การปกครอง
หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
การเมือง
politic

ระบอบการเมืองการปกครอง พิจารณาจากผู้ใช้อำนาจอธิปไตย

ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย Sovereignty ใช้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ใช้เพื่อประโยชน์สุขของผู้ปกครอง
คนเดียว สมบูรณาญาสิทธิราช
absolute monarchy
เผด็จการ, ทุชนาธิปไตย
dictatorship
คณะบุคคล

อภิชนาธิปไตย
aristocracy

คณาธิปไตย
oligarchy
ประชาชนทั้งหมด ประชาธิปไตย
democracy
กฎหมู่
mob law
             ประชาธิปไตย Democracy เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยกรีกโบราณ ณ นครรัฐเอธนส์ ปัจจุบันคือ ประเทศสาธารณรัฐเฮเลนนิก (กรีซ)
            คำว่า Democracy มาจากคำว่า Demos หมายถึง ประชาชน People และคำว่า Kratein หมายถึง การปกครอง to Rule ดังนั้น ประชาธิปไตย Democracy หมายถึง อำนาจ อธิปไตยเป็นของประชาชน หรือการปกครองของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน แต่คำว่า ประชาธิปไตย มิได้หมายถึง ระบอบการปกครองเพียงอย่างเดียว แต่ประชาธิปไตย น่าจะหมายถึง ปรัชญาของสังคมมนุษย์ หรือ หลักการกำหนดพฤติกรรมระหว่างมนุษย์ในสังคมในกิจการทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตามความหมายดังนี้
ทางการเมือง ประชาชนแต่ละคนมีส่วนกำหนดนโยบายในการปกครองบ้านเมืองในระดับชาติ
ทางสังคม ประชาชนได้รับความยุติธรรมในสังคม ไม่มีการกีดกันระหว่างชนชั้น หรือความแตกต่างใด ๆ หรือเกิดระบบอภิสิทธิ์ชนหรือระบบอุปถัมภ์
ทางวัฒนธรรม ส่งเสริมค่านิยม แบบแผน หรือประเพณี ที่ยึดมั่น ในหลักการประนีประนอม การใช้เหตุผล การนับถือคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ชอบธรรมและเหมาะสมกับกาลสมัย และให้ความสำคัญกับสมาชิกที่อยู่ในสังคมเดียวกัน
ทางเศรษฐกิจ ประชาชนมีเสรีภาพในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ได้ลงแรงไป
ประชาธิปไตย ในทางกว้างจึงมีความหมายทั้งในรูปแบบการปกครองและเป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในแง่ของการปกครองจะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนรวม รัฐบาลจึงมีหน้าที่เสมือนเป็นกลไก ในการช่วยให้ประชาชน ได้บรรลุจุดมุ่งหมายของสังคมการเมือง สิ่งนั้นคือประโยชน์สุขของประชาชนทั้งปวง
รูปแบบการแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย
การปกครองแบบประชาธิปไตยแบ่งออกได้ 3 แบบโดยอาศัยรูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศ ได้แก่
        1. ระบบรัฐสภา Parliamentary System
        2. ระบบประธานาธิบดี Presidential System
        3. ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี Semi-Parliamentary System, Semi- Presidential System
ระบบรัฐสภา Parliamentary System
        การปกครองระบบรัฐสภา เป็นระบบการปกครองที่เกิดขึ้น ณ ประเทศสหราชอาณาจักร ในศตวรรษที่ 17 ซึ่งมีผลมาจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์กับสภาที่ประเทศอังกฤษ จึงถือว่าประเทศอังกฤษ เป็นต้นแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตบแบบรัฐสภา เพราะรัฐสภาของประเทศอังกฤษในสมัยนั้นมีขึ้นในสมัยที่พระมหากษัตริย์ ยังมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศ รัฐสภาในสมัยนั้นมีสมาชิกจากประชาชนในชนชั้นต่าง ๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนธรรมดาสามัญ เข้าไปนั่งในสภาด้วย ฉะนั้นรัฐสภาจึงเป็นสถาบันของประชาชน นั่นก็คือประชาชนได้มีบทบาท ในการควบคุมการใช้อำนาจของกษัตริย์รวมถึงการปฏิบัติงานของรัฐมนตรีด้วย
หลักการสำคัญของการปกครองระบอบรัฐสภา
        1. ตำแหน่งประมุขของประเทศแยกออกจากตำแหน่งบริหาร
        2. ตัวแทนของประชาชนทำหน้าที่นิติบัญญัติ
        3. คณะรัฐบาลเกิดจากรัฐสภา
        4. การบริหารงานของรัฐบาลขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของรัฐสภา
ระบบประธานาธิบดี Presidential System
          รูปแบบรัฐบาลระบบประธานาธิบดีเกิดขึ้นครั้งแรก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้นำของสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาระบอบการปกครองเพื่อไม่ให้ผู้ใดมีอำนาจมากเกินไปในการปกครองประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้
