หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
ทศพิธราชธรรม


ทศพิธราชธรรม คือธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์ ใช้พระราชอำนาจในการปกครองและการบำเพ็ญประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร มี 10 ประการ ดังนี้

       1. ทาน
       2. ศีล
       3. ปริจาคะ
       4. อาชชวะ
       5. มัททวะ
       6. ตปะ
       7. อักโกธะ
       8. อวิหิงสา
       9. ขันติ
      10. อวิโรธนะ
1. ทานํ (ทานัง)หรือ การให้ หมายถึง การพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ การสละทรัพย์สินบำรุงเลี้ยงประชาชน หรือ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การทรงเสียสละพระกำลังในการปกครองแผ่นดิน พระราชดำริอันก่อให้เกิดสติปัญญาและพัฒนาชาติ การพระราชทานเสรีภาพอันเป็นหัวใจในการอยู่ร่วมกันในสังคม การให้นอกเหนือจากการบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสิ่งของแก่ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ตกทุกข์ได้ยากตามที่เราทำอยู่เสมอแล้ว เราก็อาจจะให้น้ำใจแก่ผู้อื่นได้ เช่น ให้กำลังใจแก่ผู้ตกอยู่ในห้วงทุกข์ ให้ข้อแนะนำที่เป็นความรู้แก่ผู้ร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ให้รอยยิ้ม และปิยวาจาแก่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง รวมถึงบุคคลที่มารับบริการจากเรา
อาจสรุปได้ว่า ทานแบ่งออกเป็น 3 ประเภทประกอบด้วย
              1.1 วัตถุทาน หรือ อามิสทาน คือการให้ปันเป็นวัตถุสิ่งของ ที่เราสามารถจับต้องได้
              1.2 ธรรมทาน หรือ วิทยาทาน คือการให้ความรู้ วิชาการ
              1.3 อภัยทาน หรือ การยกโทษให้
2. ศีลํ (สีลัง) คำว่า ศีล แปลว่า ปรกติ หมายถึงการักษากาย วาจา ใจ ให้เป็นปรกติ การตั้งและทรงประพฤติพระราชจรรยานุวัตร พระวรกาย พระวาจา ให้ปราศจากโทษ ทั้งในการปกครอง อันได้แก่ กฎหมายและนิติราชประเพณี และในทางศาสนา อันได้แก่ เบญจศีลมาเสมอ ศีล คือ ความประพฤติที่ดีงาม ตามหลักศาสนา อย่างน้อยก็ขอให้เราได้ปฏิบัติตามศีล ๕
3. ปริจาคํ หรือ การบริจาค คือ การที่ทรงสละความสุขที่มีอยู่เพื่อความสุขของอาณาประชาราษฎร์ เมื่อถึง คราวก็สละได้ แม้พระราชทรัพย์ ตลอดจนพระโลหิต หรือแม้แต่พระชนม์ชีพ เพื่อรักษาธรรมและพระราชอาณาจักรของ พระองค์
ปริจจาคะ หรือ ความเสียสละหมายถึง การเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความสุขหรือประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งอาจจะเป็นครอบครัว หน่วยงาน หรือเพื่อนร่วมงานของเราก็ได้ การเสียสละไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม ถือเป็นการลดความเห็นแก่ตัว ซึ่งล้วนมีส่วนช่วยให้สังคมดีขึ้นทั้งสิ้น
4. อาชฺชวํ หรือ ความซื่อตรง หมายถึง การที่ทรงซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อมิตรประเทศและอาณาประชาราษฎร ดำเนินชีวิตและปฏิบัติภารกิจ หน้าที่การงานต่างๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คิดคดโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น เพราะถ้าทุกคน เอาเปรียบหรือโกงกิน นอกจากจะทำให้หน่วยงานเราไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของผู้เกี่ยวข้องแล้ว ในระยะยาว อาจทำให้หน่วยงานเราไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ผู้ที่เดือดร้อนก็คือเรา แม้เราจะได้ทรัพย์สินมามากมาย แต่เงินที่ได้มาก็จะเป็นสิ่งอัปมงคลที่ทำให้เราไม่เจริญก้าวหน้า ถึงแม้คนอื่นจะไม่รู้ แต่ตัวเราย่อมรู้อยู่แก่ใจ และไม่มีวันจะมีความสุขกาย สบายใจ เพราะกลัวคนอื่นจะมารู้ความลับตลอดเวลา ผู้ที่ประพฤติตนด้วยความซื่อตรง แม้ไม่ร่ำรวยเงินทอง แต่จะมั่งคั่งด้วยความมิตรที่จริงใจ ตายก็ตายตาหลับ ลูกหลานก็ภาคภูมิใจ เพราะไม่ต้องแบกรับความอับอายที่มีบรรพบุรุษได้สร้างไว้
