หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
การกำหนดราคาค่าจ้าง อัตราค่าจ้างในสังคมไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
หน่วยที่ 2 ระบบเศรษฐกิจในโลกปัจจุบัน
  2.5   การกำหนดราคาค่าจ้าง อัตราค่าจ้างในสังคมไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
   
  2.5.1 การกำหนดราคาค่าจ้าง
  2.5.2 การกำหนดราคาค่าจ้าง อัตราค่าจ้างในสังคมไทย
  2.5.3 อัตราค่าจ้างในสังคมไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
   
  2.5.1 การกำหนดค่าจ้าง
ค่าจ้าง  wage  หมายถึง  ผลตอบแทนที่แรงงานได้รับจากการยินยอมให้ผู้ผลิตใช้บริการจากแรงงานของตน  ผลตอบแทนที่แรงงานได้รับนี้อาจอยู่ในรูปค่าจ้างต่อชั่วโมง  ต่อวัน  ต่อสัปดาห์  หรืออาจเป็นค่าจ้างเหมาเป็นจำนวนเงินก้อนต่อชิ้นงานก็ได้  อัตราค่าจ้างที่แรงงานได้รับจะแตกต่างกันไปตามประเภทของแรงงาน  จำนวนแรงงานที่มีอยู่และอื่น ๆ เป็นต้น
   
 

         แรงงาน หมายถึง แรงงานของมนุษย์ ปัจจัยการผลิตหนึ่ง ที่รวมถึงแรงกายและแรงใจ สมองในการคิดของมนุษย์ ความรู้ ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ของมนุษย์ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ

   
            การกำหนดปริมาณและค่าจ้างในทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง อุปสงค์และอุปทานของแรงงาน ซึ่งนำไปสู่การกำหนดค่าจ้างในระบบเศรษฐกิจ แรงงานนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นตัวกำหนดสถานภาพของมนุษย์ว่าจะสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างไร
   
             อัตราค่าจ้างดุลยภาพของแรงงานจะถูกกำหนดจากระดับที่อุปสงค์เท่ากับอุปทานของแรงงาน  ถ้ากำหนดค่าจ้างสูงกว่าดุลยภาพ (w2)  จะเกิดปัญหาอุปทานมากกว่าอุปสงค์ของแรงงานหรือเกิดอุปทานแรงงานส่วนเกิน (เกิดการว่างงาน)  ถ้ากำหนดค่าจ้างต่ำกว่าดุลยภาพ (w1)  จะเกิดปัญหาอุปสงค์มากกว่าอุปทานของแรงงานหรือเกิดอุปสงค์แรงงานส่วนเกิน (ขาดแคลนแรงงาน)
   
              ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่มีการแข่งขัน Complete Competitive เป็นไปอย่างสมบูรณ์ การกำหนดปริมาณและราคาค่าจ้างแรงงานจึงเป็นไปตามกลไกราคา เช่นเดียวกับอุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการทั่ว ๆ ไป เพราะในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดถือว่าแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตหนึ่ง Factor of Production ตั้งแต่ต้น
แรงงานเป็นสิ่งที่มีราคาสามารถ ซื้อขาย แลกเปลี่ยนหรือโอนย้ายกันได้ตามปกติ ปริมาณและราคาค่าจ้าง จึงเป็นไปตามภาวการณ์ของอุปสงค์และอุปทานของแรงงานขณะนั้น
   
  อุปสงค์แรงงาน
   
 

         อุปสงค์แรงงาน หมายถึง ความต้องการของแรงงาน ในฐานะปัจจัยการผลิตที่นายจ้างหรือผู้ผลิตต้องการว่าจ้าง เมื่อมีตำแหน่งงานว่าง หรือเมื่อมีการลงทุนใหม่ หรือลงทุนขยายงานเพิ่มเติม ณ ระดับอัตราค่าจ้างต่าง ๆ ที่นายจ้าง หรือ ผู้ผลิตสามารถจะว่าจ้างได้ อุปสงค์แรงงานเป็นอุปสงค์สืบเนื่อง (Derived Demand) หมายถึง การเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไป ของอุปสงค์แรงงาน เป็นผลสืบเนื่องมาจาก เหตุการณ์อื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับแรงงาน

  ตัวอย่าง
  เมื่อความต้องการของสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น จึงมีการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ส่วนเกิน การเพิ่มปริมาณการผลิตก็หมายถึงการเพิ่มปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปัจจัยการผลิตแบบผันแปร เช่น แรงงาน และทุน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าอุปสงค์ของแรงงานไม่ได้เป็นอิสระจากอุปสงค์ของสินค้าและบริการอุปสงค์ของแรงงานจะมีลักษณะดังภาพนี้
 
