หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
 
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
 
หน่วยที่ 8 เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
  8.6 องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคต่างๆของโลก
  586.การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
  การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจนั้นอาจแบ่งลักษณะในการรวมตัวออกเป็น 5 ระดับด้วยกัน
  1. เขตการค้าเสรี ( Free Trade Area)
  2. สหภาพศุลกากร ( Customs Union)
  3. ตลาดร่วม ( Common Market)
 
  4. สหภาพทางเศรษฐกิจหรือทางการเงิน ( Economic Union หรือ Monetary Union )
  5. สหภาพเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบ (Total Economic Union)
   
  ระดับแรกเป็นการรวมตัวที่เรียกว่า เขตการค้าเสรี ( Free Trade Area) เป็นลักษณะการรวมกลุ่มที่ประเทศสมาชิกเปิดโอกาสให้เคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างกันได้โดยเสรี กล่าวคือ ไม่มีการเก็บภาษีศุลกากรและไม่มีโควต้า
   
  ระดับที่สองเป็นการรวมกลุ่มที่ลึกซึ้งกว่าระดับแรกเรียกว่า สหภาพศุลกากร ( Customs Union) เป็นลักษณะการรวมกลุ่มที่นอกจากจะเป็นเขตการค้าเสรีแล้ว ประเทศสมาชิกยังประสบความสำเร็จในการประสานภาษีศุลกากรที่ใช้กับสินค้าที่มาจากประเทศที่สามให้อยู่ในระดับเดียวกัน
     
  ระดับที่สามเป็นการรวมกลุ่มที่เราเรียกว่าตลาดร่วม ( Common Market) กล่าวคือ สินค้าและปัจจัยการผลิตอื่นๆ อันได้แก่ เงินทุน แรงงาน และบริการ จะมีการเคลื่อนย้ายเสรีในประเทศสมาชิกลักษณะการรวมตัวเป็นตลาดร่วมนั้นจะมีความลึกซึ้งกว่าเขตการค้าเสรี ในประเด็นที่ว่า เขตการค้าเสรีนั้นจะเปิดโอกาสให้ปัจจัยการผลิตประเภทเดียวคือ สินค้าสมารถเคลื่อนย้ายโดยเสรี แต่ในตลาดร่วมนั้นปัจจัยการผลิตที่จะเปิดให้เคลื่อนย้ายโดยเสรีนั้น มี 4 ส่วนด้วยกัน คือ นอกจากสินค้าแล้ว ยังมี เงินทุน แรงงาน และบริการ ก็มีการเคลื่อนย้ายโดยเสรีด้วย โดนเฉพาะในการปล่อยให้เกิดการเคลื่อนย้ายโดยเสรีในปัจจัยการผลิตทั้งสามประเภทหลังที่กล่าวนั้น ย่อมหมายถึงการปรับตัวบทกฏหมายเพื่อให้มีความเท่าเทียมกันหรือลักษณะเหมือนกัน สำหรับประเทศสมาชิก  
     
  ระดับที่สี่ เป็นการรวมตัวที่ลึกซึ้งกว่าเป็นตลาดร่วม เราเรียกว่า สหภาพทางเศรษฐกิจหรือทางการเงิน ( Economic Union หรือ Monetary Union ) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในลักษณะนี้ ย่อมหมายถึงการรวมกลุ่มที่ลึกซึ้งกว่าเป็นตลาดร่วมเพราะนอกเหนือจากจะเปิดให้ปัจจัยการผลิตสามารถเคลื่อนย้ายโดยเสรีแล้ว ยังหมายถึงความสำเร็จในการประสานนโยบายเศรษฐกิจ และการเงินระหว่างประเทศสมาชิก  
     
