หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
  ความหมายของตลาด

         ตลาด market หมายถึง บริบทที่มีการตกลงซื้อขายสินค้าหรือบริการ รวมทั้งปัจจัยการผลิตหรือสินทรัพย์อื่นใด ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายทางเศรษฐศาสตร์ คำว่า ตลาด มีความหมายกว้าง กล่าวคือ ตลาดเป็นขอบเขต การขายสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อและทำความตกลงในการซื้อขายแลกเปลี่ยน กันได้ ดังนั้นตลาดในความหมายทางเศรษฐศาสตร์จึงไม่ได้เน้นถึงสถานที่ที่ทำการซื้อขายกัน แม้ผู้ซื้อ และผู้ขายจะอยู่คนละมุมโลกและไม่มีสถานที่ซื้อขายกัน ก็อาจสร้างตลาดให้เกิดขึ้นได้โดยติดต่อซื้อขาย กันทางจดหมาย อีเมล โทรเลข โทรศัพท์ วิทยุ หรือทางโทรสารก็ได้ การซื้อขายโดยไม่ต้องมีตลาดเป็นตัวเป็นตน ไม่มีสถานที่ตั้งแน่นอนนี้ จึงทำให้สามารถขยายอาณาเขตการซื้อขายได้สะดวก ดังนั้นตลาดสินค้าและบริการบางอย่างจึงมีขอบเขตได้กว้างขวางทั่วโลกจึงเรียกว่า ตลาดโลก ตลาดโลกจึงมิได้ ตั้งอยู่ในที่หนึ่งที่ใด แต่เป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงสภาวะการค้าสินค้าต่างๆทั่วโลกว่าในขณะนั้นแต่ละ ประเทศทั่วโลกมีผลผลิตและมีความต้องการซื้อขายสินค้าชนิดใดกันมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้แล้ว ตลาดในทางเศรษฐศาสตร์ยังหมายความรวมถึงภาวะการตลาดด้วย เช่น การเกิดภาวะราคาข้าวตกต่ำ ภาวะราคาหุ้นตกต่ำ ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้น ภาวะที่สินค้าขาดตลาด หรือภาวะที่มีสินค้าล้นตลาด
ความหมายของตลาดในทางเศรษฐศาสตร์จึงกว้างมากและพอสรุปได้ดังนี้
           ตลาด หมายถึง สภาวการณ์ที่ผู้ซื้อและผู้ขายติดต่อกันได้โดยสะดวก จนสามารถทำการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันได้
คำว่า การตลาด มักจะมีผู้ใช้ปนเปเป็นคำเดียวกับคำว่า ตลาด อยู่เสมอ ซึ่งความเป็นจริงแล้วการตลาดมีความหมายกว้างกว่ามาก เพราะการตลาดจะรวมกิจกรรมทุกชนิดในการนำเอาสินค้าจากแหล่งผลิตไปถึงมือผู้บริโภค เช่น คนเลี้ยงไก่นำเอาไข่ไก่ไปขายในตลาด แม่บ้านไปจ่ายตลาดซื้ออาหารมาบริโภค พ่อค้ามารับซื้อข้าวจากชาวนาถึงบ้านและขนส่งไปยังโรงสีเพื่อนำไปสีเป็นข้าวสาร แล้วส่งไปขายอีกทอดหนึ่ง กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องของการตลาดทั้งสิ้น
การตลาด จึงหมาย ถึงการประกอบกิจกรรมต่างๆที่จะนำเอาสินค้าและบริการจากแหล่งผลิตไปถึงมือผู้บริโภค ในเวลา สถานที่ รูปลักษณะ และในจำนวนที่ต้องการ กิจกรรมทางการตลาดในปัจจุบันยึดเอาผู้บริโภคเป็นหลักสำคัญ โดยถือว่าผู้บริโภคเป็นต้นกำเนิดของความต้องการสินค้า เป็นผู้กำหนดรูปร่าง ขนาด จำนวน และเป็นผู้นำเอาเงินรายได้ไปซื้อสินค้าเพื่อสนองความต้องการ ซึ่งความต้องการมากขึ้นเท่าใดขนาดของตลาดจะกว้างขวางและเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และเนื่องจากผู้บริโภคมีจำนวนมากและมีความต้องการแตกต่างกัน ดังนั้นการตลาดจึงต้องพยายามหาทาง ที่จะสนองความต้องการของผู้บริโภคในด้านต่างๆดังนี้ คือ
     1. เพื่อให้ผู้บริโภคมีสินค้าไว้อุปโภคบริโภคตลอดเวลา สินค้าบางชนิดผลิตได้เฉพาะฤดูกาล แต่ผู้บริโภคต้องการใช้ตลอดทั้งปี เช่น ข้าว ผลไม้บางชนิด เป็นต้น ผู้ผลิตจึงต้องเก็บรักษาไว้เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคตลอดปี
     2. เพื่อนำสินค้าไปขายถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค แหล่งสินค้าชนิดต่างๆจะกระจัด กระจายกันออกไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น เงาะมีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ในจังหวัดระยอง จันทบุรี และสุราษฎร์ธานี ลำไยมีแหล่งผลิตมากในจังหวัดทางภาคเหนือ การเคลื่อนย้ายสินค้าจากแหล่งผลิตไปถึงมือผู้บริโภคโดยผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเดินทางไปซื้อเองถึงแหล่งผลิต จะทำให้ผู้บริโภคมีความพอใจ มากขึ้น ตลาดจึงต้องทำหน้าที่ในการรวบรวมสินค้าและทำการขนส่งสินค้าเหล่านั้นไปขายในท้องถิ่นที่มี ผู้บริโภคต้องการ การขนส่งจึงจัดเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของการตลาด
     3. เพื่อให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้ตามลักษณะที่ต้องการ ผู้บริโภคแต่ละคนมีความต้องการสินค้าในรูปลักษณะ ขนาด สีสันที่แตกต่างกัน ผู้ผลิตจึงต้องพยายามแปรรูปการผลิตชนิดต่างๆเพื่อให้เกิดสินค้าลักษณะรูปร่างที่ต้องการ ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะเพิ่มความพอใจให้กับผู้ใช้และผู้บริโภคมากที่สุด เช่น ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปก็จะผลิตเสื้อผ้าออกมาขายหลายรูปแบบ หลายขนาด โดยมีสีสันแตกต่างกันเพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อตามความพอใจ
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoeay Khlongtoeay Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th