเมตร โดยมี เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ แห่งที่สองของประเทศไทย  เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ที่ ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และ ตำบลโนนสัง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ปิดกั้นแม่น้ำพองสาขาย่อยของแม่น้ำชี   
 
 
 

แม่น้ำเลย เป็นแม่น้ำที่ที่มีต้นกำเนิดมาจากป่าภูหลวง เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย ไหลผ่าน พื้นที่บ้านโนนพัฒนา บ้านเลยตาด ตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง อำเภอภูหลวง อำเภอวังสะพุง อำเภอเมืองเลย และไหลลงสู่แม่น้ำโขงบริเวณพื้นที่บ้านคกมาด อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

 
     
     
     
     
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th