หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
  ประเภทของตลาด

ในการแบ่งตลาดนั้นสามารถแบ่งได้หลายรูปแบบ กล่าวคือ
ประเภทของตลาดแบ่งตามชนิดของผลผลิต ตลาดแบ่งตามชนิดของผลผลิตแบ่งได้ดังนี้
  1. ตลาดปัจจัยการผลิต (factor market) คือตลาดที่ทำการซื้อขายปัจจัยที่จะนำไปใช้ทำการผลิตสินค้าหรือบริการต่างๆ เช่น ที่ดิน แรงงาน สินค้าประเภททุน ตลอดจนวัตถุดิบต่างๆที่ใช้ทำการผลิต โดยผู้ผลิตจะนำเอาปัจจัยการผลิตต่างๆดังกล่าวนี้ไปทำการผลิตสินค้าและบริการเสียก่อนจึงจะนำออกสู่ตลาดเพื่อจำหน่ายต่อไป
  2. ตลาดสินค้า (product market) คือตลาดที่ทำการขายสินค้าหรือบริการซึ่งผู้ซื้อจะนำไปใช้ในการอุปโภคบริโภคโดยตรง
  3. ตลาดการเงิน (financial market) เป็นแหล่งให้ผู้ผลิตซึ่งมีความต้องการเงินลงทุนได้กู้ยืมเงินไปลงทุน ตลาดการเงินยังแบ่งออกเป็น
    3.1 ตลาดเงิน (money market) เป็นศูนย์กลางการกู้ยืมเงินทุนระยะสั้น โดยมีระยะเวลาการชำระคืนไม่เกิน 1 ปี เช่น การซื้อลดตั๋ว การเบิกเงินเกินบัญชี การกู้ยืมระยะสั้นในระหว่างธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ เป็นต้น
    3.2 ตลาดทุน (capital market) เป็นศูนย์กลางการกู้ยืมเงินทุนระยะยาว โดยมีระยะเวลาการชำระคืนเกิน 1 ปี เช่น การซื้อขายพันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ เป็นต้น
    นอกจากนี้ เรายังสามารถแบ่งตลาดทุนออกเป็นตลาดแรก (primary market) กับตลาดรอง (secondary market)
    ตลาดแรกเป็นตลาดที่มีการซื้อขายหุ้นใหม่ (ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรก) เป็นการระดมเงินทุนของบริษัท ธุรกิจ ห้างร้าน ส่วนตลาดรองเป็นตลาดที่มีการซื้อขายหุ้นที่ผ่านการจำหน่ายมาแล้วครั้งหนึ่ง ตัวอย่างของตลาดรอง ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand, SET) การซื้อขายหุ้นในตลาดรองไม่ถือว่าเป็นการระดมเงินทุนใหม่ เป็นแต่เพียงการซื้อขายโอนเปลี่ยนมือของผู้ถือหุ้นเท่านั้น
    ความแตกต่างระหว่างตลาดเงินและตลาดทุน
    1. ตลาดเงินเป็นการระดมเงินทุนและให้กู้ยืมในระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ส่วนตลาดทุนจะเป็นการระดมเงินทุนและให้กู้ยืมในระยะยาวเกิน 1 ปี
    2. การให้กู้ยืมในตลาดเงินจะมีความเสี่ยงต่ำกว่าการให้กู้ยืมในตลาดทุน ทั้งนี้ เพราะระยะเวลาในการให้กู้ยืมแตกต่างกัน (ระยะสั้นจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าระยะยาว)
    3. ตราสารที่ใช้ในการกู้ยืม
      3.1 ตลาดเงินใช้หลักทรัพย์ระยะสั้น เช่น ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน ตั๋วเงินคลัง เป็นต้น
      3.2 ตลาดทุนใช้หลักทรัพย์ระยะยาว เช่น หุ้นกู้ หุ้นทุน พันธบัตร เป็นต้น
    4. การกู้ยืมเงินทุนในตลาดเงินส่วนใหญ่จะใช้ไปเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนของการดำเนินการของธุรกิจ แต่ถ้าเป็นการระดมเงินทุนในตลาดทุนจะใช้ไปเพื่อการลงทุน เช่น การขยายขนาดการผลิต การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เป็นต้น