         1. มีการแบ่งแยกอำนาจ ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ โดยประธานาธิบดี มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนและประธานาธิบดีเป็นผู้สรรหาคณะรัฐมนตรี โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกรัฐสภาไม่ได้ ซึ่งไม่เหมือนกับคณะรัฐมนตรีแบบรัฐสภา
         2. ประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหารเป็นคน ๆ เดียวกัน
         3. รัฐบาลมีอิสระจากการควบคุมของรัฐสภา
         4. รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อประธานาธิบดี
         5. ใช้หลักการคานอำนาจ เนื่องจากประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาต่างก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้นจึงมีการแบ่งแยกอำนาจกันอย่างเด็ดขาดทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการและฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจมากเกินไปกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
         6. วุฒิสภา มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร เช่น รัฐมนตรี เอกอัครราชทูตตามที่ประธานาธิบดีเสนอมา
         7. อำนาจตุลาการ สำหรับตำแหน่งผู้พิพากษา ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้ง โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ศาล มีอำนาจชี้ขาดว่ากฎหมายที่ออกโดยฝ่ายรัฐสภานั้นขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่
ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี Semi-Parliamentary System, Semi- Presidential System
ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี เกิดขึ้นครั้งแรก ณ ประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้เพราะไม่ว่าผู้ใดจะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็เกิดความวุ่นวาย มีข้อขัดแย้งมากมาย ต้องยุบสภาบ่อย รัฐบาลหรือรัฐสภาต้องออกจากตำแหน่ง มีการเลือกตั้งใหม่ บ่อยครั้ง ทำให้เสียงบประมาณ ดังนั้นนักรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์ของฝรั่งเศส จึงได้พัฒนารูปแบบการปกครองโดยผสมผสานกันระหว่างแบบรัฐสภาและแบบประธานาธิบดี โดยมีลักษณะดังนี้
         1. ประธานาธิบดีมีอำนาจเด็ดขาด เนื่องจากประธานาธิบดี เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ประธานาธิบดีจึงมีอำนาจสูงสุดและเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี โดยแบ่งหน้าที่การบริหารงานให้แก่นายกรัฐมนตรีและคณะ แต่อำนาจในการอนุมัติ การลงนาม ในกฎหมายยังคงอยู่ที่ประธานาธิบดี
         2. รัฐสภามีอำนาจนิติบัญญัติและการบริหารบางส่วน กล่าวคือ อำนาจของรัฐสภามีมากกว่าแบบประธานาธิบดี แต่มีอำนาจน้อยกว่าระบอบรัฐสภา
         3. นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาและประธานาธิบดี เนื่องจากนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งโดยได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี นายกจึงต้องรับผิดชอบต่อประธานาธิบดีและในขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาด้วย
เผด็จการ Dictatorship
รูปแบบการปกครอง
แบบเผด็จการที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเก่าแก่กว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย นักรัฐศาสตร์คาดว่ารูปแบบการปกครองแบบเผด็จการ จะมีการนำมาใช้ในการปกครองน้อยลงโดยเฉพาะหลังสงครามเย็นยุติลงพร้อมกับการล่มสลายของระบบสังคมนิยม ของสหภาพโซเวียตรัสเซีย หลายประเทศได้นำรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ การยอมรับรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการ ถูกต่อต้านในสังคมโลก ทำให้ประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมจากกลุ่มประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ระบอบเผด็จการค่อย ๆ ลดน้อยลง แต่เมื่อเราหันมาดูประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก อย่างประเทศจีน ยังคงจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และยังนำรูปแบบคล้ายเผด็จการมาใช้
การปกครองแบบเผด็จการแบ่งออกเป็น 2 แบบได้แก่
1. แบบอำนาจนิยม Authoritarianism
2. แบบเบ็ดเสร็จนิยม Thoritarianism
การปกครองทั้งสองแบบมีจุดร่วมกันคือ
