การใช้คำว่า ภูมิ กับสาระต่าง ๆ
คำว่า ภูมิ มีความหมายเป็นภาพรวมขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กัน เช่น
ภูมิศาสตร์ : คือภาพปฏิสัมพันธ์ของธรรมชาติ มนุษย์และวัฒนธรรม รูปแบบต่าง ๆ
ถ้าพิจารณาเฉพาะปัจจัยทางธรรมชาติ จะเป็นภูมิศาสตร์กายภาพ Physical Geograhy
ถ้าพิจารณาเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวมนุษย์ เช่น ประชากร วิถีชีวิต ศาสนา ความเชื่อ
การเดินทาง การอพยพ จะเป็น ภูมิศาสตร์มนุษย์ Human Geograhy
ถ้าพิจารณาเฉพาะปัจจัยที่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น การตั้งถิ่นฐาน การคมนาคม การค้า การเมือง
จะเป็น ภูมิศาสตร์วัฒนธรรม Culture Geograhy
ภูมิอากาศ : คือ ภาพปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบอุตุนิยมวิทยา รูปแบบต่าง ๆ เช่น ภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ภูมิอากาศแบบ อบอุ่นชื้น ภูมิอากาศแบบแห้งแล้ง ภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ฯลฯ
ภูมิประเทศ : คือภาพปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบแผ่นดอน เช่น หิน ดิน ความต่างระดับ ทำให้เกิดภาพลักษณะรูปแบบต่าง ๆ เช่น พื้นที่แบบภูเขา พื้นที่ราบ พื้นที่ระบบลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่ม ฯลฯ
ภูมิธรณี : คือภาพปฏิสัมพันธ์ของแร่ หิน โครงสร้างทางธรณี ทำให้เกิดรูปแบบทางธรณีชนิดต่าง ๆ เช่น ภูเขาแบบทบตัว ภูเขาแบบยกตัว ชายฝั่งแบบยุบตัว ที่ราบน้ำท่วมถึง ฯลฯ
ภูมิปฐพี : คือภาพปฏิสัมพันธ์ของแร่ หิน ภูมิลักษณะอากาศ พืชพรรณธรรมชาติ ทำให้เกิดดินรูปแบบต่าง ๆ เช่น แดนดินดำ มอดินแดง ดินทรายจัด ดินกรด ดินเค็ม ดินพรุ ฯลฯ
ภูมิพฤกษ์ : คือภาพปฏิสัมพันธ์ของพืชพรรณ อากาศ ภูมิประเทศ ดิน สัตว์ป่า ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ป่าดิบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ทุ่งหญ้า ป่าสน ฯลฯ
ภูมิอุทก : คือภาพปฏิสัมพันธ์ของแผ่นดิน ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ภูมิธรณี พืชพรรณ ทำให้เกิดรูปแบบแหล่งน้ำชนิดต่าง ๆ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง ทะเล ทะเลสาบ มหาสมุทร น้ำในดิน น้ำใต้ดิน น้ำบาดาล ฯลฯ
ภูมิดารา : คือภาพปฏิสัมพันธ์ของดวงดาว กลุ่มดาว เวลา การเคลื่อน การโคจรของดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ ทำให้เกิดรูปแบบปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น การเกิดกลางวันกลางคืน ข้างขึ้นข้างแรม สุริยุปราคา จันทรุปราคา ตะวันอ้อมเหนือ ตะวันอ้อมใต้ ฯลฯ
จากตัวอย่างดังกล่าว เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ ทางธรรมชาติที่เรามองเป็นรูปแบบย่อย ๆ หรือภูมิย่อย ๆ แต่การมองภาพปฏิสัมพันธ์มีหลายระดับหลายขนาดขึ้นอยู่กับการพิจารณาและขอบเขตการศึกษาและถ้าเป็นการอธิบายที่เป็น ภูมิศาสตร์ของพื้นที่ใด ๆ ก็ต้องเป็นปฏิสัมพันธ์ของภูมิต่าง ๆ ทั้งในระบบธรรมชาติ-มนุษย์และวัฒนธรรม