หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
วันมาฆบูชา



          วันมาฆบูชา เป็นวันบูชาพิเศษที่เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ วันนี้เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" ซึ่งถือกันว่า เป็นหลักคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา จึงถือว่าเป็นวันที่สำคัญยิ่งทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง      เนื่องจากวันดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์พิเศษที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” ขึ้น และเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศหลักการและอุดมการณ์แห่งพุทธศาสนา อันมีเนื้อหาหลัก ว่าด้วยการส่งเสริมให้มวลมนุษย์ ตั้งมั่นในการทำความดี ละความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นั่นก็คือ ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักอันยิ่งใหญ่ เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตัว เพราะสอนให้รู้จักรัก และเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก
          คำว่า “มาฆบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะ คือ เดือน 3 หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงในคืนขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 นั่นเอง เหตุที่พุทธศาสนิกชนถือว่า “วันมาฆบูชา” เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา   ก็เพราะในวันนี้ ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้ 9 เดือน นับแต่วันวิสาขบูชาขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ วัดเวฬุวัน อันเป็นวัดแห่งแรกในพุทธศาสนา ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธนั้น พระสงฆ์สาวกที่พระพุทธเจ้าให้ไป เผยแพร่พระพุทธศาสนาตามเมืองต่างๆ ได้พร้อมใจกันกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายกันถึง 1,250 องค์ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุอัศจรรย์ยิ่ง เพราะสมัยโบราณที่ไม่มีโทรศัพท์ การติดต่อสื่อสาร การนัดหมาย คนจำนวนมากที่อยู่คนละทิศคนละทางให้มาพบกันหรือประชุมกันที่ใดที่หนึ่ง เป็นเรื่องที่ยากและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะการมาของสาวกเหล่านี้ ถือว่าเป็นการมาประชุมพิเศษที่ประกอบด้วยองค์ 4 อันเป็นที่มาของการเรียกวันนี้อีกอย่างว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” นั่นคือ
          1. เป็นวันมาฆปุรณมี คือวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำกลางเดือนมาฆะ จึงเรียกว่า มาฆบูชา
          2. พระภิกษุ 1,250 องค์ มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
          3. พระภิกษุ เหล่านั้นล้วนเป็น เอหิภิกฺขุอุปสมฺปทา หมายถึง เป็นสาวกที่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง
          4. พระภิกษุที่มาประชุมนี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ ประเภทฉฬภิญญา ที่สำเร็จอภิญญา 6
อภิญญา 6 คือความรู้อันยอดยิ่งมี 6 ประการได้แก่
          1. แสดงฤทธิ์ได้ (อิทธิวิธี)
          2. หูทิพย์ (ทิพยโสต)
          3. รู้จักกำหนดใจผู้อื่น (เจโตปริยญาณ)
          4. ระลึกชาติได้ (ปุพเพนิวาสานุสติญาณ)
          5. ตาทิพย์ (ทิพยจักษุ)
          6. ทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไป-คือญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย (อาสวักขยญาณ)
          การประชุมที่ประกอบด้วยความพิเศษ 4 ประการข้างต้นนี้ เกิดขึ้นใน “วันมาฆบูชา”
นี้เป็นครั้งแรกและเป็นเพียงครั้งเดียวในสมัยพุทธกาลเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ด้วยเหตุนี้
พระพุทธเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะแสดงโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นการประกาศหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติในการเผยแพร่พุทธศาสนาให้นำไปใช้ได้ในทุกสังคม ซึ่งหลักธรรมคำสอนดังกล่าวจะเรียกว่าเป็น ธรรมนูญแห่งพุทธศาสนา หรือ หัวใจของพุทธศาสนา ก็ได้
          ในหนังสือวันสำคัญฯของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงหลักธรรมที่ว่านี้ว่าแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ เป็นหลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ซึ่งสรุปได้ ดังนี้
หลักการ 3 หมายถึง สาระสำคัญที่ควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ได้แก่
          1. การไม่ทำบาปทั้งปวง ด้วยการไม่ประพฤติชั่วทั้งกาย วาจาและใจ
          2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ด้วยการทำความดีทุกอย่างทั้งกาย วาจาและใจ
          3. การทำจิตใจให้ผ่องใส ด้วยการละบาปทั้งมวล ทำใจให้ปราศจากกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา
อุดมการณ์ 4 หมายถึง หลักการที่ทรงวางไว้ เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่
          1. ความอดทน ให้มีความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจาและใจ
          2. ความไม่เบียดเบียน ให้งดเว้นจากการทำร้าย รบกวนหรือเบียดเบียนผู้อื่น
          3. ความสงบ คือ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งกาย วาจาและใจ และ
          4. นิพพาน คือ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา ที่จะเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามหลักมรรค 8
วิธีการ 6 ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติ ได้แก่
          1. ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้ายผู้อื่น
          2. ไม่ทำร้าย คือไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่าผู้อื่น
          3. สำรวมในปาติโมกข์ คือการเคารพ ระเบียบ กติกา กฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของสังคม
          4. รู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี พอกิน พออยู่ หรือจะกล่าวแบบปัจจุบันว่าถือหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้
          5. อยู่ในสถานที่ที่สงัด คืออยู่ในสถานที่ที่สงบ และมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
          6. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิต หมั่นทำสมาธิภาวนา
จะเห็นได้ว่าธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสสั่งสอนนี้ ล้วนมีความหมาย และความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ไม่เพียงแต่ผู้อยู่ในเพศบรรพชิตที่บวชเรียนเท่านั้น คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน และฆราวาส
อย่างพวกเราทุกคนก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี

Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th