ผู้ปกครองเป็นกลุ่มบุคคลหรือคน ๆ เดียว ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จโดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนหรือได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ผู้ปกครองสามารถทำอะไรก็ได้ที่เขาเห็นว่าถูกต้องหรือทำให้ผู้ปกครองได้รับผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจหรือทางสังคม แต่ถ้าปกครองเผด็จการด้วยศีลธรรม ก็สามารถนำความสุขมาสู่คนหมู่มากได้ ตัวอย่างเช่นการปกครองของอาณาจักรโรมันได้นำระบอบเผด็จการมาใช้เพื่อสร้างกฎระเบียบให้เข้มแข็ง เพื่อความมีเสถียรภาพของรัฐ ให้ประชาชนในสังคมอยู่รอดพ้นจากภาวะคับขัน อาทิ การเกิดสงคราม เกิดโรคระบาด หรือมีภัยธรรมชาติ แต่เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ปกครองก็คืนอำนาจให้กับประชาชน
เผด็จการแบบอำนาจนิยม Authoritarianism
          คำว่าเผด็จการแบบอำนาจนิยม Authoritarianism มาจากคำว่า อำนาจ Authoriy ซึ่งเป็นการสร้างอำนาจที่เป็นทางการ Formal เช่น อำนาจของศาลในการพิพากษาคดี หรืออำนาจของตำรวจในการจับโจรผู้ร้าย
การปกครองแบบอำนาจนิยมเป็นระบอบการปกครองที่เน้นการใช้อำนาจและมักอ้างจารีตประเพณี Tradition การปกครองแบบนี้จึงปฏิเสธเสรีภาพส่วนบุคคล Individual Liberty โดยมีความคิดแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตย ผู้ปกครองมักอ้างจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมา ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเปลี่ยนแปลง ประชาชนต้องอยู่ใต้อำนาจและต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ปกครอง โดยมีหลักการดังนี้
         1. ปกครองโดยคนกลุ่มน้อย
         2. ไม่ต้องการผู้ไม่เห็นด้วยกับผู้ปกครองประเทศ
         3. ใช้กำลังอำนาจเข้าข่มขู่
         4. ใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ประชาชนสนับสนุน
         5. สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกริดรอน
แบบเบ็ดเสร็จนิยม Thoritarianism
ประเทศสหภาพโซเวียตได้นำระบอบการปกครองแบบเบ็ดเสร็จนิยม มาใช้โดยเฉพาะใน
สมัยโจเซฟ สตาลิน และในสมัยเดียวกัน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็นำมาใช้ในประเทศเยอรมัน การปกครองแบบเบ็ดเสร็จนิยมมีลักษณะดังนี้
         1. ควบคุมอุดมการณ์ทางการเมือง
         2. มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว
         3. มีการใช้ความรุนแรงและการควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ
         4. มีการควบคุมระบบความคิด
         5. มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการควบคุมรัฐ
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิยมหรือเบ็ดเสร็จนิยม ต่างก็มีจุดมุ่งหมายของรัฐเป็นอย่างเดียวกันก็คือ
การควบคุมรัฐ Autonomy of State และมุ่งสร้างระบบการเมืองโดยให้ประชาชน สนับสนุนรัฐบาลโดยปราศจากคำถาม แต่ระบบเผด็จการมักไม่ยั่งยืนเพราะประชาชนถูกบังคับโดยใช้กำลังจากทหารหรือตำรวจ เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวนั้นทำได้ยากเพราะประชาชนมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านความคิด เชื้อชาติ ศาสนา อาชีพ ฯลฯ จึงมักประสบปัญหาความขัดแย้งอยู่เสมอ
นักรัฐศาสตร์มักแยกประเภทการปกครองแบบเบ็ดเสร็จนิยมด้วยเหตุผลดังนี้
         1. การเรียกระบอบการปกครองที่รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางว่า
“เบ็ดเสร็จนิยม” ทำให้ไม่เห็นความแตกต่างของระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ และระบอบการปกครองแบบนาซีของฮิตเลอร์ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วมีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง เพราะระบอบคอมมิวนิสต์เป็นระบอบที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ และยึดหลักเหตุผลในการปกครองประเทศ จุดมุ่งหมายของระบอบคอมมิวนิสต์คือการขจัดการคงอยู่ของรัฐและสร้างชุมชนโดยปราศจากชนชั้น ในขณะที่ลัทธินาซีไม่มีการใช้หลักการของเหตุผล และไม่ได้ใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการปกครองประเทศแต่ประการใด จุดมุ่งหมายของ นาซี ก็ต่างจาก คอมมิวนิสต์ อีกด้วยโดยนาซีต้องการส่งเสริมความเป็นเชื้อชาติสูงสุดของตัวเอง นอกจากนี้ผู้ให้การสนับสนุนนาซีก็ต่างจากคอมมิวนิสต์กล่าวคือผู้ให้การสนับสนุนนาซีเป็นกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่าง ในขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานและนักปฏิวัติ
         2. การปกครองแบบเบ็ดเสร็จนิยมใช้ไม่ได้กับระบอบคอมมิวนิสต์ ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าการสื่อสาร ทำให้รัฐไม่สามารถรวบรวมอำนาจได้อย่างแต่ก่อน
 Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Klongtoei Klongtoei Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile