พระธรรม
ความหมายของธรรม ถ้าจะว่ากันแท้จริงแล้ว ชีวิตก็เป็นธรรมะอยู่แล้ว แต่มีธรรมะอีกหลาย
ๆ อย่างที่ต้องประกอบกันอยู่ คำว่าธรรมะ มีความหมายประกอบกัน 4 อย่างคือ
1. ตัวธรรมชาติ
2. กฎธรรมชาติ
3. หน้าที่ตามกฎธรรมชาติ
4. ผลที่เกิดจากหน้าที่ |
เมื่อมองตัวเรา
เนื้อหนัง ร่างกาย จิตใจของเราที่มีอยู่นี้เรียกว่า ตัวธรรมชาติ
ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณที่เป็นตัวร่างกายมีชีวิต นี้เรียกว่า ตัวธรรมชาติ
ตัวกฎธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่ในตัวเรา ในร่างกายของเราที่มันจะเกิดขึ้น
หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เจริญอย่างไร เสื่อมอย่างไร กระทั่ง เราจะต้องทำอย่างไรกับมัน
เป็นตัวกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในชีวิตนี้แล้ว
หน้าที่ของเรา ก็คือต้องทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์นั้น ๆ เพื่อมีชีวิตอยู่ได้และเพื่อชีวิตเจริญยิ่ง
ๆ ขึ้นไป เพื่อชีวิตอยู่ได้มันมีกฎเกณฑ์ทำให้เกิดหน้าที่แก่เรา เช่น เราต้องรับประทานอาหาร
ต้องอาบน้ำ ต้องถ่าย ต้องหาปัจจัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ
กระทั่งการคบหาสมาคมกับบุคคลรอบด้านหรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา ให้ถูกต้อง
นี่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้อยู่รอดได้ ถ้าทำหน้าที่นี้ไม่ถูกต้องมันอาจจะตายหรือเกือบตาย
หน้าที่อีกแผนกหนึ่ง ก็คือ จะต้องทำให้เจริญด้วยคุณค่ายิ่ง ๆ ขึ้นไป อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง |
การเป็นมนุษย์ คนหนึ่งนั้นหมายความว่า มันต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ
ถ้าไม่ได้รับสิ่งนี้ มันก็เสียชาติเกิดเพราะว่ามันจะต้องได้เต็มที่ ตามที่มนุษย์อาจจะรับได้
ฉะนั้นจึงเกิดเป็นหน้าที่อีกชั้นหนึ่งว่า เราต้องทำให้ได้รับผลประโยชน์ของความเป็นมนุษย์ให้ถึงที่สุด
หน้าที่ชั้นแรกที่ว่าทำให้รอด หน้าที่อยู่ได้นี้สัตว์เดรัจฉานก็ทำเป็น สุนัข
แมว กา ไก่ อะไรมันก็ทำเป็นและมันก็ ทำอยู่ตามธรรมชาติ เพื่อให้รอดชีวิตอยู่ได้
ครั้นรอดชีวิตอยู่ได้แล้ว สัตว์เหล่านั้นมันหมดหน้าที่ แต่ว่ามนุษย์ยังไม่หมด
คนเราเมื่อรอดชีวิตอยู่ได้แล้ว ต้องทำต่อไปคือ เลื่อนชั้นของชีวิตนั้นเอง
ให้มันสูงขึ้น สูงขึ้นไปให้เต็มไปด้วยคุณค่าหรือประโยชน์อย่างสมบูรณ์ ทั้งประโยชน์ที่พึงมีแก่ตนและประโยชน์พึงมีแก่ผู้อื่นหรือทั้งสองฝ่ายร่วมกันก็ได้
ดังนั้นมนุษย์จึงผิดแปลก แตกต่างจากสัตว์ เป็นอันมากในข้อนี้ |
เมื่อทำหน้าที่ อันนี้ถูกต้อง มันก็เลยได้รับผลของหน้าที่คือ ถ้าทำถูกต้องมันก็ได้รับผลเป็นสุข
เต็มไปด้วยประโยชน์ดังที่กล่าวแล้ว ถ้าทำไม่ถูกต้อง มันจะไม่มีประโยชน์คุณค่าอะไร
สักว่ามีชีวิตอยู่หรือถ้าทำไม่ถูกต้องยิ่งไปกว่านั้นอีก มันก็เป็นคนที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์
เจ็บ ๆ ไข้ ๆ หรือตายไปเลยไม่ได้เหลือรอดเป็นชีวิตอยู่ ฉะนั้น การที่เราทำให้สบายดี
มีสุขภาพดีแล้วปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เกิดผลแก่ทุกฝ่ายนั้นแหละเรียกว่าหน้าที่ "ธรรมะ" คือ " หน้าที่ " แล้วผลที่เกิดมา อย่างนั้นแหละคือ ผลที่เกิดจากหน้าที่ |
หน้าที่เป็น ธรรมะที่สำคัญที่สุด ธรรมะในความหมาย 4 อย่างนั้น อย่างที่ 3
นั่นแหละสำคัญ ที่ทุกท่านกำลังอ่านหรือศึกษาธรรมะอยู่นี้ นั่นก็คือท่านกำลังทำหน้าที่ คือ ความรู้ธรรมะ
ความหมายที่ 3 ขอย้ำหรือทบทวนอีกครั้งว่า ธรรมะคือธรรมชาติ เนื้อหนัง ร่างกายเรา ธรรมะคือกฎธรรมชาติ ที่มันควบคุมร่างกายนี้อยู่ให้เป็นตามกฎ
ธรรมะ ความหมายที่ 3 คือหน้าที่ สิ่งที่มีชีวิตจะต้องทำให้ถูก ตามกฎของธรรมชาตินั้น
ๆ มนุษย์จะต้องประพฤติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ส่วนธรรมะ ในความหมายที่
4 จะเกิดขึ้นเองถ้ามนุษย์ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้วย่อมเกิดผลดีนั่นเอง
เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะคน ต่ำลงไปถึงสัตว์เดรัจฉานก็ต้องทำ แม้แต่ต้นไม้ก็ต้องทำหน้าที่ดำรงชีวิต
เหมือนกัน ฉะนั้นต้นไม้ก็มีธรรมะคือหน้าที่ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดว่าต้นไม้มีธรรมะปฏิบัติแต่ขอบอกให้รู้ว่ามันเป็นจริงอย่างนั้นเพราะสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่แล้วก็เรียกว่าธรรมะได้ทั้งนั้น
ธรรมะมีความหมาย 4 ประการอย่างนี้ หลายคนเคยได้ยิน ได้ฟังครูสอน ครูบอก ว่า ธรรมะหรือพระธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วก็จบ อันที่จริงแล้วคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นก็คือธรรมะ 4
เรื่องนี้คือ เรื่องธรรมชาติ เรื่องกฎธรรมชาติ เรื่องหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ
เรื่องผลที่เกิดจากหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ แต่ถึงอย่างนั้น ความสำคัญก็อยู่ในความหมายที่
3 ที่ว่าหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ |
ดังนั้น ความหมายที่เราต้องสนใจที่สุดก็คือ
ธรรมะ ในความหมายที่ 3 คือธรรมะคือหน้าที่ สิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดจะต้องประพฤติกระทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ
จึงจะอยู่รอดได้หรือจะเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป |
พระธรรม หรือ ธรรม มีเสียงพ้องกับคำว่า ทำ ในภาษาไทย
ถ้าข้อความไม่ชัดเจนอาจเติมสระ อะ เป็น ธรรมะ แต่จะใช้คำว่า ธรรมะ เฉพาะเมื่อหมายถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
ธรรม (ทำ) หรือ ธรรมะ (ทำ-มะ) เป็นคำที่มาจากคำภาษา สันสกฤต ธรรม แปลว่า สิ่งที่แบกไว้ หมายถึง กฎหมาย หน้าที่ ยุติธรรม ความถูกต้อง คุณความดี คุณธรรม ธรรมชาติ
เป็นต้น
ในภาษาไทยใช้คำว่า ธรรม หรือ ธรรมะ หมายถึง คำสั่งสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
เนื้อหาสาระเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนทั้งหมดทั้งสิ่งที่ดีและชั่วเรียกว่า
