การเงินระหว่างประเทศ เป็นการแสดงความสัมพันธ์ทางด้านการเงินระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่งซึ่งความสัมพันธ์นี้สืบเนื่องมาจากการค้าขายระหว่างประเทศ การกู้ยืมเงินและการชำระหนี้ การลงทุนระหว่างประเทศ การโอนเงินระหว่างประเทศ และการช่วยเหลือกันระหว่างประเทศ
การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ คือ การนำเงินตราสกุลหนึ่งไปแลกเปลี่ยนกับอีกสกุลหนึ่ง
การแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ถูกต้องนั้นต้องแลกที่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ 2 อย่าง คือ
- อัตราซื้อ (Buying) คือ อัตราที่ธนาคารรับซื้อ (ราคาต่ำ)
- อัตราขาย (Selling) คือ อัตราที่ธนาคารขายไป (ราคาสูง)
ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ประเภท ธนาคารกลางเป็นผู้กำหนด โดยเทียบค่าเงินของตนกับทองคำหรือเงินตรา สกุลอื่นๆ ภายใต้เงื่อนไขที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศกำหนด
ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศเป็นแบบ ลอยตัว ชนิดมีการจัดการจะใช้อุปสงค์และอุปทานของเงินตราเป็นตัวกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินที่ทำการแลกเปลี่ยนเงินตรา แต่อยู่ในความดูแลของธนาคารกลางแห่งประเทศไทย
ค่าเงินแข็ง คือ เงินสกุลใดแข็งแสดงว่าเงินสกุลนั้นมีค่าสูงขึ้น เช่น เงินบาทแข็งค่า เดิม 1 ดอลลาร์ US เท่ากับ 34 บาท จะเป็น 1 ดอลลาร์ US เท่ากับ 32 บาท
ค่าเงินอ่อน คือ เงินสกุลใดอ่อนแสดงว่าเงินสกุลนั้นมีค่าลดลง เช่น เงินบาทแข็งค่า เดิม 1 ดอลลาร์ US เท่ากับ 34 บาท จะเป็น 1 ดอลลาร์ US เท่ากับ 40 บาท
ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ (Balance of Payment) หมายถึง รายงานที่แสดงถึงยอดรายได้และรายจ่ายที่ประเทศได้รับหรือจ่ายให้แก่ต่างประเทศในระยะเวลา 1 ปี บัญชีต่างๆ ที่ใช้แสดงรายงานดุลการชำระเงินระหว่างประเทศมีอยู่ 3 บัญชี คือ
- บัญชีเดินสะพัด เป็นบัญชีแสดงรายรับและรายจ่ายเกี่ยวกับสินค้าเข้าและสินค้าออก หรือดุลการค้ารวมทั้งดุลบริการ และดุลบริจาค
- บัญชีทุนเคลื่อนย้าย เป็นบัญชีที่แสดงเกี่ยวกับการนำเงินทุนไปลงทุนระหว่างประเทศ
- บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นบัญชีที่แสดงการเปลี่ยนแปลงของจำนวนเงินสำรอง ระหว่างประเทศในแต่ละปี
ลักษณะของดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
- ดุลการชำระเงินเกินดุล คือ รายรับสูงกว่ารายจ่าย (ทำให้เงินทุนสำรองเพิ่มขึ้น)
- ดุลการชำระเงินขาดดุล คือ รายรับต่ำกว่ารายจ่าย (ทำให้เงินทุนสำรองลดลง)
- ดุลการชำระเงินได้ดุล (สมดุล) คือ รายรับเท่ากับรายจ่าย (ทำให้เงินทุนสำรองไม่เปลี่ยน)
|