ความหมายของพระรัตนตรัย
คำว่า รัตนตรัย มาจากคำว่า รัตน
แปลว่า แก้วหรือสิ่งประเสริฐ
กับคำว่า ตรัย แปลว่า สาม
ฉะนั้นพระรัตนตรัย แปลรวมกันว่า แก้วสามดวง
หรือ สิ่งประเสริฐสามสิ่ง ที่พุทธศาสนิกชนเคารพนับถือสูงสุดสามสิ่งนับเป็นองค์ประกอบของศาสนาพุทธ
คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งจัดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของศาสนา
3 อย่างใน 6 อย่าง อันได้แก่
1. ผู้ให้กำเนิดศาสนา คือพระพุทธเจ้า
2. คัมภีร์หรือหลักคำสอน คือ พระธรรม
3. สาวกหรือผู้สืบทอดศาสนา คือพระสงฆ์
4. พิธีกรรมทางศาสนาหรือการประกอบพิธีทางศาสนกิจตามความเชื่อ
5. ศาสนสถานหรือวัตถุที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา
6. ศาสนิกชนหรือผู้เลื่อมใสในศาสนา
พระพุทธ
คำว่า พุทฺธ
แปลว่า ผู้รู้แล้ว (รู้ในความเป็นไปในธรรมชาติทั้งปวง) ผู้ตื่นแล้ว (ตื่นจากความโง่เขลา
ตื่นจากความงมงาย ) ผู้เบิกบาน ( ไม่มีสิ่งใดทำให้จิตใจเศร้าหมองอีกแล้ว
)
หมายถึงผู้ที่ตรัสรู้อริยสัจ คือความเป็นจริงที่ประเสริฐ 4 ประการ
พุทธ จำแนกออกเป็น 3 ประเภทได้แก่
1. ปัจเจกพุทธ
(อ่านว่า พระ-ปัด-เจก-กะ-พุด-ทะ-เจ้า) หมายถึงผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเองแต่ไม่สามารถสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้
2. สัมมาสัมพุทธ
หมายถึงผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเองแล้วสามารถสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้มีองค์เดียวเท่านั้นคือ
สัมมาสัมพุทธเจ้า(พระศรีศากยมุนีโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า)
3. สุตตันตพุทธ หมายถึงผู้ตรัสรู้ตามคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรม
ธรรม มีเสียงพ้องกับคำว่า
ทำ ในภาษาไทย ถ้าข้อความไม่ชัดเจนอาจเติมสระ อะ เป็นธรรมะ แต่จะใช้คำว่า
ธรรมะ เฉพาะเมื่อหมายถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ธรรม (ทำ) หรือ ธรรมะ (ทำ-มะ) เป็นคำที่มาจากคำภาษาสันสกฤต
ธรรม แปลว่าสิ่งที่แบกไว้ หมายถึง กฎหมาย หน้าที่ ยุติธรรม ความถูกต้อง
คุณความดี คุณธรรม ธรรมชาติ เป็นต้น
ในภาษาไทยใช้คำว่า ธรรม หรือ ธรรมะ หมายถึง คำสั่งสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
เนื้อหาสาระเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนทั้งหมดทั้งสิ่งที่ดีและชั่วเรียกว่า
ธรรม หรือ ธรรมะ เช่น ทรงสอนเรื่องอริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐ ทรงสอนเรื่องไตรลักษณ์
หรือ อนัตตลักขณสูตรสอนเรื่องกิเลส ก็เรียกว่า ทรงสอนธรรมเรื่องกิเลส หรือทรงสอนธรรมะเรื่องกิเลส
ธรรมหมายถึงการประพฤติที่ดีที่ถูกต้องได้
เช่น ธรรมที่ประพฤติดีแล้วนำสุขมาให้ ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข ใครๆ
ก็สรรเสริญการกระทำที่เป็นธรรม
ธรรม หมายถึง
ความยุติธรรม เช่น ถ้าผู้ปกครองประเทศปกครองด้วยความเป็นธรรม ประชาชนก็เป็นสุข
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการแล้ว ก็ทรงมีพระมหากรุณาปรารถนาจะให้สัตว์โลกพ้นทุกข์
จึงทรงสั่งสอนเหล่าสาวกและคนทั่วไปด้วยคำสอนต่าง ๆ คำสอนของพระพุทธเจ้านี้เรียกว่า พระธรรม
พระธรรม
คัมภีร์ ของพระพุทธศาสนา เรียกว่า พระไตรปิฎก ประกอบด้วย พระอภิธรรมปิฎก
พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก
อภิธรรมปิฎก หรือพระอภิธรรม หมายถึง ประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม
หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นภาคทฤษฎีบท หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักคำสอนล้วน
ๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ เปรียบเสมือนวิชาวิทยาศาสตร์
พระวินัยปิฎก หรือ พระวินัย หมายถึง ประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย
คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่าง
ๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ เปรียบเสมือนวิชากฎหมาย
พระสุตตันตปิฎก หรือ พระสูตร หมายถึง ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร
คือ พระธรรมเทศนาคำบรรยายธรรมต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาสตลอดจนบทประพันธ์
เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้า
สอนใคร สอนเรื่องอะไร สอนที่ไหนเปรียบเสมือนวิชาประวัติศาสตร์
คำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนานั้นมีสาระสำคัญ
3 ประการ หรือ โอวาท 3
คือ ให้ประพฤติดี ให้ละความชั่ว และทำจิตใจให้ผ่องใส
