หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
ความรู้พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์
ความหมายของเศรษฐศาสตร์

            ความหมายของเศรษฐศาสตร์
เศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาที่ศึกษาถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ เพื่อผลิต บริโภค กระจาย แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ โดยการจัดสรรทรัพยากร ที่เป็นปัจจัยการผลิตอันมีอยู่อย่างจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีอย่างไม่จำกัด
            ความสำคัญของเศรษฐศาสตร์
วิชาเศรษฐศาสตร์ ช่วยให้มนุษย์เข้าใจหรือสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นระบบและมีระเบียบ รู้จักใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพนั้นมีเป้าหมายต่างกันอันเนื่องจากหน่วยเศรษฐกิจต่างระดับกัน
            ระดับผู้บริหารประเทศ ใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ในการพิจารณาถึงการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ ที่มีอย่างจำกัดนั้น ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
            ระดับประชาชน ใช้วิชาเศรษฐศาสตร์เพื่อ เป็นเครื่องมือในการพิจารณาเลือกและตัดสินใจในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน หรือเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจประกอบอาชีพ หรือ ช่วยให้เข้าใจเหตุการณ์หรือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองและวิธีแก้ไขของภาครัฐบาล
1. ขอบเขตของวิชาเศรษฐศาสตร์
แบ่งเป็น 2 สาขา
            1.1 เศรษฐศาสตร์จุลภาค เป็นการศึกษา กิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนย่อยหรือศึกษาเฉพาะกรณีเป็นเรื่อง ๆ เช่น การขึ้นราคาสินค้า การฟอกเงิน กฤติกรรมการบริโภค ของบุคคลในสังคม ฯลฯ
            1.2 เศรษฐศาสตร์มหภาค เป็นการศึกษา กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เช่น รายได้ประชาชาติ ผลิตภัณฑ์ประชาชาติ ปัญหาเงินเฟ้อ ฯลฯ
2. หน่วยเศรษฐกิจหรือผู้ประกอบการหมายถึง ผู้ดำเนินการผลิตสินค้าและบริการโดยเป็นผู้นำปัจจัยการผลิตซึ่งประกอบด้วย
            2.1 ทุน Capital ทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง สินค้า เครื่องจักร หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการผลิต
            2.2 ที่ดิน Land หมายถึง แหล่งผลิตหรือทรัพยากรที่อยู่บนดิน ใต้ดิน และเหนือพื้นดิน
            2.3 แรงงาน Labour หมายถึง การทำงานทุกชนิดที่ก่อให้เกิดสินค้าและบริการ แรงงานนี้รวมถึง แรงงานด้านการใช้กำลังกายและกำลังความคิดของมนุษย์ อันก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย
            2.4 การประกอบการ Enterpreneurship หมายถึงผู้ผลิต ผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยโดยตรง เป็นผู้ให้ความริเริ่มในนโยบายต่างๆ หรือเปลี่ยนแปลงนโยบายในส่วนสำคัญในอันที่จะทำให้ การผลิตดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ปัญหาพื้นฐานทางการผลิต
            3.1 จะผลิตอะไร
            3.2 จะผลิตอย่างไร
            3.3 จะผลิตเพื่อใคร
เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีอย่างไม่จำกัด และสอดคล้องกับทรัพยากรของประเทศที่มีอย่างจำกัด ประเทศใดสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจแก้ไขปัญหาพื้นฐานดังกล่าว โดยถือการกินดี อยู่ดีของประชาชนในประเทศเป็นเกณฑ์วัด แสดงว่าประเทศนั้นประสบความสำเร็จต่อปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

 
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoeay Khlongtoeay Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th