หน้าแรก | โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ |
|
กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม |
||
สารบัญ | ||
หน่วยที่ 4 | การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม | |
บทที่ 11 | วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมโลก | |
สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ทั้งที่มนุษย์สร้างขึ้นและสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม (สามารถจับต้องและมองเห็นได้) อาทิ ดิน หิน แร่ ภูเขา ป่าไม้ วัฒนธรรมแบบแผน ประเพณี ความเชื่อ รวมถึงตัวมนุษย์เองด้วย ซึ่งมีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่ง จะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายอีกส่วนหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สิ่งแวดล้อมเป็นวงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ |
||
การเพิ่มขึ้นของประชากรทั่วโลกอยู่ในอัตราทวีคูณ ถึงแม้จะมีการวางแผนในการลดจำนวนประชากรแล้วก็ตาม การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกเป็นเหตุให้มีการใช้ทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น อีกสาเหตุหนึ่งคือมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การใช้ทรัพยากร เกินความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การเร่งรัดนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้มากที่สุดเพื่อความสะดวกสบายของมนุษย์ โดยไม่มีการวางแผนให้สามารถมีทรัพยากรใช้ต่อไปได้นานๆ อาจทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์แย่ลงไป เนื่องจากจะมีปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ก่อให้เกิดภาวะมลพิษ pollution ต่างๆ อาทิ มลภาวะในอากาศ มลภาวะในน้ำ ในอาหาร แหล่งเสื่อมโทรมและของเหลือทิ้ง ขยะมูลฝอยสิ่งปฏิกูล วัสดุทิ้งเสียจากอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย เช่น โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง สารพิษตกค้างต่างๆ แม้กระทั่งขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายไปได้ตามธรรมชาติ ทำให้เกิดวิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ล้วนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีววิตของมนุษย์ทั้งสิ้น |
||
สารมลพิษแบ่งออกตามสถานะจะมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1. สารมลพิษที่อยู่ในสถานะก๊าซ เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ของธาตุกำมะถัน ไนโตรเจน และคลอรีน เป็นต้น 2. สารมลพิษที่อยู่ในสถานะของเหลว เช่น ละอองน้ำกรดต่าง ๆ ของธาตุกำมะถัน ไนโตรเจนที่ละลายอยู่ในน้ำฝน หรือละลายอยู่ในน้ำใต้ดิน หรืออยู่ในน้ำเสียจากน้ำทิ้งตามบ้านเรือน และจากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เมื่อไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองก็จะทำให้น้ำเสีย ทำให้พืชและสัตว์น้ำบางชนิดตายและสูญพันธุ์ 3. สารมลพิษที่อยู่ในสถานะของแข็ง เช่น เขม่าควัน สารสังเคราะห์บางอย่างที่ใช้แล้วสลายตัวยาก อาทิ ถุงพลาสติก โฟม และไฟเบอร์ เป็นต้น |
||
วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม เป็นคำที่ไม่ระบุ ความหมายไว้เป็นการเฉพาะแต่มีการให้ความหมายของคำ ที่เกี่ยวข้องไว้ 2 คำดังนี้ 1 คำว่า “วิกฤตการณ์” หมายถึง เหตุการณ์ที่อยู่ในขั้นอันตราย เป็นช่วงหัวเลียวหัวต่อถึงขั้นแตกหัก 2 คำว่า “สิ่งแวดล้อม” หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราทั้งที่ธรรมชาติสร้างและมนุษย์สร้าง สรุปได้ว่า “วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม” หมายถึง เหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วงและอันตราย การลดน้อยลงของปริมาณทรัพยากรธรรมชาติอาจถึงขั้นขาดแคลนจนก่อให้เกิดวิกฤต |
||
องค์การสหประชาชาติได้เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงจัดให้มีการประชุมเรียกว่า การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อม UN Conference on the Human Environment ณ กรุงสตอกโฮม ประเทศสวีเดน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมพิจารณาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ต่างๆ ที่แต่ละประเทศสมาชิกกำลังประสบอยู่อย่างเร่งด่วน ซึ่งประเด็นสำคัญในการหารือก็คือ ทุกๆ ประเทศสมาชิกต่างต้องสรรหาวิธีการดูแลแก้ไขปัญหา และให้ความตื่นตัวเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของทุกภูมิภาคทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายใต้การกำกับดูแลของ องค์การสหประชาชาติ United Nations และได้สถาปนาวันสิ่งแวดล้อมขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2515 องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้ 5 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็น "วันสิ่งแวดล้อมโลก" World Environment Day | ||
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School 186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Klongtoei Klongtoei Thailand e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com Tel; 089-200-7752 mobile |
|