ประเภทของตลาดแบ่งตามลักษณะการแข่งขัน
การแบ่งตลาดตามลักษณะของการแข่งขันหรือเรียกว่าแบ่งตามจำนวนผู้ขายและลักษณะของ สินค้า การแบ่งตลาดตามวิธีนี้มีความใกล้เคียงความเป็นจริงมาก เพราะในความเป็นจริงนั้นจะมีผู้ซื้อสินค้า เป็นจำนวนมาก การแบ่งตามจำนวนผู้ขายย่อมจะแบ่งได้สะดวกกว่า สำหรับการวิเคราะห์ตลาดสินค้า ของนักเศรษฐศาสตร์ก็มุ่งให้ความสนใจในการแบ่งตลาดตามวิธีนี้ด้วย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. ตลาดที่มีการแข่งขัน (competitive market) หรืออาจเรียกว่าตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ (perfect or pure competition) ตลาดประเภทนี้มีอยู่น้อยมากในโลกแห่งความเป็นจริง อาจกล่าวได้ว่าเป็นตลาดในอุดมคติ (ideal market) ของนักเศรษฐศาสตร์ ตลาดชนิดนี้เป็นตลาดที่ราคาสินค้าเกิดขึ้นจากแรงผลักดันของอุปสงค์และอุปทานโดยแท้จริง ไม่มีปัจจัยอื่นๆมาผลักดันในเรื่องราคา ลักษณะสำคัญของตลาดประเภทนี้ คือ
    มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก (many buyers and sellers) แต่ละรายมีการซื้อขายเป็นส่วนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายทั้งหมดในตลาด การซื้อขายสินค้าของผู้ซื้อหรือผู้ขายแต่ละรายไม่มีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาในตลาด กล่าวคือ ถึงแม้ผู้ซื้อหรือผู้ขายจะหยุดซื้อหรือขายสินค้าของตนก็จะไม่กระทบกระเทือนต่อปริมาณสินค้าทั้งหมดในตลาด เพราะผู้ซื้อหรือผู้ขายแต่ละคนจะซื้อสินค้าหรือขายสินค้าเป็นจำนวนเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณสินค้าทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาด สินค้าที่ซื้อหรือขายจะต้องมีลักษณะเหมือนกัน (homogeneity) สามารถที่จะใช้แทนกันได้อย่างสมบูรณ์ในทรรศนะหรือสายตาของผู้ซื้อ ไม่ว่าจะซื้อสินค้าประเภทเดียวกันนี้จากผู้ขายคนใดก็ตามผู้ซื้อจะได้รับความพอใจเหมือนกัน เช่น ผงซักฟอก ถ้าตลาดมีการแข่งขันกันอย่างแท้จริงแล้ว ผู้ซื้อจะไม่มีความรู้สึกว่าผงซักฟอกแต่ละกล่องในตลาดมีความแตกต่างกัน คือใช้แทนกันได้สมบูรณ์ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ผู้ซื้อมีความรู้สึกว่าสินค้ามีความแตกต่าง เมื่อนั้นภาวะของความเป็นตลาดแข่งขันอย่างสมบูรณ์ก็จะหมดไป
    ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีความรอบรู้ในภาวะของตลาดอย่างสมบูรณ์ คือ มีความรู้ภาวะของอุปสงค์ อุปทาน และราคาสินค้าในตลาด สินค้าชนิดใดมีอุปสงค์เป็นอย่างไร มีอุปทานเป็นอย่างไร ราคาสูงหรือต่ำก็สามารถจะทราบได้
    การติดต่อซื้อขายจะต้องกระทำได้โดยสะดวก หมายความว่าทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถทำการติดต่อค้าขายกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตจะต้องเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วด้วย  