  ระดับสุดท้ายเป็นระดับสูงสุด เราเรียกว่าสหภาพเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบ (Total Economic Union) ในการรวมกลุ่มในลักษณะนี้นั้น ประเทศสมาชิกประสบความสำเร็จถึงขั้นที่ดำเนินนโยบายและการเงินในลักษณะที่เป็นหนึ่งเดียว ความแตกต่างระหว่างระดับที่สี่คือ สหภาพเศรษฐกิจและการเงินกับระดับที่ห้า คือ ระดับสมบูรณ์แบบ อยู่ตรงประเด็นที่ว่า ในระดับที่สี่นั้นประเทศสมาชิกจะประสบความสำเร็จเพียงการประสานนโยบายทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ยังมีความแตกต่างกันในระดับหนึ่ง แต่ในการรวมกลุ่มขั้นเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบนั้นประเทศสมาชิกจะดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินเป็นหนึ่งเดียว  
     
               โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงของระบบโลกโลกยุคหลังสงครามเย็น เป็นตัวกำหนดและเป็นตัวเร่งทำให้เกิดความจำเป็นต้องรวมกลุ่ม
เพื่อขยายอำนาจต่อรองและสร้างศักยภาพในการแข่งขัน ในบริษัทดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่า
NAFTA และ AFTA ก็ได้ก่อกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันแรงผลักดัน ที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจนั้น อาจกล่าวได้ว่าเกิดจากปัจจัยต่างๆ หลายประการด้วยกัน
 
     
  ประการแรก การรวมกลุ่มในทางเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นที่จะสร้างศักยภาพในแง่ของการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ตลอดจนกระทั่งสร้างอำนาจต่อรองการรวมตัวของประชาคมยุโรปเพื่อที่จะให้เป็นยุโรปตลาดเดียวมีพื้นฐานของตรรกะ ในแง่ที่ต้องการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อแข่งขันกับญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา  
     
                โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคำนึงถึงลักษณะของต้นทุนต่อหน่วยที่เราเรียกว่า Economy of Scale การพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยต้นทุน และขนาดตลาดที่ใหญ่โต ซึ่งจะเกิดขึ้นมาได้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ การพัฒนาสู่ยุโรปตลาดเดียวจึงมีตรรกะบนพื้นฐานของการสร้างขนาดให้ใหญ่โต และมีพลังพอที่จะกระตุ้นการพัฒนาทางเทคโนโลยี และความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับการท้าทายที่มาจากประเทศสหรัฐฯ และญี่ปุ่น การก่อกำเนิดของ AFTA (ASEAN Free Trade Area) และ NAFTA (North American Free Trade Agreement)  
  ก็เช่นเดียวกันเป็นผลมาจากความจำเป็นในการที่เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันและสร้างอำนาจต่อรอง ในโลกของการขยายตัวในด้านการแข่งขันในบริบทของโลกานุวัตร  
     
  ประการที่สอง การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจนั้น อาจจะเป็นผลหรือแรงผลักดันที่ลึกๆในแง่ของการเมืองอยู่ การรวมกลุ่ม ในทางเศรษฐกิจอาจหมายถึงเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเพื่อสร้างความแน่นแฟ้นในการรวมตัวทางการเมืองในอนาคต  
     
                  ดังจะเห็นได้ว่าการก่อกำเนิดของประชาคมถ่านหินและเหล็กยุโรปนั้นมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นกลไกกระตุ้นให้เกิดการรวมตัว ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และถ่านหินและเหล็กยุโรปนั้นมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นกลไกกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และพยายามที่จะใช้เป็นกลไกกระตุ้นสู่ การรวมตัวทางการเมืองตามที่ผู้ก่อตั้งต้องการ และตรรกะในตัวมันเอง การรวมตัวทางเศรษฐกิจนั้นย่อมเสริมสร้างพลังอำนาจต่อรองทางการเมือง และอาจนำไปสู่การรวมตัวทางการเมืองเป็นกิจจะลักษณะอีกทางหนึ่งด้วย  
     
