หน้าแรก | ||||||
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม |
||||||
สารบัญ | ||||||
พระประจำวัน | พระพุทธรูปประจำวันศุกร์ |
พระประจำวันศุกร์ คือ พระพุทธรูป ปางรำพึง ลักษณะพระพุทธรูป พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระบาททั้งสองประทับยืนชิดติดกัน ประวัติและความสำคัญ เมื่อตปุสสะและภัลลิกะ ๒ พาณิชกราบทูลลาไปแล้ว พระพุทธองค์เสด็จกลับจากร่มไม้ราชายตนะ ไปประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชลปาลนิโครธอีกครั้งหนึ่ง และทรงรำพึงถึงธรรม ที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วนั้นว่า เป็นธรรมประณีตละเอียดสุขุมคัมภีรภาพ ยากที่บุคคลจะรู้ได้ ทำให้ท้อแท้พระทัยถึงกับทรงดำริจะไม่แสดงธรรมแก่มหาชน ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบวาระจิตของพระพุทธองค์ จึงร้องประกาศชวนเทพยดาทั้งหลาย พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ยังที่ประทับ ฯ ควงไม้อชปาลนิโครธ ถวายอภิวาทแล้วกราบ ทูลอาราธนาพระพุทธองค์ ขอให้ทรงแสดงธรรมโปรดประชาชน เพื่อบุคคลผู้มีธุลีในนัยน์ตาน้อย ทั้งมีอุปนิสสัยอันจะเป็นพุทธสาวก จะได้ตรัสรู้ธรรมบ้าง พระพุทธองค์ทรงรำพึงถึงธรรมเนียม ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อนว่า ได้ตรัสรู้แล้วย่อมทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนทั้งหลาย ประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้แผ่ไพศาล เพื่อประโยชน์สุขแก่ปัจฉิมชนผู้เกิดมาภายหลัง แล้วจึงเสด็จปรินิพพาน จึงได้น้อมพระทัยไปในอันแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ในโลก แล้วพระพุทธองค์ ทรงพิจารณาอีกว่า จะมีผู้รู้ถึงธรรมนั้นบ้างหรือไม่ ก็ทรงทราบถึงอุปนิสัยของบุคคลทั้งหลาย ในโลกนี้ย่อมมีต่าง ๆ กัน คือ ทั้งประณีต ปานกลางและหยาบ ที่มีนิสัยดีมีกิเลสน้อยเบาบาง มีบารมีที่ดีสั่งสม อบรมมาแล้ว ซึ่งพอจะตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้ก็มีอยู่ ผู้มีอินทรีย์ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิปัญญากล้าก็มี ผู้มีอินทรีย์อ่อนก็มี เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่ายก็มี เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยยากก็มี เป็นผู้สามารถจะรู้ได้ก็มี เป็นผู้ไม่สามารถจะรู้ได้ก็มี บุคคลจึงเปรียบเหมือนดอกบัวที่เกิดในน้ำเจริญในน้ำ น้ำเลี้ยงอุปถัมภ์ไว้ บางเหล่ายังจมอยู่ในน้ำ บางเหล่าอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าขึ้นพ้นน้ำแล้วในดอกบัว ๓ เหล่านั้น ดอกบัวที่ขึ้นพ้นน้ำแล้วนั้นคอยสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์อยู่จักบาน ณ เช้าวันนี้ ดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้ำ จักบาน ณ วันพรุ่งนี้ ดอกบัวที่ยังไม่ขึ้นจากน้ำ ยังอยู่ภายในน้ำ จักบานในวันต่อ ๆ ไป ดอกบัวที่จะบานมีต่างชนิดฉันใด เวนัยสัตว์ที่จะตรัสรู้ธรรมก็มีต่างกัน ฉันนั้นเหมือนกัน คือ ผู้มีกิเลสน้อยเบาบาง มีอินทรีย์แก่กล้า เป็นผู้ที่พึงสอนให้รู้ได้โดยง่าย และอาจจะรู้ธรรมพิเศษนั้นได้โดยฉับพลัน ผู้มีคุณสมบัติเช่นนั้นเป็นประมาณปานกลาง เมื่อได้รับอบรมในปฏิปทาอันเป็นบุพพาค จนมีอุปนิสสัยแก่กล้าดังกล่าว แต่ยังอ่อน ก็ยังควรได้รับการแนะนำในธรรมเบื้องต่ำต่อไปก่อนเพื่อบำรุงอุปนิสัย เมื่อเป็นเช่นนี้ พระธรรมเทศนาของพระองค์คงไม่ไร้ผล จักยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่คน ทุกหมู่เหล่า เว้นแต่จำพวกปทปรมะ ซึ่งมิใช่เวไนย คือ ไม่รับการแนะนำ ซึ่งเปรียบด้วยดอกบัวอ่อน อันจะเป็นภักษาหารของปลาและเต่าต่อไป ครั้นพระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณ หยั่งทราบเวไนยสัตว์ผู้จะรับประโยชน์จากพระธรรมเทศนาแล้ว ก็ทรงอธิษฐานพระหฤทัยในอันจะแสดงธรรมสั่งสอนไวไนยสัตว์ และตั้งพุทธปณิธานจะใคร่ดำรงพระชนม์อยู่จนกว่าจะได้ประกาศพระพุทธศาสนา ให้แพร่หลายประดิษฐานให้มั่นคงสำเร็จประโยชน์แก่ชนนิกรทุกหมู่เหล่าต่อไป พระพุทธจริยาที่ทรงรำพึงถึงธรรมที่จะแสดงโปรดชนนิกรผู้เป็นเวไนยบุคคลนั้นแล เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า ปางรำพึง |
||
Copyright By : Chalengsak
Chuaorrawan Sainampeung School 186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com Tel; 089-200-7752 mobile |
|
http://www.sainampeung.ac.th |