การลงทุนระหว่างประเทศ
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินระหว่างประเทศ คือ ผู้ลงทุนต้องการแสวงหาผลตอบแทนที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม การลงทุนในการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน หรือ เข้ามาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะมีความเสี่ยงในการลงทุน นักลงทุนจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้วย เพราะการทำธุรกิจอาจมีกำไรหรือขาดทุน มิใช่คำนึงแต่ด้านผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว บางครั้งอาจเกิดการขัดแย้งระหว่างประเทศจนกลายเป็นกรณีพิพาททางการเมืองก็ได้ ในทางตรงข้ามการลงทุนระหว่างประเทศ ก็ก่อให้เกิดผลดี เศรษฐกิจมีความเจริญเติบโต ได้รับการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี มีการจ้างงาน ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศสูงขึ้น รายได้ประชาชาติสูงขึ้น อาจส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้น
การลงทุนระหว่างประเทศ หมายถึง การที่รัฐบาลหรือเอกชนของประเทศหนึ่งนำเงินไปลงทุนดำเนินธุรกิจ เพื่อแสวงผลกำไรในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การลงทุนโดยตรง Direct Investment
2. การลงทุนโดยอ้อม Indirect Investment
การลงทุนโดยตรง
การลงทุนโดยตรง หมายถึง การเคลื่อนย้ายทุนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง โดยเจ้าของทุนยังมีอำนาจในการดูแลกิจการที่ตนเองเป็นเจ้าของ เป็นการนำเงินไปลงทุนโดยผู้ลงทุนเข้าไปดำเนินกิจการ มีการนำทรัพยากรการผลิต แรงงานและเทคโนโลยีเข้าไปยังประเทศที่ลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในระยะยาว การลงทุนในลักษณะนี้คือ การลงทุนในรูปบริษัทข้ามชาติ (multinational corporations) ที่มีบริษัทแม่อยู่ในประเทศที่เป็นเจ้าของทุนและมีบริษัทที่เป็นเครือข่ายสาขาอยู่ในหลายประเทศ ในปัจจุบันการลงทุนโดยตรงส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของการดำเนินงานโดยวิสาหกิจ และมีสถาบันการเงินของเอกชนเป็นผู้จัดหาเงินทุนสำหรับการลงทุนในโครงการต่าง ๆ
การลงทุนโดยอ้อม
การลงทุนโดยอ้อม หรือ การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน หมายถึง การลงทุนในรูปการซื้อขายตราสารหุ้น ตราสารหนี้ ทั้งในรูปพันธบัตร ตั๋วเงิน ในต่างประเทศ รวมทั้งการกู้เงินจากต่างประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยผู้ลงทุนจะไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการหรือควบคุมดูแลกิจการนั้น ๆ เป็นการลงทุนที่ผู้ลงทุนต่างชาติไม่ได้เข้ามามีส่วนดำเนินกิจการ ผู้ลงทุนในลักษณะนี้มักจะเป็นปัจเจกบุคคล หรือ อยู่ในรูปของกองทุนต่าง ๆ อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือนักลงทุนสถาบัน เช่น บริษัทประกันภัยและกองทุนรวม
|