ความหมาย - ประเภทชาดก
ชาดก แปลว่า ประวัติการทำความดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีมาในชาติก่อน ๆ
นิทาน ตามพจนานุกรม มาจาก (มค. นิทาน) น. เหตุ ; เรื่องเดิม ; คำเล่าเรื่อง, เรื่องนิยาย
นิทาน แปลว่า เหตุเป็นเครื่องมอบให้ซึ่งผล, มูลเค้า, เรื่องเดิม, สมุฏฐาน
ชาดก แปลว่า ผู้เกิด คือเล่าถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงเวียนว่ายตายเกิด ถือเอากำเนิดในชาติต่างๆ ได้พบปะผจญกับเหตุการณ์ดีบ้างชั่วบ้าง แต่ก็ได้พยายามทำความดีติดต่อกันมากบ้างน้อยบ้างตลอดมา จนเป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย
กล่าวอีกอย่างหนึ่ง จะถือว่า เรื่องชาดกเป็นวิวัฒนาการแห่งการบำเพ็ญคุณงามความดี ของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ก็ได้
นิทานชาดก มิใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสอนคุณธรรม แต่นิทานชาดก คือ เรื่องในอดีตชาติของ พระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระภิกษุในโอกาสต่าง ๆ บางครั้งก็เพื่อแสดงภูมิหลังของผู้ที่พระองค์ต้องการแสดงธรรมให้ฟัง บางครั้งก็เพื่ออธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ชาดก เป็นเรื่องที่มีมาก่อนพุทธกาล เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระโพธิสัตว์
ชาดกมี 2 ประเภท คือ
1. นิบาตชาดก เป็นชาดกในพระไตรปิฎกมี 500 เรื่อง แบ่งออกเป็นหมวดๆ ตามจำนวนคาถา
นับตั้งแต่ 1 คาถาถึง 80 คาถา
ชาดกที่มี 1 คาถาเรียกว่า เอกนิบาต
ชาดกที่มี 2 คาถาเรียกว่า ทุกนิบาต
ชาดกที่มี 3 คาถาเรียกว่า ตักนิบาต
ชาดกที่มี 4 คาถาเรียกว่า จตุคนิบาต
ชาดกที่มี 5 คาถาเรียกว่า ปัญจกนิบาต
ชาดกที่มีเกิน 80 คาถาขึ้นไปเรียกว่า มหานิบาตชาดก ซึ่งมี 10 เรื่อง เรียก ทศชาติ หรือ พระเจ้าสิบชาติ
2. ปัญญาสชาติชาดก คำว่า ปัญญาสชาดก (ปัน-ยาด-สะ-ชา-ดก) ประกอบด้วยคำว่า ปัญญาส แปลว่า ห้าสิบ กับ คำว่า ชาดก ซึ่งหมายถึงเรื่องราวชีวิตของพระโพธิสัตว์ หรือ พระพุทธเจ้าในอดีตชาติก่อนที่จะทรงบังเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ๕๐ เรื่อง เขียนเป็นภาษาบาลี เป็นชีวิตของพระโพธิสัตว์ในพระชาติต่าง ๆ ที่ได้บำเพ็ญบารมี คือ ทำความดีด้วยประการต่าง ๆ อย่างแน่วแน่ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและบำเพ็ญเพียรเพื่อให้พ้นความทุกข์ยากต่าง ๆ การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่างให้พุทธศาสนิกชนได้ทำตาม คิดตาม ยึดถือตาม เพื่อให้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับชีวิต และพยายามหาวิธีพ้นจากความทุกข์ได้อย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ปัญญาสชาติชาดก ที่แต่งขึ้นจากนิทานพื้นเมืองนี้ ไม่มีในพระไตรปิฎก หรือเรียกว่า ชาดกนอกนิบาต มีจำนวน 50 เรื่อง พระภิกษุชาวเชียงใหม่แต่งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2000-2200 เป็นภาษามคธ โดยเลียนแบบนิบาตชาดก ครั้นเมื่อ พ.ศ.2443-2448 พระบรมวงศ์เธอกรมพระสมมตอมรพันธ์ ดำรงตำแหน่งองค์สภานายก หอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้ทรงแปลเป็นภาษาไทย เรื่องปัญญาสชาดกจึงแพร่หลาย
องค์ประกอบของชาดก
ชาดกทุกเรื่องจะมีองค์ประกอบ 3 ประเภท คือ
1. ปรารภเรื่อง คือบทนำเรื่องหรือ อุบัติเหตุ จะกล่าวถึงมูลเหตุหรือที่มาของชาดกเรื่องนั้น เช่น มหาเวสสันดรชาดก
2. อดีตนิทาน หรือ ชาดก หมายถึงเรื่องราวนิทานที่พระพุทธองค์ตรัสเล่า
3. ประชุมชาดก ประมวลชาดก เป็นเนื้อความสุดท้ายของชาดกกล่าวถึงบุคคลในชาดก คือผู้ใดที่กลับชาติเป็นใครบ้างในปัจจุบัน |