ธรรม หรือ ธรรมะ เช่น ทรงสอนเรื่องอริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐ ทรงสอนเรื่องไตรลักษณ์ หรือ อนัตตลักขณสูตร สอนเรื่อง กิเลส ก็เรียกว่า ทรงสอนธรรมเรื่องกิเลส หรือ ทรงสอนธรรมะเรื่อง กิเลส |
|
ธรรมหมายถึงการประพฤติที่ดีที่ถูกต้องได้
เช่น ธรรมที่ประพฤติดีแล้วนำสุขมาให้ ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข ใครๆ
ก็สรรเสริญการกระทำที่เป็นธรรม
ธรรม หมายถึง ความยุติธรรม เช่น ถ้าผู้ปกครองประเทศปกครองด้วยความเป็นธรรม ประชาชนก็เป็นสุข
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการแล้ว ก็ทรงมีพระมหากรุณาปรารถนาจะให้สัตว์โลกพ้นทุกข์
จึงทรงสั่งสอนเหล่าสาวกและคนทั่วไปด้วยคำสอนต่าง ๆ คำสอนของพระพุทธเจ้านี้เรียกว่า
พระธรรม |
|
พระธรรม คำสอน ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าแบ่งออกเป็นสามภาคประกอบด้วย
1.
ปริยัติธรรม หรือ พระไตรปิฎก
2.
ปฏิบัติธรรม หรือ ไตรสิกขา
3.
ปฏิเวธธรรม หรือ โลกุตรธรรม |
|
พระธรรม คัมภีร์ ของพระพุทธศาสนา หรือ คำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นภาคทฤษฎี
เรียกว่า พระไตรปิฎก ประกอบด้วย พระอภิธรรมปิฎก พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก
อภิธรรมปิฎก หรือพระอภิธรรม หมายถึง ประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นภาคทฤษฎีบท
หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักคำสอนล้วน ๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์
เปรียบเสมือนวิชาวิทยาศาสตร์
พระวินัยปิฎก หรือ พระวินัย หมายถึง ประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ
ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์
เปรียบเสมือนวิชากฎหมาย
พระสุตตันตปิฎก หรือ พระสูตร หมายถึง ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือ พระธรรมเทศนาคำบรรยายธรรมต่างๆ
ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาสตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา
ที่พระพุทธเจ้า สอนใคร สอนเรื่องอะไร สอนที่ไหนเปรียบเสมือนวิชาประวัติศาสตร์ |
|
พระธรรม คำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นภาคปฏิบัติ แบ่งออกเป็น 3 ด้านประกอบด้วย
ศีล สมาธิ ปัญญา รวมเรียกว่า ไตรสิกขา
พระธรรม คำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นผลจากปฏิบัติ แบ่งออกเป็น 3 ด้านประกอบด้วย
มรรค ผล นิพพาน รวมเรียกว่า โลกุตรธรรม
คำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนานั้นมีสาระสำคัญ
3 ประการ หรือ โอวาท 3
คือ ให้ประพฤติดี ให้ละความชั่ว และทำจิตใจให้ผ่องใส
นอกจากสาระสำคัญทั้ง
3 ประการนี้ พระพุทธเจ้า ได้ทรงชี้ให้เห็นถึงสาเหตุแห่งการเกิดทุกข์ การดับทุกข์
และวิธีปฏิบัติตนของพุทธบริษัท 4 เพื่อให้หลุดพ้นจากวัฏสังสาร วงจรของการเกิดดับ
หลุดพ้นจากความทุกข์ต่าง ๆ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
|
|
ุ |