นอกจากสาระสำคัญทั้ง 3 ประการนี้ พระพุทธเจ้า ได้ทรงชี้ให้เห็นถึงสาเหตุแห่งการเกิดทุกข์
การดับทุกข์ และวิธีปฏิบัติตนของพุทธบริษัท 4 เพื่อให้หลุดพ้นจากวัฏสังสาร
วงจรของการเกิดดับ หลุดพ้นจากความทุกข์ต่าง ๆ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
พระสงฆ์
เรามักเรียกสมณเพศในพระพุทธศาสนาว่า
พระสงฆ์ แต่คำว่า สงฆ์
นั้นหมายถึงองค์คณะของผู้เป็นสมณะมากกว่า แต่สมณะในพระพุทธศาสนาแต่ละรูปนั้นเรียกว่า
ภิกษุ ซึ่งแปลตามรูปศัพท์
หมายถึง ผู้ขอ มีรากศัพท์เดียวกันกับคำว่า
ภิกษาจาร พระสงฆ์ หมายถึง สาวกหรือนักบวชที่เป็นผู้ชายในพระพุทธศาสนา เป็น
1 ใน 4 ของพุทธบริษัท ซึ่งเดิมเรียกนักบวชผู้ชายในศาสนาพุทธว่า ภิกขุ
ในภาษาบาลี ภิกษุ ในภาษสันสกฤต พระสงฆ์จัดว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสืบทอดพระศาสนาเพราะเป็นศาสนทายาทผู้สั่งสอนพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป
พระสงฆ์จึงต้องประพฤติปฏิบัติตนให้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติของพระสงฆ์ที่ดี
ตามพุทธบัญญัติ
พระสงฆ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. พระอริยสงฆ์
2. พระสมมุติสงฆ์
พระอริยสงฆ์ พระสงฆ์ผู้บรรลุธรรมวิเศษ 4
ชั้นคือ
1. พระโสดาบัน
2. พระสกทาคามี
3. พระอนาคามี
4. พระอรหันต์
พระอริยสงฆ์ 3 ชั้นแรกจัดเป็นเสขบุคคล ส่วนพระอรหันต์จัดเป็นอเสขบุคคล
เสขบุคคลมี 3 ขั้น ได้แก่
1.โสดาบัน 2. สกทาคามี หรือสกิทาคามี 3. อนาคามี ที่นับว่าเป็น เสขบุคคล
เพราะผู้นั้น ยังต้องศึกษาต่อไปอยู่ ( เสข=ผู้ยังต้องศึกษา ) เนื่องจากยังไม่จบ
การศึกษา 3 (อธิศีลสิกขา-อธิจิตสิกขา-อธิปัญญาสิกขา) ผู้พัฒนาตนผ่าน
การศึกษา 3 บรรลุธรรมเป็น อาริยชน จึงนับเป็นผู้เข้าสู่ เสขภูมิ
พื้นเพของพระเสขะ คือ เข้าสู่ชั้นอาริยชนแล้ว จะเป็นชั้นหนึ่งชั้นใดใน
3 ก็ตาม แต่ยังต้องศึกษาอยู่ ยังไม่จบถึง อรหันต์ อันเป็นภูมิสุดท้าย
ผู้ยังไม่บรรลุธรรมเข้าขั้น อาริยะ ยังไม่ได้ชื่อว่า เสขบุคคล
พระอรหันต์ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
1. พระสุกขวิปัสสก (ไม่มีญาณวิเศษใด ๆ นอกจากรู้การทำอาสวะให้สิ้นไป
(อาสวักขยญาณ) อย่างเดียว)
2. พระเตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา 3 คือ รู้ระลึกชาติได้(บุพเพนิวาสานุสสติญาณ)
รู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย(จุตูปปาตญาณ) รู้ทำอาสวะให้สิ้น(อาสวักขยญาณ)
3. พระฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา 6 คือ แสดงฤทธิ์ได้(อิทธิฤทธิ์)
หูทิพย์(ทิพยโสต) รู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย(จุตูปปาตญาณ) ทายใจผู้อื่นได้(เจโตปริยญาณ)
ระลึกชาติได้(บุพเพนิวาสานุสสติญาณ) และญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป(อาสวักขยะญาณ)
4. พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา
4)
ปฏิสัมภิทา ความแตกฉาน ความรู้แตกฉาน ปัญญาแตกฉาน มี 4 ขั้นได้แก่
4.1 อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ความแตกฉานสามารถอธิบายเนื้อความย่อของภาษิตโดยพิสดารและความเข้าใจ
ที่สามารถคาดหมายผลข้างหน้าอันจะเกิดสืบเนื่องไปจากเหตุ
4.2 ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม เห็นคำอธิบายพิสดาร ก็สามารถจับใจความมาตั้งเป็นหัวข้อได้เห็นผลก็สืบสาวไปหาเหตุได้
4.3 นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในภาษา คือเข้าใจภาษา รู้จักใช้ถ้อยคำให้คนเข้าใจ
ตลอดทั้งรู้ภาษาต่างประเทศ
4.4 ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ความแตกฉานในปฏิภาณได้แก่ไหวพริบคือ โต้ตอบปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที
หรือแก้ไขเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ฉับพลันทันการ
พระสมมุติสงฆ์
หมายถึงพระสงฆ์ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย
บ้างครั้ง เรียกว่า พระ, พระสงฆ์,ภิกษุ, พระภิกษุ, พระภิกษุสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
ก็จะเป็นเหตุจูงใจประชาชนให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา คำว่า
พระสงฆ์ โดยทั่วไปจึงมุ่งถึงชายที่บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ได้ปฏิบัติตามกฎหมายของสงฆ์
ที่เรียกว่า วินัยสงฆ์ ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนำคำสอนนั้นไปถ่ายทอดแก่ประชาชนทั่วไป
ไม่คำนึงว่าจะเป็นภิกษุรูปเดียว หรือเป็นคณะที่รวมตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป
|