หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
พุทธบริษัท 4
พระเจ้าปเสนทิโกศล

             แคว้นโกศล เป็นแคว้นใหญ่มีแสนยานุภาพมาก มีเมืองหลวงชื่อ “สาวัตถี”  พระมหากษัตริย์ผู้ครองแคว้นทรงพระนามว่า “ปเสนทิ” เป็นพระโอรสของพระเจ้ามหาโกศล เวลาเรียกจึงเอาชื่อแคว้นติดไปด้วยเป็นปเสนทิโกศล
พระเจ้าปเสนทิเมื่อครั้งยังเป็นราชกุมารได้เดินทางไปศึกษาในสถาบันอันมีชื่อเสียงที่สุดในสมัยนั้นคือ “ตักกสิลา” เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้แสดงศิลปะที่ได้ศึกษามาให้พระเจ้ามหาโกศลซึ่งเป็นพระชนกชม พระเจ้ามหาโกศลทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงทรงอภิเษกให้พระเจ้าปเสนทิครองราชย์สืบต่อจากพระองค์
แคว้นโกศลกับแคว้นมคธมีสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน เพราะพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แคว้นมคธ ได้ทรงอภิเษกพระกนิษฐาของพระเจ้าปเสนทิ คือพระนางโกศลเทวีหรือเวเทหิ เป็นพระมเหสี และพระเจ้าปเสนทิก็ได้ทรงอภิเษกพระกนิษฐาของพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระมเหสีเช่นกัน แต่พระเจ้าปเสนทิมีพระมเหสีหลายองค์ องค์หนึ่งเป็นเชื้อสายจากศากยวงศ์ ชื่อว่าวาสภขัตติยาพระธิดาของพระเจ้ามหานามะ และทรงมีพระโอรสด้วยกันชื่อวิฑูฑภะ
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเลื่อมใสศรัทธาในลัทธิศาสนาอื่นมาก่อน เจ้าลัทธิในสมัยนั้นได้แก่ครูทั้งหก          มีสัญชัยเวลัฏฐบุตรเป็นต้น วันหนึ่งได้เชิญครูทั้งหกเข้าไปฉันอาหารในพระบรมมหาราชวัง และได้ทรงถามครูทั้งหกว่า ผู้ใดสามารถบอกได้ว่าท่านเป็น “ผู้รู้” (พุทธะ) เจ้าลัทธิไม่มีใครกล้ายืนยันว่าตนเป็น “ผู้รู้” เพราะว่าถ้าตอบว่า “รู้” ก็เกรงอาญาแผ่นดิน หากถูกจำได้ว่ารู้ไม่จริง ครั้นจะตอบว่า “ไม่รู้” ก็เกรงจะขาดศรัทธา จึงพากันนั่งนิ่งเสีย 
ต่อมาเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลได้พบพระพุทธเจ้าได้ทรงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ครูทั้งหกเป็นผู้มีอายุมากแล้ว มีประสบการณ์ก่อน ทำไมจึงไม่กล้ายืนยันว่าเป็นผู้รู้ แต่พระพุทธเจ้าทรงมีอายุน้อยกว่า กลับกล้ายืนยันว่าเป็นผู้รู้และก็รู้แล้วจริงๆ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่ามหาบพิตรไม่ควรดูถูกของ ๔ อย่างคือ ๑. ไฟว่ามีประมาณเล็กน้อย  ๒.งูอสรพิษว่าตัวเล็ก  ๓. ยาพิษ  ๔. พระภิกษุผู้สำเร็จอรหันต์แล้วแม้มีอายุน้อย ในที่สุดพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาหันมานับถือพระพุทธศาสนา ทรงมีความรักความเคารพในพระพุทธเจ้ามาก และทรงนำเอา       พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่เคารพ
วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพระประสงค์จะบำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยพระองค์เองจึงเสด็จไปยังวิหาร ทรงนิมนต์พระบรมศาสดาพร้อมภิกษุอีกพันรูปมารับภัตตาหารในพระราชนิเวศน์และพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงถวายทานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองเป็นเวลา ๗ วันติดต่อกัน ในวันที่ ๗ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทูลพระบรมศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป เสด็จมารับภัตตาหารในพระราชนิเวศน์เป็นประจำด้วยเถิด” พระพุทธองค์จึงตรัสตอบว่า “มหาบพิตร พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่อาจจะรับภิกษาประจำในที่แห่งเดียว เพราะประชาชนจำนวนมากต้องการพบปะและถวายทานกับพระพุทธเจ้า” พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงกราบทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงส่งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไปแทน พระพุทธองค์จึงมอบหมายให้พระอานนท์รับหน้าที่ไปแทน
พระอานนท์พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวน ๕๐๐ รูปไปรับบิณฑบาตในราชสำนัก พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงถวายติดต่อกันอยู่ ๗ วัน พอวันที่ ๘-๑๐ ได้ทรงลืมถวายจึงทำให้พระภิกษุรูปอื่นๆปลีกไปที่อื่นเพิ่มมากขึ้น เหลือเพียงพระอานนท์รูปเดียว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพิโรธ คิดว่าพระภิกษุสงฆ์รังเกียจ จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลว่า มีแต่พระอานนท์เพียงรูปเดียวไปรับบิณฑบาตทำให้ของเหลือเสียหายมาก พระพุทธเจ้าไม่ทรงตำหนิพระภิกษุตรัสถึงมูลเหตุให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบ และทรงยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของพระองค์เองพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงรักเคารพพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำอย่างไร ก็ทรงพร้อมที่จะปฏิบัติตามนั้นด้วยความเคารพศรัทธา เช่น พระพุทธเจ้าทรงขอให้สร้างวัดสำหรับพระภิกษุณี ในที่ที่เหมาะสมและปลอดภัย พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงสนองเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี และยังได้ทรงสร้างวัดถวายพระพุทธเจ้าอีกด้วย ชื่อวัด “ราชการาม”  อยู่ในเมืองสาวัตถีนั้นเอง 

ในบั้นปลายชีวิต พระเจ้าปเสนทิโกศลถูกพระโอรสพระนามว่า “วิฑูฑภะ” ยึดอำนาจ สถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์แทน พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสร็จไปขอกำลังจากพระเจ้าอชาตศัตรูผู้เป็นหลานให้ยกกำลังมาช่วย แต่เสด็จไปถึงกรุงราชคฤห์เป็นเวลาที่ประตูเมืองปิด ไม่สามารถเข้าเมืองได้ต้องประทับค้างคืนที่ประตูเมือง ประกอบกับเสด็จมาไกลทั้งมีพระชนมายุมาก (๘๐ พรรษา) แล้ว จึงสิ้นพระชนม์อยู่ที่หน้าประตูเมืองนั่นเอง   รุ่งเช้าพระเจ้า               อชาตศัตรูทรงทราบและเสด็จมาพบเข้าจึงทรงรับสั่งให้นำพระศพเข้าไปบำเพ็ญพระราชกุศลในเมืองอย่างสมพระเกียรติ
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th