หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
บริหารจิต

การบริหารจิต หมายถึง การบำรุงรักษาจิตให้เข้มแข็งผ่องใสบริสุทธิ์  ซึ่งต่างกับการบริหารกาย เพราะการบริหารกายต้องทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวอยู่เสมอแต่การบริหารจิต จะต้องฝึกฝนให้จิตสงบนิ่งอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งการฝึกจิตให้สงบ คือการทำสมาธินั่นเอง
สมาธิ หมายถึง ภาวะของจิตที่ตั้งมั่น กำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือ เรื่องใดเรื่องหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ไม่ฟุ้งซ่านไปหาสิ่งอื่นหรือเรื่องอื่นจากสิ่งที่กำหนด ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งหรืออารมณ์เดียวและจิตตั้งมั่นนั้นจะต้องเป็นกุศล
ลักษณะของสมาธิ คือ จิตจะเกิดความสงบ เยือกเย็น สบายใจ มีความผ่อนคลาย เอิบอิ่มใจ ปลอดโปร่ง และมีความสุข
ในวันหนึ่ง ๆ จิตของเราคิดเรื่องต่าง ๆ มากมาย จิตย่อมจะเหนื่อยล้า หากไม่ได้มีการบำรุงรักษาหรือบริหารจิตของเราให้เข้มแข็งผ่องใสบริสุทธิ์ จิตจะอ่อนแอ หวั่นไหวต่อเหตุการณ์รอบตัวได้ง่าย เช่น บางคนจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาจนเกินเหตุ เมื่ออยู่ในอาการตกใจ เสียใจ โกรธ ดีใจ หรือเกิดความอยากได้ เพราะจิตใจอ่อนแอ ขุ่นมัว
          การทำจิตใจให้ผ่องใสหรือการฝึกจิต คือ การฝึกจิตให้มีสติสามารถควบคุมจิตใจให้จดจ่อกับสิ่งที่เรากระทำ โดยระลึกอยู่เสมอว่า ตนกำลังทำอะไรอยู่ ต้องทำอย่างไร พร้อมกับระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดหรือ
มีสมาธินั่นเอง  เป็นการควบคุมจิตใจให้จดจ่อแน่วแน่อยู่กับสิ่งใด สิ่งหนึ่ง โดยไม่เปลี่ยนแปลงจนกว่าจะหยุดทำสมาธิ
อุบายที่จะทำให้เกิดสมาธิ
         การปฏิบัติที่จะทำให้เกิดสมาธิ จะต้องมีวิธีการหรือหลักการที่เหมาะสม เราเรียกว่า กัมมัฏฐาน ซึ่งแปลว่า ที่ตั้งแห่งการงาน(ทางใจ) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1.     สมถกัมมัฏฐาน คืออุบายสงบใจหรือวิธีฝึกอบรมจิตให้เป็นสมาธิ เพื่อเป็นการระงับนิวรณ์อันเป็นสิ่งปิดกั้นจิตไว้ ไม่ให้บรรลุความดี เป็นอกุศลธรรมที่คอยทำลายล้างความดี มี 5 อย่างเรียกว่า นิวรณ์ 5    ได้แก่
        
        กามฉันทะ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส อันเป็นวิสัยของกามารมณ์
       
         พยาบาท ความผูกโกรธ จองล้างจองผลาญ
                ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ในขณะเจริญสมณธรรม
                อุทธัจจกุกกุจจะ ความคิดฟุ้งซ่าน และความรำคาญหงุดหงิด
                วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ ไม่แน่ใจว่าจะมีผลจริงตามที่คิดไว้หรือไม่เพียงใด
2.     วิปัสสนากัมมัฏฐาน คือ อุบายเรืองปัญญาหรือวิธีฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้ตามที่เป็นจริงโดยการพิจารณาให้เห็นถึงนามรูป ซึ่งจะสามารถทำลายอวิชชาลงได้
สมถะและวิปัสสนาต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันกล่าวคือ เมื่อปฏิบัติสมาธิจนสงบจิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้อบรมปัญญาได้ เมื่อเกิดปัญญารู้แจ้งก็จะกำจัดอวิชชาลงได้ ซึ่งจะส่งผลมายังจิตให้สงบ เยือกเย็นมากยิ่งขึ้น



Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@gmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th