5. มทฺทวํ หรือ มัททะวัง หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน เคารพในเหตุผลที่ควร มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่ เสมอกันและต่ำกว่า มีอัธยาศรัยไมตรี กล่าวคือ การทำตัวสุภาพ นุ่มนวล ไม่เย่อหยิ่ง ถือตัว หรือหยาบคายกับใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อยหรือเพื่อนในระดับเดียวกัน การทำตัวเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน จะทำให้ไปที่ไหนคนก็ต้อนรับ เพราะอยู่ใกล้แล้วสบายใจ ไม่ร้อนรุ่ม หากเราหยาบคาย ก้าวร้าว คนก็ถอยห่างไม่อยากเข้าใกล้ ดังนั้น หลักธรรมข้อนี้ จึงเป็นการสร้างเสน่ห์อย่างหนึ่งให้แก่ตัวเราด้วย
6. ตปํ หรือตะปังหรือ ตบะหรือ ความเพียร การที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งพระราชอุตสาหะปฏิบัติพระราช กรณียกิจให้เป็นไปด้วยดี โดยปราศจากความเกียจคร้าน
ตปะ หรือ ความเพียร เป็นหลักธรรมที่สอนให้เราไม่ย่อท้อ แต่ให้ปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความมุมานะ ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนประสบความสำเร็จ ซึ่งความพากเพียรนี้จะทำให้เราภาคภูมิใจเมื่องานสำเร็จ และจะทำให้เรามีประสบการณ์เก่งกล้าขึ้น นอกจากนี้ ยังสอนให้เราสู้ชีวิต ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ
7. อกฺโกธํ หรือ อโกธะ การไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ไม่พยายามมุ่งร้ายผู้อื่นแม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล และสำหรับ พระมหากษัตริย์นั้นต้องทรงมีพระเมตตาไม่ทรงก่อเวรแก่ผู้ใด ไม่ทรงพระพิโรธโดยเหตุที่ไม่ควร และแม้จะทรงพระพิโรธ ก็ทรงข่มเสียให้สงบได้ อักโกธะ คือ ความไม่โกรธแม้ในหลาย ๆ สถานการณ์จะทำได้ยาก แต่หากเราสามารถฝึกฝน ไม่ให้เป็นคนโมโหง่าย และพยายามระงับยับยั้งความโกรธอยู่เสมอ จะเป็นประโยชน์ต่อเราหลายอย่าง เช่น ทำให้เราสุขภาพจิตดี หน้าตาผ่องใส ข้อสำคัญ ทำให้เรารักษามิตรไมตรีกับผู้อื่นไว้ได้
8. อวิหิงสา หรือ อะวีหิสัญจะ หมายถึง การไม่เบียดเบียนหรือบีบคั้นกดขี่ผู้อื่นรวมไปถึง การไม่ใช้อำนาจไปบังคับหรือหาเหตุกลั่นแกล้งคนอื่นด้วย เช่นไม่ไปข่มเหงรังแกผู้ด้อยกว่า ไม่ไปข่มขู่ให้เขากลัวเราหรือไปบีบบังคับเอาของรักของหวงมาจากเขา นอกจากไม่เบียดเบียนคนด้วยกันแล้ว เรายังไม่ควรเบียดเบียนสัตว์ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อีกด้วย เพราะมิฉะนั้น ผลร้ายจะย้อนกลับมาสู่เรา และสังคม อย่างที่เห็นจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ ในปัจจุบัน
9. ขันติ คือ ความอดทน หมายถึง ให้เราอดทนต่อความยากลำบาก ไม่ท้อถอย และไม่หมดกำลังกาย กำลังใจที่จะดำเนินชีวิต และทำหน้าที่การงานต่อไปจนสำเร็จ รวมทั้งไม่ย่อท้อต่อการทำคุณงามความดี ความอดทนจะทำให้เราชนะอุปสรรคทั้งปวงไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ และจะทำให้เราแกร่งขึ้น เข้มแข็งขึ้น การที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชจริยานุวัตร อันอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาพระราชหฤทัย พระวรกาย พระวาจา และพระอาการ ให้เรียบร้อย
10. อวิโรธนํ หรือ อะวิโรธะนัง,อะวิโรธะนะ หมายถึง การไม่ทำผิดครรลองครองธรรม ระเบียบประเพณีอันดีงาม ยึดความยุติธรรม หนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก ไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคำพูด อารมณ์ หรือลาภสักการะใด ๆ ทั้งในทางนิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักปกครอง หรือในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม ก็ไม่ประพฤติ ให้ผิดทำนองคลองธรรม กล่าวคือ ให้ทำอะไรด้วยความถูกต้อง มิใช่ด้วยความถูกใจคือ การที่ทรงตั้งอยู่ในขัตติยราชประเพณี ไม่ทรงประพฤติผิดจากพระราชจริยานุวัตร นิติศาสตร์ ราชศาสตร์ ไม่ทรงประพฤติให้คลาดจากความยุติธรรม ทรงอุปถัมภ์ยกย่องคนที่มีความชอบ
จะเห็นได้ว่า หลักธรรมทั้ง 10 ข้อ หรือทศพิธราชธรรม นี้ มิใช่ข้อปฏิบัติที่ยากจนเกินความสามารถของคนธรรมดาสามัญที่จะทำตามได้ หลาย ๆ ข้อก็เป็นสิ่งที่เราปฏิบัติอยู่แล้ว จะโดยรู้ตัวไม่ก็ตาม แต่หากเรามีความตั้งใจจริง หลักธรรมดังกล่าวก็จะเป็นทุนที่ช่วยหนุนนำให้เราได้พัฒนาชีวิตไปสู่ความดีงาม ความมั่นคง และความสำเร็จที่เราปรารถนาทุกประการ
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th