หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
วันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา
พรรษาตรงกับภาษาบาลีว่า วัสสา หรือวัสสานะ แปลว่า ปี ฝน หรือ ฤดูฝน = วรรษ = พรรษา คำว่า “เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เว้นแต่มีกิจธุระจำเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในวันนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปค้างคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์ แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด
กระทำ สัตตาหกรณียะ คือไปค้างที่อื่นได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่ต้องกลับมาภายในระยะเวลา 7 วัน คือ
          1. ไปรักษาพยาบาลพระภิกษุ หรือ บิดามารดาที่เจ็บป่วย
          2. ไประงับไม่ให้พระภิกษุลาสิกขา
          3. ไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น ไปหาอุปกรณ์มาซ่อมแซมวัดซึ่งชำรุดในพรรษานั้น
          4. ทายกนิมนต์ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขา
ระหว่างเดินทาง ก่อนหยุดเข้าพรรษา หากพระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมือง ก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็น ที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระสงฆ์ได้รับความลำบาก จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า “วิหาร” แปลว่าที่อยู่ของพระสงฆ์ เมื่อสิ้นฤดูฝนแล้ว พระสงฆ์ท่านก็จาริกตามกิจของท่านเพื่อเผยแผ่พระธรรมต่อไป ครั้งถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีกเพราะสะดวกดี แต่ก็มีพระสงฆ์บางรูปอยู่ประจำเลย ถ้ามีพุทธศานนิกชนที่เป็นเศรษฐีมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็จะเลือกหาสถานที่อันสงบเงียบไม่ห่างไกล จากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า “อาราม” หรือ “วัด” ให้เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้
วันเข้าพรรษากำหนดเป็น 2 ระยะ คือ ปุริมพรรษา และปัจฉิมพรรษา
          1. ปุริมพรรษา คือ วันเข้าพรรษาต้น ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปีหรือประมาณเดือนกรกฎาคม และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือประมาณเดือนตุลาคม
          2. ปัจฉิมพรรษา คือวันเข้าพรรษาหลัง สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหนตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 หรือประมาณเดือนสิงหาคมและจะออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือประมาณเดือนพฤศจิกายน
เนื่องในโอกาสประเพณีการเข้าพรรษา บรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จะได้ทำความดี โดยการทำบุญกับพระภิกษุสงฆ์ ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาจะจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่พระสงฆ์จำเป็นต้องใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้พระภิกษุ สามารถศึกษาพระธรรมวินัย ระหว่างการเข้าพรรษาอย่างเต็มที่ โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุ ตามที่ทรงอนุญาตให้มีประจำตัว มี 8 อย่าง เรียกว่า อัฏฐบริขาร ประกอบด้วย
          1. สบง สบง ซึ่งใช้เป็นผ้านุ่ง
          2. จีวร จีวร ใช้เป็นผ้าห่ม
          3. สังฆาฏิ สังฆาฏิ ใช้เป็นผ้าห่มกันหนาวและใช้พาดบ่าในโอกาสที่จะต้องทำสังฆกรรมต่างๆ
          4. บาตร บาตร สำหรับใส่ภัตตาหาร
          5. รัดประคด รัดประคด - ผ้าสำหรับคาดเอว
          6. เข็มและด้าย เข็ม - ด้าย สำหรับเย็บผ้า
          7. ธมกรก ธมกรก - หม้อกรองน้ำ - ผ้ากรอง สำหรับกรองน้ำ
          8. มีดโกน มีดโกน - สำหรับปลงผม
พระภิกษุบ้างครั้งกว่าจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนจนตัวเปียก ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าไตร(สบง จีวร สังฆาฏิ ) หรือ ถวายผ้าอาบน้ำฝน ( วัสสิกสาฎก ) คือผ้าสำหรับนุ่งในเวลาอาบน้ำฝนหรือใช้ในการอาบน้ำทั่วไป มีเรื่องเล่าว่า นางวิสาขาเป็นผู้ขออนุญาตให้พระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์รับผ้าอาบน้ำฝน เพราะเธอใช้นางทาสีไปนิมนต์พระที่วัดขณะฝนตก พระสงฆ์แก้ผ้าอาบน้ำกันเต็มวัด ทาสีกลับมาบอกนางวิสาขาว่า ไม่มีพระมีแต่ชีเปลือยเต็มวัด วิสาขารู้ทันทีจึงได้กราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ใช้ผ้าอาบน้ำฝนดังกล่าวสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยนและถวายของที่จำเป็นในกิจวัตรประจำวันเป็นพิเศษ ในวันเข้าพรรษา อันเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญ เนื่องในวันนี้สืบมา