    หน่วยธุรกิจสามารถเข้าหรือออกจากธุรกิจการค้าโดยเสรี ตลาดประเภทนี้จะต้องไม่มีข้อจำกัดหรือข้อกีดขวางในการเข้ามาประกอบธุรกิจของนักธุรกิจรายใหม่ หมายความว่าหน่วยการผลิตใหม่ๆจะเข้ามาประกอบกิจการแข่งขันกับหน่วยธุรกิจที่มีอยู่ก่อนเมื่อใดก็ได้ หรือในทางตรงกันข้ามจะเลิกกิจการเมื่อใดก็ได้
  2. ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (non-perfect competition market) เนื่องจากตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์เป็นตลาดที่หาได้ยากเพราะเป็นตลาดในอุดมคติของนักเศรษฐศาสตร์ ตลาดตามสภาพที่แท้จริงในโลกนี้ส่วนใหญ่เป็นตลาดที่มีการแข่งขันไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าที่ซื้อขายในท้องตลาดส่วนมากมีลักษณะไม่เหมือนกัน ทำให้ผู้ซื้อเกิดความพอใจสินค้าของผู้ขายคนหนึ่งมากกว่าอีกคนหนึ่ง นอกจากนี้ ผู้ซื้อหรือผู้ขายในธุรกิจมีน้อยเกินไป จนกระทั่งมีอิทธิพลเหนือราคาที่จำหน่าย กล่าวคือ แทนที่จะเป็นผู้ยอมรับปฏิบัติตามราคาตลาดก็กลับเป็นผู้กำหนดราคาเสียเอง สินค้าที่ซื้อขายในตลาดทั่วๆไปก็มักจะเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่างๆไม่สะดวก เพราะถนนไม่ดี การติดต่อสื่อสารไม่ดี และอาจจะมีกฎหมายการห้ามส่งสินค้าเข้าออกนอกเขตอีกด้วย ประกอบกับผู้บริโภคไม่ค่อยจะรอบรู้ในสภาวะของตลาดอย่างดีจึงทำให้ตลาดเป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างไม่สมบูรณ์

การพิจารณาแบ่งลักษณะของตลาดที่มีการแข่งขันอย่างไม่สมบูรณ์อาจจะแบ่งได้เป็น 2 ด้าน คือ ด้านผู้ขาย กับด้านผู้ซื้อ ดังนี้
ตลาดที่มีการแข่งขันอย่างไม่สมบูรณ์ พิจารณาในด้านผู้ขาย แบ่งออกเป็น

    1. ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (monopolistic competition) ตลาดประเภทนี้มีลักษณะที่สำคัญ คือ มีผู้ซื้อและผู้ขายเป็นจำนวนมาก และทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างมีอิสระเต็มที่ในการที่จะวางนโยบายการขายและการซื้อของตนโดยไม่กระทบกระเทือนคนอื่น แต่สินค้าที่ผลิตมีลักษณะหรือมาตรฐานแตกต่างกันถือเป็นสินค้าอย่างเดียวกัน แต่ก็มีหลายตรา หลายยี่ห้อ การบรรจุหีบห่อ การโฆษณาต่างกัน เป็นเหตุให้ผู้ซื้อชอบหรือพึงใจในสินค้ายี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งโดยเฉพาะ ทำให้ผู้ขายสามารถกำหนดราคาสินค้าของตนได้ทั้งๆที่ผู้ขายในตลาดชนิดนี้ต้องแข่งขันกับผู้ขายรายอื่น เช่น สินค้าผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ
    2. ตลาดที่มีผู้ขายน้อยราย (oligopoly) ตลาดประเภทนี้จะมีผู้ขายเพียงไม่กี่ราย และผู้ขายแต่ละรายจะขายสินค้าเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับปริมาณสินค้าทั้งหมดในตลาด ถ้าหากว่า ผู้ขายรายใดเปลี่ยนราคาหรือนโยบายการผลิตและการขายแล้วก็จะกระทบกระเทือนต่อผู้ผลิตรายอื่นๆ เช่น บริษัทผู้ขายน้ำมันในประเทศไทยซึ่งมีเพียงไม่กี่ราย ผู้ขายแต่ละบริษัทจะต้องวางนโยบายของตน ให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทอื่นๆเพื่อที่จะดำเนินการค้าร่วมกันอย่างราบรื่น และผู้ขายทุกคน ก็มีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาและปริมาณสินค้าในตลาด ถ้าบริษัทใดเปลี่ยนนโยบายการขายย่อมมี ผลกระทบกระเทือนต่อสินค้าชนิดนั้นๆทั้งหมด เช่น ถ้าบริษัทใดบริษัทหนึ่งลดราคา สินค้าของคู่แข่งขัน ก็จะลดราคาลงด้วยเพื่อรักษาระดับการขายไว้