  ประการที่สาม การรวมกลุ่มในทางเศรษฐกิจนั้น ส่วนหนึ่งก็มีความสัมพันธ์กับเป้าหมายที่สัมพันธ์กันในแง่ของวัฒนธรรม การรวมกลุ่มในทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาคมยุโรปก็มีต้นกำเนิดมาจากลักษณะของประเทศที่มีวัฒนธรรม ใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ตาม ในโลกของการแข่งขันนั้นความสำคัญของวัฒนธรรมที่เป็นแรงกระตุ้นของการรวมตัวนั้นยังมีน้อยไปกว่า ลักษณะของเศรษฐกิจที่มีส่วนเสริมซึ่งกันและกัน
Complementarity
 
     
                 ดังจะเห็นได้ว่า ในกรณีของเขตการค้าเสรีอาเซียน แม้ว่าวัฒนธรรมในประเทศ ตลอดจนประวัติศาสตร์ของกลุ่มประเทศนั้น ยังมีลักษณะแตกต่างกัน แต่ตัวเร่งที่ทำให้เกิดผลสำเร็จในการรวมตัวของอาเซียน ก็คือปัจจัยของลักษณะเศรษฐกิจที่เริ่มลักษณะเสริมกันและกันมากขึ้น และที่สำคัญก็คือ ความจำเป็นในการที่เสริมสร้างพลังต่อรองที่เกิดขึ้น ความสำเร็จของประชาคมยุโรปที่มีมาตั้งแต่ต้นนั้น ก็มาจากปัจจัยเดียวกันก็คือลักษณะเศรษฐกิจที่มีส่วนเสริมซึ่งกันและกัน  
     
                 การพัฒนาตลาดร่วมยุโรปนั้นเป็นผลมาจากอำนาจต่อรองที่สำคัญและให้ผลประโยชน์ต่างกัน ตอบแทนแก่ประเทศสมาชิก เช่น ในกรณีของอิตาลีก็จะได้ผลประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายแรงงาน ในขณะที่ฝรั่งเศสนั้น ก็จะได้ประโยชน์จากการขยายตลาดสินค้าเกษตร และขณะเดียวกันเยอรมันก็ได้ประโยชน์จากการขยายตลาดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร  
     
                 เพราะฉะนั้นลักษณะที่เสริมต่อกันทางเศรษฐกิจจึงเป็นปัจจัยตัวหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการขยายตัวของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
ในโลกปัจจุบันเราอาจจะเห็นได้ว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สำคัญนั้น มีอยู่ 3 กลุ่ม ลักษณะการรวมตัวในอเมริกาเหนือ คือ เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ NAFTAอันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก หรือ การรวมตัวของ 6 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เราเรียกว่า AFTA ก็ดีนั้น จะมีลักษณะที่คล้ายกันหรือเหมือนกัน เพราะว่ามีลักษณะกำหนดทิศทางสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกนั้น ไม่มีโควต้าและไม่เสียภาษี
 
     
                 ในกรณี AFTA นั้น มีเงื่อนระยะเวลาในการบรรลุ 15 ปี โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 และเมืองครบกำหนดแล้วสินค้าทุกประเภท ยกเว้นสินค้าเกษตร จะมีภาษีเท่ากับศูนย์หรือไม่เกินร้อยละ 5 ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของการรวมกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์นั้น คงจะส่งผลให้โครงสร้างทางการค้าและการลงทุนของประเทศในอาเซียน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลักษณะของการค้าที่มีการขยายตัวในการลงทุนข้ามชาติ และทำให้เกิดการเชื่อมต่อในด้านการเงิน  
     
                ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การย้ายฐานการผลิต ผลจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นในกรณีของ นาฟต้า NAFTA สหภาพยุโรป หรือ อาฟต้า AFTA ก็ดี ย่อมส่งผลให้ธุรกิจนั้นจำเป็นต้องปรับหรือย้ายฐานการผลิต เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงการค้าในบางครั้งอาจจะถูกทดแทนด้วยการร่วมทุน ทั้งนี้เพราะความจำเป็นในการที่จะต้องขยายหรือรักษาตลาดการส่งออกภายใต้สิทธิพิเศษทางภาษี ที่มีการเปลี่ยนแปลง
การรมกลุ่มในทางเศรษฐกิจของภูมิภาคต่างๆนั้น ว่ากันไปแล้วจะมิใช่การรวมกลุ่มเพื่อทำสงครามการค้า แต่จะเป็นการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในโลกที่มีการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนที่ไร้พรมแดน ในกระบวนการรวมกลุ่มทั้งหมดนั้น
 
     
                  เราจะเห็นว่าสหภาพยุโรปนั้นลักษณะการรวมกลุ่มจะมีความซีบซ้อนและมีความลึกซึ้งแตกต่างกันหลายระดับ ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการรวมตัวที่ลึกซึ้งที่สุด ที่เรียกว่าเป็นการรวมตัวแบบสหภาพทางการเงินเศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งเรียกรวมกันว่า “ สหภาพยุโรป “ นั้นประกอบด้วย 12 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักซัมเบอร์ก อังกฤษ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ (Ireland) กรีก สเปน และโปรตุเกส ซึ่งได้บรรลุตั้งแต่ปลายปี 1992 ของการเป็นยุโรปตลาดเดียว  
     
  หรือการเป็นตลาดร่วมยุโรปและกำลังมุ่งเป้าสู่การเป็นสหภาพทางการเงินทางเศรษฐกิจและการเมือง ในอนาคตตามพื้นฐาน สนธิสัญญามาสทริกส์ ซึ่งนั่นหมายความว่า ในอนาคตการรวมกลุ่มของ 12 ประเทศนี้ ถ้าเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ จะเป็นการรวมกลุ่มที่ไม่ใช่จำกัดแค่มิติทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ขยายไปสู่มิติทางการเมือง อันหมายถึงการประสานนโยบายทางด้านเกี่ยวกับกลาโหมและต่างประเทศ  
     
                    ในยุโรปนั้น นอกจากสหภาพยุโรปนั้น ยังมีการรวมตัวของอีก 7 ประเทศในลักษณะที่เป็นเขตการค้าเสรี ซึ่งเรียกว่าเขตการค้าเสรียุโรป EFTA   อันประกอบด้วย สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ Ireland ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ และ ลิกเซนท์ไตล์ Liechentein
ซึ่งมีการรวมตัวกันมาตั้งแต่ปี 1959 โดยการริเริ่มของประเทศอังกฤษ
 
     
                    อย่างไรก็ตาม  เมื่อประเทศอังกฤษได้ลาออกไป เพื่อเข้าเป็นสามชิกของสมาคมยุโรปในปี 1973 สมาคมเขตการค้าเสรียุโรป ที่เราเรียกว่า EFTA นี้ จึงเหลืออยู่ 7 ประเทศ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันในลักษณะที่ให้สินค้าด้านอุตสาหกรรมเคลื่อนย้ายอย่างเสรีในประเทศสมาชิก  
     
                   อย่างไรก็ตาม 4 ประเทศ สมาชิกของเขตการค้าเสรียุโรปอันประกอบด้วย ออสเตรีย นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และสวีเดน นั้น ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป และถ้าหากว่าผ่านกลไกในการหยั่งเสียงเรียบร้อยแล้วก็อาจจะเข้ามาเป็นสมาชิกปี 1995 เป็นต้นไป  
  ระหว่างสหภาพยุโรปกับเขตการค้าเสรียุโรป นั้น ก็ได้มีความสัมพันธ์กันมาก่อนในลักษณะที่เป็นเขตการค้าเสรี กล่าวคือ 12  
     
                   ประเทศของสหภาพยุโรป และ 7 ประเทศของเขตการค้าเสรียุโรป ได้ผูกพันที่จะให้สินค้าระหว่าง 19 ประเทศสามารถเคลื่อนย้ายได้โดยเสรี สินค้าที่ว่านั้น  จะจำกัดเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม  
     
