หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
พุทธสุภาษิต
ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา

 สุสฺสูสํ ลภเตปญฺญํ = ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา
      การรับรู้ที่เกิดจากอายตนะภายนอกที่เรียกว่า "เสียง" กระทบกับอายตนะภายในที่เรียกว่า"ู" เรียกว่า "โสตวิญญาณ" เมื่อเรามีความตั้งใจฟังในสิ่งที่ดีงาม แล้วนำมาใช้อย่างถูกต้อง จักก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ฟังและผู้พบเห็น ถือเป็นวัฒนธรรมอันล้ำค่า แสดงให้เห็นว่าเรามีความรู้ หรือ รอบรู้ การได้รับความรู้แล้วสามารถน้ำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ จัดได้ว่า เป็นผู้มีปัญญา
      สุสฺสูสํ ลภเตปญฺญํ ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ หมายถึง ปัญญาจากการศึกษาเล่าเรียน ที่เกิดจากการฟัง ในสมัยโบราณ เรามีหนังสือน้อยมาก การที่จะได้ความรู้ ส่วนใหญ่ได้จากการฟัง คำสอนต่างๆก็เกิดจากการรับรู้โดยการฟัง โดยเฉพาะ คำสอนทางพระพุทธศาสนา ที่เราเรียกว่า "พุทธวจนะ" ฉะนั้นผู้ที่มีโอกาสฟัง แล้วฟังด้วยความตั้งใจ ก็สามารถจดจำคำพูดเหล่านั้นได้ นับว่าเป็นการได้รับความรู้จากการฟัง หรือได้ปัญญาจากการฟัง เรียกว่า "สุตมยปัญญา" ผู้ที่ได้ยินมามากหรือได้ฟังมาก ก็ยิ่งมีความรู้มาก เรียกว่า "พหูสูต"

ปัญญามีที่มาได้ 3 ประการคือ
1. สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง
2. จินตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิด
3. ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ
     ความรอบรู้ หรือ ระดับของปัญญาเป็นการใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิตแบ่งได้เป็นสองระดับ คือปัญญาทางโลกหรือปัญญาของสามัญชนและปัญญาเหนือโลกหรือโลกุตตรปํญญาเป็นปัญญาของอริยบุคคล      ปัญญาของสามัญชนคือความสามารถในการนำความรู้มาใช้ในการดำรงชีวิต ซึ่งได้จากการศึกษาเล่าเรียนในระบบโรงเรียนหรือได้จากการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ โดยการเรียนรู้สืบต่อจากบรรพบุรุษหรือ เรียนรู้สืบต่อกันมา อาทิ ความรู้ในการประกอบอาชีพ ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ความรู้ทางการเมือง เหล่านี้จัดเป็นปัญญาของสามัญชนทั่วไป ส่วนปัญญาเหนือโลก หรือ โลกุตตรปัญญา อริยบุคคลผู้ที่จิตมีนิพพานเป็นอารมณ์โดยดับกิเลส หรือมีนิพพานเป็นอารมณ์โดยดับกิเลสแล้ว ปัญญาที่เกิดร่วมกับโลกุตรจิต ไม่เป็นไปกับอาสวะ
อาสวะ มี 3 ประเภท คือ
1. กามาสวะอาสวะคือกาม  ความติดใจรักใคร่อยู่ในกามเป็นเหตุให้จิตเศร้าหมองเพราะหมกมุ่นกังวลอยู่ร่ำไป
2. ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความติดอยู่ในภพ ในความเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นเหตุให้จิตหมกมุ่นอยากได้ร่ำไป
3. อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา ความไม่รู้จริง เป็นเหตุให้จิตลุ่มหลงมืดมัว เศร้าหมอง

ผู้มีปัญญาเหนือโลกจะสามารถตัดวงจรหรือวัฎฎ 3 ได้
วัฏฏ 3 หมายถึง การวนเวียนอยู่ในเหตุปัจจัย 3 ประการคือ กิเลส กรรม และวิบาก
     1. กิเลสวัฏฏ คือ ต้นเหตุที่ทำให้เกิดการกระทำด้วยอำนาจของ กิเลสเพราะความไม่รู้จริง(อวิชชา)ก่อเกิดความอยากทั้งปวง(ตัณหา) และยึดมั่นถือมั่น(อุปาทาน) เมื่อเกิดกิเลส ความทะยานอยากของจิต ส่งผลให้เกิด การกระทำ (กรรม)
     2. กรรมวัฏฏ เป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล แสดงออกได้ทางกาย วาจา ใจ อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจ ในอริยสัจ จิตผูกพันธ์ใน โลภะ(โลภ) โทสะ(โกรธ) โมหะ(หลง) ส่งผลให้เกิด กรรมชั่วเป็น อกุศล ในทางตรงข้ามจิตคิด ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ส่งผลให้เกิด กรรมดีเป็น กุศล
     
3. วิบากวัฏฏ ผลที่เกิดจากลงมือกระทำ (วิบาก) มีทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจเป็นเหตุให้เกิดกิเลสต่อหมุนเวียนเป็นวัฏฏ
     ไตรวัฏฏสาม ทำให้สัตว์โลกต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏเพราะในเมื่อคนเรายังมี กิเลส (ความไม่รู้จริง ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น) จึงเป็นเหตุให้ต้องทำ แสดงออกทางกาย เรียกว่า กายกรรม แสดงออกทางวาจา เรียกว่า วจีกรรม แสดงออกทางใจ เรียกว่า มโนกรรม มีทั้งกรรมดี(กุศล)กรรมชั่ว(อกุศล)ปะปนกันไป และเมื่อทำกรรมย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้น ซึ่งเรียกว่า "วิบาก" เมื่อได้รับผลอย่างใดอย่างหนึ่งจึงเกิดความชอบใจ(สุข) ไม่ชอบใจ(ทุกข์) เกิดเป็นตัณหา อุปาทาน ซึ่งเรียกว่า “กิเลส” วกเข้าสู่วงจรเดิม กิเลส กรรม และวิบาก

Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th