    3. ตลาดผูกขาด (monopoly) คือตลาดที่มีผู้ขายอยู่เพียงคนเดียว ทำให้ผู้ขายมีอิทธิพลเหนือราคาและปริมาณสินค้าอย่างสมบูรณ์ในการที่จะเพิ่มหรือลดราคาและควบคุมจำนวนขายทั้งหมด (total supply) ได้ตามต้องการ ส่วนมากจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนมาก มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กรายอื่นๆไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ ตลาดประเภทนี้ ได้แก่ บริษัทผลิตเครื่องบิน เครื่องจักรกล หรือกิจการสาธารณูปโภค เช่น การเดินรถประจำทาง โรงงาน ยาสูบ ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ เป็นต้น

สาเหตุของการผูกขาด
ผู้ผลิตหรือธุรกิจผูกขาดเป็นผู้ควบคุมปริมาณวัตถุดิบแต่เพียงผู้เดียว
เกิดจากข้อกำหนดของกฎหมายด้วยการมีลิขสิทธิ์หรือการขออนุญาตแบบมีสัมปทานเฉพาะรายธุรกิจ ทำให้ธุรกิจอื่นไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้
เป็นธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง มีประสิทธิภาพในการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งมีความได้เปรียบทางด้านทรัพยากรต่างๆ ทำให้เกิดลักษณะของการผูกขาดธรรมชาติ (natural monopoly) ธุรกิจอื่นไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้
ตลาดที่มีการแข่งขันอย่างไม่สมบูรณ์ พิจารณาในด้านผู้ซื้อ แบ่งออกเป็น

    1. ตลาดที่ผู้ซื้อมีลักษณะกึ่งผูกขาดและกึ่งแข่งขัน (monopsonistic competition) ตลาดประเภทนี้คือตลาดที่มีผู้ซื้อเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ขายมีความพอใจจะขายให้แก่ผู้ซื้อบางคนเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ซื้อจึงสามารถที่จะกำหนดราคาในการซื้อขายได้บ้าง หรือเป็นกรณีการซื้อประเภทที่มีผู้ซื้อบางรายผูกขาดการซื้อแต่เพียงผู้เดียว เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาล การซื้อหุ้นของบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ ฯลฯ
    2. ตลาดที่มีผู้ซื้อน้อยราย (oligopsony) คือตลาดที่มีผู้ซื้อเพียงไม่กี่ราย ถ้าผู้ซื้อคนใด เปลี่ยนแปลงปริมาณซื้อก็จะมีผลกระทบกระเทือนราคาตลาดและผู้ซื้อคนอื่นๆด้วย
    3. ตลาดที่มีผู้ซื้อเพียงคนเดียว (monopsony) เป็นตลาดที่มีผู้ซื้อเพียงคนเดียว ผู้ซื้อจึงอยู่ในฐานะที่จะกำหนดราคาสินค้าเองได้ เรียกว่าเป็นผู้ผูกขาดในการซื้อ เช่น โรงงานประกอบ รถยนต์รับซื้อแบตเตอรี่จากโรงงานแบตเตอรี่แต่เพียงผู้เดียว
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoeay Khlongtoeay Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th