   
  ให้แกน Y เป็นราคาของแรงงาน หรือค่าจ้าง (Wages) ส่วนแกน X เป็นปริมาณของแรงงานหรือปริมาณการจ้างงาน อุปสงค์ของแรงงานจะเหมือนกับอุปสงค์ของสินค้าทั่วไป คือจะลาดเอียง จากบนลงล่าง Slope Downward หรือจากซ้ายไปขวาเสมอ
  นั่นคือ
  ถ้าค่าจ้างแรงงานสูงหรือค่าแรงแพง อุปสงค์ของแรงงานก็มีน้อย ในทางกลับกันถ้าค่าแรงงานลดลง อุปสงค์ต่อแรงงานจะเพิ่มสูงขึ้น
   
  ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์แรงงาน

   
           1. ความสำคัญ Important หมายถึง ความสำคัญของแรงงานที่มีต่อการผลิต โดยจะพิจารณาว่า ในการผลิตสินค้าชนิดหนึ่ง ต้องใช้แรงงานมากหรือน้อย ถ้าใช้แรงงานมากถือว่ามีความสำคัญมาก อุปสงค์ก็จะเพิ่ม แต่ถ้าใช้แรงงานน้อยถือว่ามีความสำคัญน้อย อุปสงค์ก็จะลดลง
   
           2. ลักษณะของอุปสงค์ในตัวสินค้า Nature of demand for product หมายถึงอุปสงค์ในสินค้า หรือความต้องการที่มีต่อสินค้าที่กำลังผลิต เนื่องจากอุปสงค์แรงงานเป็นอุปสงค์สืบเนื่อง ดังนั้น ถ้าอุปสงค์ต่อสินค้าที่กำลังจะผลิตมีมาก อุปสงค์แรงงานก็มากตาม ในทางตรงกันข้ามถ้าอุปสงค์ต่อสินค้าที่กำลังจะผลิตมีน้อย ความต้องการแรงงานจะลดลงด้วย
   
           3. ความจำเป็น Essentiality เป็นการพิจารณาการใช้ปัจจัยการผลิตอื่น ทดแทนกัน เช่น การผลิตสินค้าชนิดหนึ่งที่ต้องใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่ และไม่สามารถใช้ปัจจัยการผลิตอื่น เช่น ทุน อันได้แก่เครื่องจักร เครื่องกล มาทดแทนได้ ดังนั้นอุปสงค์ต่อแรงงานก็มาก ในทางตรงกันข้ามถ้าสามารถใช้เครื่องจักร เครื่องกล ทำงานแทนแรงงานคนได้ อุปสงค์ของแรงงานก็จะลดลงด้วย
   
           4. การขยายตัวทางเศรษฐกิจ Economic Growth ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังเจริญก้าวหน้า ความต้องการแรงงานเพื่อตอบสนองความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมมีมากอุปสงค์ต่อแรงงานจะเพิ่มมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลัง
ขยายตัว ในทางตรงกันข้าม เมื่อยามภาวะเศรษฐกิจซบเซา การสร้างงาน และการจ้างงานมีน้อย อุปสงค์ต่อแรงงานจะน้อยลง
   
           5. ผลิตภาพของแรงงาน Labor Productivity แรงงานที่มีคุณภาพมีทักษะ Skills ประสบการณ์ Experience ได้รับการฝึกอบรม Training มีแรงจูงใจ Motivation และได้รับการพัฒนา Improvements ตลอดเวลาถือว่าเป็นแรงงานที่มีผลิตภาพสูงต่อการผลิตสินค้าและ
บริการ แรงงานประเภทนี้ จึงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมาก
   
  อุปทานของแรงงาน
   
           อุปทานของแรงงาน หมายถึง จำนวนแรงงานที่ประสงค์และพร้อมที่จะทำงาน ณ ระดับค่าจ้างอัตราใดอัตราหนึ่ง ซึ่งอาจวัดเป็นต่อชั่วโมง ต่อวัน ต่อสัปดาห์ หรือต่อเดือน แรงงานแม้ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิตหนึ่ง แต่ก็เป็นมนุษย์มีชีวิตจิตใจ ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะขายแรงงานหรือ
ไม่ บางทีก็ไม่มีแบบแผนที่แน่นอน อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างจะมีผลต่ออุปทานแรงงาน
 
   
  ให้แกน  Y เป็นราคาของแรงงานหรือค่าจ้าง Wages ส่วนแกน  X  เป็นปริมาณของแรงงานหรือปริมาณการจ้างงาน อุปทานของแรงงานจะเหมือนกับอุปทานของสินค้าทั่ว ๆ
  กล่าวคือ
  อุปทานจะลาดเอียงจากล่างขึ้นบน Slope Upward หรือจากซ้ายไปขวา
  นั่นคือ
  ถ้าค่าจ้างต่ำ P1 อุปทานของแรงงานต่ำ Q1 แต่ถ้าค่าจ้างสูง P5 ระดับอุปทานแรงงานจะสูงตามไปด้วย Q5 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า อุปทานของแรงงาน จะแปรตามราคาค่าจ้างนั่นเอง
   
  ปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดอุปทานแรงงาน
   
           1. ค่าจ้าง Wages นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานตัดสินใจว่าจะขายแรงงานหรือไม่ ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าการทำงาน ทำให้แรงงานขาดไปซึ่งเวลาในการพักผ่อนส่วนตัว และครอบครัว ถ้าอัตราค่าจ้างสูงและแรงงานเห็นว่ามีความคุ้มค่ากว่าการพักผ่อน เขาจึงตัดสินใจขายแรงงาน โดยยอมเสียความสุขในการพักผ่อนได้น้อยลง ดังนั้นอัตราค่าจ้างจะมีผลต่ออุปทานของแรงงานมาก
   
           2. สวัสดิการ Fringe Benefit หมายถึง สิ่งตอบแทนจากการขายแรงงาน นอกเหนือจากค่าแรงงาน หรือค่าจ้าง เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รถประจำตำแหน่ง อาหารกลางวัน เครื่องแบบ เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ค่าจ้างเมื่อหยุดพักผ่อน หรือลาคลอด ค่ารักษาพยาบาล เงินโบนัส การไปท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือสิทธิพิเศษต่างๆ เป็นต้น สวัสดิการนับว่ามีความสำคัญต่ออุปทานแรงงาน
   
           3. การเปลี่ยนแปลงฤดูกาล มักจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุปทานแรงงานเพราะ จะมีการโยกย้ายแรงงานจากภาคการผลิตหนึ่งไปสู่อีกภาคการผลิตหนึ่ง
เช่น ในฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงเวลาทำนา มักจะมีการอพยพโยกย้ายแรงงานจากภาคอุตสาหกรรม และบริการ ไปสู่ภาคการผลิตเกษตรกรรม ดังนั้นอุปทานแรงงานภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม และบริการอุปทานแรงงานก็จะลดลง เป็นต้น
   
 

การกำหนดราคาค่าจ้างในตลาดแรงงาน 

  ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม หรือเสรีนิยม ที่ระบบการแข่งขันทำงานอย่างสมบูรณ์ การกำหนดปริมาณและค่าจ้างจะกำหนดโดย นายจ้างและลูกจ้างรวมกัน เรียกว่า ระดับดุลยภาพ คือระดับที่อุปสงค์แรงงาน เท่ากับ อุปทานแรงงาน
 
  เส้นอุปสงค์แรงงาน ( D ) และเส้นอุปทานของแรงงาน ( S ) ตัดกัน ณ จุด E หรือจุดดุลยภาพ ค่าจ้างดุลยภาพที่เกิดขึ้นก็คือ P4 ซึ่งถ้าเป็นกรณีที่รัฐบาลไม่ได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้แล้ว นายจ้างก็จะจ้างลูกจ้างให้ทำงาน เท่ากับ Q4
   
  การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ
           อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ Minimum Wages ที่กำหนดขึ้นมาจากแนวคิดที่ว่า ค่าจ้างที่มนุษย์ได้รับจากการขายแรงงานของตนไม่ควรต่ำจนเกินไป จนไม่เพียงพอแก่การจะดำรงชีวิตตามควรแก่ความเป็นมนุษย์
   
  รัฐจึงเข้ามากำหนดค่าแรงขั้นต่ำ โดยความเห็นร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล  แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอสมควร เพราะการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อยที่สุด ควรจะครอบคลุมค่าครองชีพ Subsistence Level ว่าควรเป็นเท่าไร เพราะมนุษย์มีความเป็นอยู่ไม่เหมือนกัน และมาตรฐานการครองชีพควรแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น
   
  ดังนั้นโดยปกติการปรับปรุงค่าแรงงานขั้นต่ำ  จึงจะต้องทำอยู่เสมอเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง
   
           ตามความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ ได้คัดค้านการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเนื่องจากการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ หมายถึง การกำหนดค่าจ้างในตลาดแรงงานไร้ฝีมือ ให้อยู่เหนือระดับดุลยภาพ เท่ากับว่า รัฐบังคับให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าจ้างให้สูงกว่าผลิตภาพ  ทำให้นายจ้างต้องจำกัดการจ้างงานให้ต่ำลง ทำให้ เกิดการว่างงาน หรือ เกิดอุปทานส่วนเกิน แรงงานที่ว่างงานเหล่านี้ เป็นคนจนที่สุดในสังคม  ซึ่งจะได้รับความยากลำบาก ไม่สามารถเลี้ยงชีพอยู่ได้  ในขณะที่แรงงานอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไร้ฝีมือเหมือนกันกลับมีค่าจ้างสูงกว่าที่ควรจะเป็น
 
 

แกน  Y  แสดงอัตราค่าจ้าง แกน X แสดงจำนวนแรงงาน หรือ ปริมาณแรงงาน เมื่อเส้นอุปสงค์ของแรงงาน D ตัดกับเส้นอุปทานของแรงงาน S ณ จุดดุลยภาพ Equilibrium Point ค่าจ้างดุลยภาพที่เกิดขึ้นก็คือ P4 แต่ในกรณีที่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำโดยรัฐ P6 ซึ่งเป็นอัตรากว่าค่าจ้างดุลยภาพ นายจ้างก็จะจำกัดการจ้างงาน หรือจ้างงานเพียง Q2 จึงทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน ( Q2-Q6 ) หรือการว่างงานเกิดขึ้น

   
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th