พระเจ้าสุทโธทนะเป็นกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยจากศากยวงศ์ของแคว้นสักกะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสีหนุกับพระนางกัญจนา มีพระอนุชาและพระกนิษฐาร่วมพระชนกชนนีอีก 6 พระองค์ ได้แก่ สุกโกทนะ อมิโตทนะ โธโตทนะ ฆนิโตทนะ ปมิตา และอมิตา
สุทโธทนะได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงศากยวงศ์จากนครเทวทหะ พระนามว่า สิริมหามายา และมีพระราชโอรสองค์หนึ่งคือ สิทธัตถะ ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อสิทธัตถะกุมารประสูติได้ 7 วัน พระนางสิริมหามายาก็สวรรคต พระสุทโธทนะจึงอภิเษกสมรสใหม่อีกครั้งหนึ่งกับพระนางปชาบดีหรือโคตมี ซึ่งเป็นพระกนิษฐาร่วมชนนีกับพระนางสิริมหามายา และมีพระโอรสองค์หนึ่งนามว่า นันทะ และพระธิดาอีกองค์หนึ่งทรงพระนามว่า รูปนันทา
พระเจ้าสุทโธทนะเป็นผู้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมและยึดมั่นในราชประเพณีอย่างเคร่งครัดในการปกครองบ้านเมือง ทำให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขตลอดรัชสมัยของพระองค์ และทรงมุ่งหวังที่จะให้พระโอรสโดยเฉพาะสิทธัตถะได้รับเลือกจากสภาศากยะให้เป็นราชาสืบต่อจากตน แต่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวก ก็ทรงคิดหวังเฝ้าคิดถึงพระราชโอรสองค์นี่อยู่ตลอดเวลา และพอได้ทราบว่าเจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็ใคร่อยากจะให้กลับมาที่กรุงกบิลพัสดุ์บ้าง จึงตรัสสั่งกาฬุทายีอำมาตย์ซึ่งเป็นคนคุ้นเคยกับพระศาสดาแต่ครั้งยังเยาว์วัยกันไปเชิญ เมื่อกาฬุทายีไปถึงกรุงราชคฤห์เข้าเฝ้าพระศาสดา ได้ฟังธรรมเทศนาบรรลุเป็นพระอรหันต์ขออุปสมบทเป็นภิกษุแล้วทูลเชิญพระศาสดาพร้อมภิกษุสงฆ์ไปยังกรุงกบิลพัสดุ์และประทับที่นิโครธาราม พระศาสดาทรงเทศนาโปรดพระบิดาและพระนางปชาบดีให้เกิดศรัทธาแล้ว
วันหนึ่งพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางปชาบดีได้ประกอบพิธีมงคลสมรสให้แก่นันทกุมาร และได้นิมนต์พระศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหาร ณ ตำหนักของนันทกุมาร เวลาเสด็จกลับ ทรงส่งบาตรให้นันทกุมารถือแล้วเสด็จออกจากตำหนัก นันทกุมารก็เดินตามโดยคิดว่าพอถึงที่ใดที่หนึ่งพระพุทธเจ้ารับบาตรคืนแล้วคืนแล้วก็จะรีบกลับมา ฝ่ายเจ้าสาวก้ตะโกนบอกว่า รีบกลับมาเร็วๆนะพี่ ครั้งพอถึงวิหาร พระบรมศาสดาก็ตรัสถามนันทกุมารว่า นันทะ เธอจะบวชไหม? นันทกุมารแม้ไม่อยากบวช แต่ด้วยความเคารพทั้งในฐานะพี่และในฐานะพระศาสดา จึงไม่กล้าปฏิเสธ จึงทูลว่าจะรับบวช พระศาสดาจึงอุปสมบทให้
ต่อมาอีกไม่กี่วัน พระศาสดาเสด็จไปที่พระราชนิเวศน์ของพระบิดา พระมเหสีเก่าของพระองค์คือนางยโสธรา(พิมพา) ได้ส่งพระราหุลผู้เป็นโอรสออกมาขอราชสมบัติ เพราะศาสดาเป็นพระโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าสุทโธทนะควรจะได้รับราชสมบัติสืบต่อราชวงศ์ เมื่อพระพุทธเจ้าไม่ทรงรับก็ควรที่จะประทานให้แก่พระราหุล พอพระราหุลไปพบพระศาสดาแล้วทูลขอพระราชสมบัติ พระศาสดาทรงปรารถว่า ทรีพย์สมบัติที่ราหุลขอนั้นเป็นทรัพย์ภายนอก ควรจะรับเอาทรัพย์ที่ประเสริฐกว่าคือ อริยทรัพย์ จึงทรงมอบหมายให้พระสารีบุตรรบวชให้พระราหุล แต่พระราหุลยังอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ จึงทรงอนุญาติให้บรรพชาเป็นสามเณร พระราหุลจึงเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา
ทั้งพระนันทะและสามเญรราหุลบวชโดยไม่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาเสียก่อน ทำให้บิดามารดาตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องเกิดความเสียดายและเสียใจ พระเจ้าสุทโธทนะจึงทูลขอกับพระบรมศาสดาว่า ต่อไปในภายภาคหน้าถ้าจะบวชให้ใครขอให้ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาของผู้บวชเสียก่อน พระพุทธเจ้าทรงเห็นชอบด้วย นับตั้งแต่นั้นมาผู้ที่จะบวชในพระพุทธศาสนาจะต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาเสียก่อน โดยพระคู่สวดจะสวดถามว่า บิดามารดาของท่านอนุญาตหรือยัง ผู้บวชก็จะตอบว่า อามะภันเต แปลว่า อนุญาตแล้วครับ
พระเจ้าสุทโธทนะได้สดับรับฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาที่เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์คราวนี้ ทรงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา บรรลุพระโสดาบันเป็นอุบาสกพุทธบริษัทและเสด็จสวรรคตเมื่อพระพุทธเจ้าประกาศศาสนาได้ 5 ปีพอดี
|