                    ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 1994 ประเทศสหภาพยุโรปและเขตการค้าเสรียุโรป ได้มีการตกลงทำสนธิสัญญาซึ่งเรียกว่า “ เขตเศรษฐกิจยุโรป” (European Economic Area) ซึ่งเท่ากับเป็นการขยายการรวมตัวลึกซึ้งยิ่งกว่า เขตการค้าเสรี โดยครอบคลุมเกี่ยวกับด้านเงินทุน แรงงาน และ บริการเคลื่อนย้ายโดยเสรีใน 18 ประเทศ ( เนื่องจากว่าสวิสเซอร์แลนด์ ได้ถอนตัวออก) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ 18 ประเทศนี้ ได้มีการก่อตั้งเพื่อขยายเป็นกึ่งยุโรปตลาดเดียวนั่นเอง  
     
                    นอกเหนือจากนั้น ในความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป ก็มีความสัมพันธ์แบบกึ่งการค้าเสรีกลายๆ กล่าวคือ สหภาพยุโรป ได้มีการทำข้อตกลงทวิภาคี กับประเทศที่เคยเป็น อดีตยุโรปตะวันออก เช่น โปรแลนด์ ฮังการี สาธารณรัฐเชคโก ฯลฯ ในลักษณะข้อตกลงยุโรป (European Agreement) เนื้อหาของข้อตกลงดังกล่าวก็คือ  
     
                   เปิดโอกาสให้สินค้ายุโรปตะวันออกสามารถเคลื่อนย้ายเข้ามาประเทศสหภาพยุโรปได้โดยเสรี แต่ไม่ได้ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท เพียงแต่ครอบคลุมในระดับหนึ่ง นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินทั้งนี้ก็เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ประเทศเหล่านี้  
  สามารถปรับปรุงตัว และสร้างเงื่อนไขเพียงพอ ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในอนาคต  
     
                  ในขณะเดียวกันสหภาพยุโรปก็ได้มีข้อตกลงสองฝ่ายกับกลุ่มประเทศริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อันประกอบด้วย ตุรกี มอรอคโค อัลจีเรีย ตูนีเซีย ฯลฯ ในรูปแบบของข้อตกลงที่เรียกว่า Association Agreement ซึ่งเนื้อหาคล้ายข้อตกลงยุโรป คือ  
     
                   เปิดโอกาสให้สวินค้าบางประเภทที่มาจากประเทศแถบทะเลเมอดิเตอร์เรเนียนเข้าสู่สหภาพยุโรป ได้โดยไม่ต้องเสียภาษี หรือ เสียภาษีต่ำ เพราะฉะนั้นว่ากันไปแล้ว ในภูมิภาคยุโรปนั้น การรวมตัวทางเศรษฐกิจนั้นมีความซับซ้อน มีความลึกซึ้งหลายรูปแบบและมีมิติที่แตกต่างกันตามนัยยะของความสัมพันธ์  
     
                    อาจสรุปได้ว่า การรวมตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ ได้เกิดขึ้นทุกภูมิภาคและมีการขยายวงอย่างกว้าง อันเป็นผลมาจากแรงกระตุ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก การแข่งขันบนพื้นฐานของโลกที่ไร้พรมแดน บนพื้นฐานของการแข่งขันของธุรกิจ ในบริบทของโลกที่ไม่มีความตึงเครียดทางการเมืองเป็นตัวกำหนด เป็นโลกของการแข่งขันและการร่วมมือในทางเศรษฐกิจและทางธุรกิจ การรวมกลุ่ม ในทางเศรษฐกิจจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของโลกในยุคใหม่ ที่เราเรียกว่า ยุคหลังสงครามเย็น เป็นโลกยุคใหม่ที่กำลังจัดลำดับระเบียบโลก การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสิ่งที่เราเรียกว่า ระเบียบโลกใหม่ ( New World Order)  
     
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th