สมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พ.ศ. 2310 2325
เศรษฐกิจ
การแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในสมัยกรุงธนบุรี
1. ปัญหาความอดอยากของราษฎร
2. การค้าระหว่างประเทศ
3. การเก็บภาษีอากร
ปัญหาความอดอยากของราษฎร
ตอนปลายสมัยอยุธยาราษฎรไม่สะดวกในการประกอบอาชีพทำมาหากินไม่มีเวลาในการเพาะปลูก
เลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมีศึกสงครามมาตั้งแต่ พ.ศ. 2309
พม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ จนกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า
ราษฎรถูกต้อนไปเป็นเชลยจำนวนมาก บางพวกก็หลบหนีภัยสงครามเข้าป่าก็มาก
บางพวกก็หนีเข้าไปพึ่งชุมนุมต่าง ๆ หลังจากที่พระเจ้าตากสินกอบกู้เอกราชได้แล้ว
ราษฎรเริ่มอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงธนบุรี โดยการที่พระเจ้าตากสินส่งผู้คนออกไปเกลี้ยกล่อมชักชวนให้เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองจะได้เป็นกำลังในการสร้างชาติ
ปัญหาที่ตามมาก็คือ การขาดแคลนอาหารเครื่องอุปโภคบริโภค พระเจ้าตากสินต้องสละทรัพย์ส่วนพระองค์
ในการซื้อข้าวสาร อาหาร เสื้อผ้า แจกราษฎร นอกจากนี้พระเจ้าตากสินยังโปรดให้ทำนานอกฤดูกาลอีกเพื่อให้ได้ข้าวเพิ่มขึ้น ให้เพียงพอต่อความต้องการ
และสะสมไว้เป็นเสบียงในการยกทัพไปทำสงคราม อาทิ ก่อนยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางทรงมีรับสั่งให้ทำนาปรัง เพื่อเตรียมข้าวสารในการออกรบ
การค้าระหว่างประเทศ
ในระยะแรกพระเจ้าตากสินทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการซื้อข้าวสารแจกราษฎร
โดยให้ราคาสูง ทำให้ชาวต่างชาติที่ทราบข่าวก็นำสินค้าเข้ามาขายเป็นจำนวนมาก
ทำให้สินค้าที่ชาวต่างชาตินำเข้ามาขายมีราคาถูกลง ตามหลักเศรษฐศาสตร์เรื่อง อุปสงค์และอุปทาน กล่าวคือ
ประการที่หนึ่ง เมื่อพ่อค้าชาวต่างชาติทราบว่าสินค้าที่นำเข้ามาขาย
ที่กรุงธนบุรี จำหน่ายได้ดีและได้ราคาสูง ชาวต่างชาติก็นำสินค้าลงเรือมาขายยังกรุงธนบุรีเป็นจำนวนมาก
สามารถบรรเทาความอดอยาก และการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค
ประการที่สอง เมื่อราษฎรที่หลบหนีอยู่ตามป่าทราบข่าว
ว่าพระเจ้าตากสิน ซื้อข้าวปลาอาหารแจกราษฎร ต่างก็พากันออกจากป่าเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงธนบุรีเพิ่มขึ้น
จะได้เป็นกำลังของชาติในการรวบรวมอาณาจักรต่อไป
ประการที่สาม เมื่อพ่อค้าแข่งขันกันนำสินค้าเข้ามาขายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
เกินความต้องการของราษฎร ราคาสินค้าก็ถูกลงตามลำดับความเดือนร้อนของราษฎรก็หมดไป
หลังจากบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ พระเจ้าตากสิน โปรดให้แต่งสำเภา ออกไปค้าขายยังประเทศจีน* เป็นส่วนใหญ่ และยังติดต่อขอซื้อทองแดงจากญี่ปุ่น
การเก็บภาษีอากร
หลังจากที่บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว รายได้ของรัฐ ที่เก็บจากราษฎรยังคงใช้อย่างอยุธยาตอนปลายดังนี้
จกอบ หมายถึง ภาษีผ่านด่านเรียกเก็บจากผู้นำสินค้าเข้ามาขาย
อากร หมายถึง ภาษีที่เก็บจากราษฎรที่ประกอบอาชีพทุกชนิดยกเว้นการค้าขาย
ฤชา หมายถึง ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากราษฎรที่ใช้บริการของรัฐเช่นการออกโฉนดที่ดิน
ค่าปรับผู้แพ้คดี
ส่วย หมายถึง เงิน หรือ
สิ่งของที่เก็บแทนการเกณฑ์แรงงานของราษฎรที่ต้องเข้าเวร
*ดูความสัมพันธ์กับประเทศจีน