หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
ศาสนากับสังคม
วัฒนธรรม
          วัฒนธรรม หมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นรูปธรรมและนามธรรม ที่แสดงออกถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ ตลอดจนศีลธรรมอันดีของประชาชน
สังคมไทย มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เป็นแบบของตนเอง ประกอบด้วยเนื้อหา 4 ประการดังนี้
1. คติธรรม เป็นวัฒนธรรมทางด้านศีลธรรม เป็นจารีตประเพณีซึ่งถือเป็นหลักของการดำเนินชีวิต ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาซึ่งสอนในเรื่องของกรรม โดยสอนให้เชื่อในเหตุและผลความเป็นไปในธรรมชาติ มากกว่าความศรัทธา
2. เนติธรรม เป็นวัฒนธรรมทางด้านกฎหมาย หรือขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีความสำคัญเสมอด้วยกฎหมายหรือการกระทำบางอย่างที่ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ แต่ถ้าใครทำเข้าก็เป็นที่รังเกียจของสังคม เช่นพ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงดูบุตรถ้าพ่อแม่เพิกเฉยละทิ้งหน้าที่ ก็จะถูกกฎหมายลงโทษ แต่เมื่อลูกโตขึ้นไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย บ้านเมืองจะลงโทษไม่ได้ แต่จะเป็นที่ครหานินทาของสังคม ทั้งนี้เพราะพุทธศาสนาสอนในเรื่องของความกตัญญูต่อบุพการี
3. สหธรรม เป็นวัฒนธรรมทางสังคม หรือวัฒนธรรมในการติดต่อเกี่ยวข้องกับกลุ่มชน เป็นมารยาทในสังคม เช่น การมารยาทในการพูด การใช้ภาษา มารยาทการรับประทานอาหาร ฯลฯ
4. วัตถุธรรม เป็นวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรม ที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น โดยไม่ได้หมายถึงเฉพาะวัตถุทางศิลปกรรมเท่านั้น ยังรวมถึงบ้านเรือน เครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้ ถนนหนทาง เครื่องอำนวยความสะดวกทุกชนิดก็จัดเป็นวัตถุธรรมทั้งสิ้น
วัฒนธรรมไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนา ทำให้คนไทยมีลักษณะดังนี้
1. ทางด้านคติธรรม มีความเชื่อในกฎแห่งกรรม คือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คนไทยจึงมีความอดทน รักความเป็นอิสระ แต่ก็ยอมรับสภาพความทุกข์ที่ได้รับ โดยถือว่าเป็นผลแห่งกรรมเก่าของตน แต่ก็มีความหวังว่าชีวิตใหม่จะดีขึ้น ถ้าทำแต่ความดี ผลแห่งความดีก็จะสนองให้เห็นทันตา
2. ทางด้านเนติธรรม มีความเคารพในสิทธิของผู้อื่น มีระเบียบวินัย เพราะมีหลักคำสอนทางพุทธศาสนา ที่ห้ามลักทรัพย์ ห้ามประพฤติผิดทางเพศ ห้ามโกหก ฯลฯ หลักกฎหมายต่าง ๆ ที่คนไทยบัญญัติขึ้นก็ใช้หลักทางพุทธศาสนา
3. ทางด้านสหธรรม มีคุณธรรมต่าง ๆ ที่ทำให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข เช่นมีจิตใจโอบอ้อมอารี ไม่ผูกพยาบาท
นอบน้อมถ่อมตน มีความเกรงใจผู้อื่น เชื่อฟังเคารพนับถือบุคคลตามลำดับอาวุโสและยึดมั่นในความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ
4. ทางด้านวัตถุธรรม มีศรัทธามั่นคงในการทำบุญและให้ทาน ด้วยเหตุนี้คนไทยนิยมสร้างวัดวาอาราม พระเจดีย์ พระพุทธรูป ดังนั้นศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรมต่าง ๆ จึงเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoeay Khlongtoeay Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th