หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
พุทธบริษัท 4
พระอุบาลี

พระอุบาลีเป็นบุตรของช่างกัลบก ในกรุงกบิลพัสดุ์ มีการศึกษาไม่สูงเด่นนัก เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มบิดาดา นำเขาไปถวาย ให้เป็นนายภูษามาลา ในพระราชสำนักของศากยราช จึงมีโอกาสได้สนิทสนมคุ้นเคยกับเจ้าชายแห่งราชวงศ์ศากยะ แทบทุกพระองค์ ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ อนุปิยอัมพวัน ซึ่งอยู่ในแคว้นมัลละ เจ้าชายแห่งศากยวงศ์ 5 พระองค์ คือ ภัททิยะ  อนุรุทธะ อานนท์ ภัคคุ และกิมพิละ กับเจ้าชายแห่งโลกิยวงศ์อีกพระองค์หนึ่ง คือ พระเทวทัต ตัดสินใจออกผนวช อุบาลี ก็เลยขอติดตามออกบวชด้วย โดยเดินทางออกจากแคว้นสักกะด้วย ขบวนจตุรงคเสนา ประหนึ่งเสด็จไปประพาสพระราชอุทยาน พอถึงชายแดนระหว่างแคว้นสักกะกับแคว้นมัลละ ได้ส่งให้กองดุริยางค์เหล่านั้นกลับ แล้วค่อยเดินทางสู่ดินแดนของแคว้นอื่นอย่างสงบให้เกียรติแก่ กษัตริย์แห่งแคว้นนั้น เจ้าชายทั้ง 5 พระองค์ ทรงเปลื้องอาภรณ์ของตนออกห่อให้เรียบร้อย แล้วมอบแก่ อุบาลี พร้อมทั้งกล่าวว่า “นี่นะอุบาลีขอให้เธอกลับบ้านไปเถอะ ทรัพย์สินเหล่านี้คงจะพอเลี้ยงชีวิตของเธอได้อย่างสบาย” ฝ่าย อุบาลี พอได้ยินเช่นนั้นก็เสียใจ ร้องไห้กราบพระบาทของเจ้าชายทั้ง 5 ขอออกบวชด้วย ตอนแรกเจ้าชายทั้ง 5 ไม่ยอม นายอุบาลีไม่อาจจะขัดขืนคำสั่งได้ จึงลุกขึ้นเอาห่อของนั้นเดินทางกลับ พอคนทั้ง 7 เกิดแยกเป็น 2 กลุ่ม ปรากฏการณ์อันประหลาดก็เกิดขึ้นพายุพัดต้นไม้โอนไปเอนมา เสียงดังเหมือนป่ากำลังคำครวญร้องไห้เหมือนแผ่นดินสะเทือน บ่งบอกว่าแม้ธรรมชาติก็เสียใจ เมื่อ อุบาลี เดินทางกลับไปได้หน่อยหนึ่งก็ฉุกคิดว่า “ถ้าประชาชนชาวแคว้นสักกะเห็นเรานำสิ่งของอันมีค่าของเจ้าชายทั้ง 5 องค์นี้กลับมา อาจคิดและสงสัยว่า เจ้าชายทั้ง 5 คงถูก อุบาลี ปลงพระชนม์เสียแล้ว จึงปลดเปลื้องเอาแต่ของมีค่ามาเป็นของคนดังนี้ แล้วเราจะตอบเขาว่าอย่างไร ก็ในเมื่อเจ้าชายเหล่านี้ทรงสละสมบัติอันล้ำค่าเหล่านี้เหมือนเสลดน้ำลาย แล้วเรายังจะรับเอาไว้ อยู่หรือ” ครั้งคิดได้ดังนั้นแล้ว จึงแก้ห่อของนั้นออก เอาเครื่องทรงเหล่านั้นแขวนไว้บนต้นไม้ พร้อมทั้งเขียนบอกไว้ว่า “เมื่อใครมาพบอยากได้ก็จงเอาไปเถิด” แล้วเดินทางย้อนกลับไปหาเจ้าชายเหล่านั้นอีก เมื่อถูกถามว่าทำไมเจ้าจึงกลับมา ก็กราบทูลความคิดที่ทำให้ตัดสินใจกลับพร้อมทั้งพฤติกรรมที่ได้กระทำนั้นให้ทรงทราบอย่างละเอียด  ครั้นแล้วทั้ง 7 คน ก็เดินทางร่วมกันต่อไปพอถึงสำนักของพระบรมศาสดาพากันถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้ว กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายประสงค์จะอุปสมบท แต่ชื่อว่าเป็นเชื้อ พระวงศ์แห่งศากยราช มีความถือตัวของข้าพระองค์จักลดลงไปด้วยอาการอย่างนี้” อุบาลีจึงได้บวขเป็นคนแรก เมื่อพระอุบาลีบวชแล้ว พระบรมศาสดาทรงสั่งสอน พระกัมมัฏฐาน ให้เห็นแนวในการปฏิบัติสมณธรรมท่านตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ตั้งใจบำเพ็ญเพียรไม่นานนักก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และได้ศึกษาทรงจำพระวินัยปิฎกได้อย่างแม่นยำ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพระวินัย จนหาใครเทียบได้ ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระองค์ทรงมอบหมายให้ท่านวินิจฉัยอธิกรณ์ 3 เรื่องคือ
     1. ภารตัจฉกวัตถุ
     2. อัชชุกวัตถุ
     3. กุมารกัสสปวัตถุ
พระอุบาลีก็วินิจฉัยได้อย่างถูกต้องเป็นที่ยอมรับของพระภิกษุสงฆ์ทั้งมวล พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในการทรงจำพระวินัย ภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วพระมหากัสสปเถระกระทำปฐมสังคายนา จึงมอบหมายให้พระอุบาลีเถระเป็นผู้วิสัชนา ในพระวินัยปิฎกทั้งหมด คือพระมหากัสสปเถระในฐานะประธานในการทำสังคายนาจะเป็นผู้ถามไปทีละข้อๆ เริ่มแต่บทบัญญัติที่มีโทษหนักที่สุก คือ ปาราชิก เป็นต้น พระอุบาลีเถระตอบได้อย่างถูกต้อง และเพื่อป้องกันความผิดพลาด จึงให้พระสงฆ์นำมาสวดให้กันฟังทุก 15 วัน ซึ่งเราเรียกว่า “สวดปาฏิโมกข์”ตราบเท่าทุกวันนี้ ท่านอุบาลีเถระถือได้ว่าเป็นพระเถระที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่พระศาสนาอย่างมากองค์หนึ่ง ท่านดำรงสังขารอยู่ตามสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธนิพพาน


Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th