การที่พระภิกษุสงฆ์ได้พักอยู่ประจำที่ เป็นสิ่งดีสำหรับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย กล่าวคือ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระพุทธบัญญัติ ก็นิยมอุปสมบท เป็นพระภิกษุ ได้ศึกษาพระธรรม ส่คฤหัสถ์ที่มีบุตรหลานก็นำไปฝากพระ โดยให้บวชเป็นเณรบ้าง ถวายเป็นลูกศิษย์คอยรับใช้ท่านบ้าง ท่านก็จะอบรมสั่งสอนธรรมะ หรือสอนวิชาความรู้ด้านอื่น ๆ
เทศการในวันเข้าพรรษานี้ พุทธศาสนิกชน นิยมตักบาตรหรือไปทำบุญที่วัด มีประเพณีการถวายเทียนพรรษา โดยปกติประเพณีที่เกี่ยวกับเทียนพรรษาหรือขี้ผึ้งนี้ ได้สืบกันมาแต่สมัยพุทธกาลแล้ว โดยเริ่มแต่สมัยที่พระพุทธองค์ได้เสด็จเข้าสู่ป่า หนีความทะเลาะวิวาทของภิกษุสงฆ์เมืองโกสัมพี ที่ตั้งหน้าทะเลาะกันด้วยเรื่องวินัยอันเล็กน้อย โดยเข้าไปอยู่ในป่า มีลิงและช้างเป็นผู้อุปฐาก จนในที่สุดชาวเมืองต้องลงโทษภิกษุสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย แล้วไปนิมนต์พระพุทธองค์ออกจากป่า ในขณะที่ประทับอยู่ในป่านั้น ลิงก็หาผลไม้และน้ำผึ้งมาถวาย พระพุทธเจ้าเสวยน้ำผึ้งเสร็จแล้วก็จะนำขี้ผึ้งมาทำเทียน จึงเห็นได้ว่าเทียนได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับประเพณีทางพุทธศาสนา การถวายเทียนให้พระภิกษุสามเณร ได้จุดบูชาพระรัตนตรัยในวันเข้าพรรษา โดยการรวบรวมเทียนไปถวายวัดเป็นจำนวนมาก ๆ เพื่อใช้จุดให้ได้ตลอดพรรษา แต่ก่อนถวายกันเพียงเป็นเทียนขี้ผึ้งแท้ ๆ ชาวบ้านทำเอง โดยนำขี้ผึ้งมารีดกับเส้นด้ายแล้วตัด ให้ได้ความยาวพอสมควรแล้วนำไปถวายวัด ปัจจุบันได้มีการนำเทียนขี้ผึ้งมาผสมกับสารเคมี ทำให้แข็งตัวและแปรสภาพเป็นเทียนสีชนิดต่าง ๆ มีการแกะสลัก ทำลวดลาย หรือเล่าเรื่องตามพุทธประวัติ หรือเล่าเรื่องในชาดกทางพุทธศาสนา จนบางแห่งถือเป็นประเพณีใหญ่โต เช่น เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี
การปฏิบัติตน ในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะ อาทิดอกไม้ ธูปเทียน ปัจจัยไทยธรรม สบู่ ยาสีฟัน ไปถวายพระภิกษุ สามเณร ที่ตนเคารพนับถือและที่สำคัญมีการหล่อเทียนพรรษา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้ใช้จุดให้เกิดแสงสว่างในการศึกษาพระธรรมวินัยในยามค่ำคืน ปัจจุบันใช้จุดเพื่อบูชาพระประธานในพระอุโบสถ ตลอดพรรษา
ประโยชน์ของการเข้าพรรษา
ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระภิกษุ ทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ แม้ว่าการเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ ทำบุญรักษาศีลและชำระจิตใจให้ผ่องใสและได้รับประโยชน์ด้านอื่น ๆ อีกดังนี้
          1. เป็นช่วงที่ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่นา หากภิกษุสงฆ์เดินทางจาริกไปในสถานที่ต่างๆ อาจไปเหยียบต้นกล้า หรือสัตว์เล็กสัตว์น้อยให้ได้รับความเสียหายล้มตาย
          2. หลังจากเดินทางจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามาเป็นเวลา 9 เดือน พระภิกษุสงฆ์จะได้หยุดพัก
          3. เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมสำหรับตนเอง และศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดจนเตรียมการสั่งสอน ประชาชนเมื่อถึงวันออกพรรษา
          4. เพื่อจะได้มีโอกาสอบรมสั่งสอนและบวชให้กับกุลบุตรผู้มีอายุครบบวช อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
          5. เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นการพิเศษ เช่น การทำบุญตักบาตรหล่อเทียนเข้าพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม และมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้น อบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดเว้นการเที่ยวกลางคืน ตลอดเวลาเข้าพรรษา


Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th