หน้าแรก | โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ |
|
กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
|
||
สารบัญ | ||
การกำหนดราคาในระบบเศรษฐกิจ |
||
หน่วยที่ 2 | ระบบเศรษฐกิจในโลกปัจจุบัน | |
2.4 การกำหนดราคาในระบบเศรษฐกิจ | ||
ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยมกลไกราคาจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ |
||
2.4.1 อุปสงค์ demand อุปสงค์ หมายถึง ปริมาณความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่งที่ผู้บริโภคมีความเต็มใจที่จะซื้อ และสามารถซื้อหามาได้ในขณะใดขณะหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆที่ตลาดกำหนดมาให้ จากความหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการจะเกิดอุปสงค์ได้นั้น ประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ คือ |
||
1. ความต้องการซื้อ wants ลำดับแรกผู้บริโภคจะต้องมีความอยากได้ในสินค้าหรือบริการเหล่านั้นก่อน อย่างไรก็ตาม การมีแต่ความต้องการไม่ถือว่าเป็นอุปสงค์ เพราะอุปสงค์จะต้องเป็นความต้องการที่สามารถซื้อได้และเกิดการซื้อขายขึ้นจริงๆ 2. ความเต็มใจที่จะจ่าย willingness to pay คือการที่ผู้บริโภคมีความยินดีที่จะยอมเสียสละเงินหรือทรัพย์สินที่ตนมีอยู่เพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการต่างๆเหล่านั้น มาเพื่อใช้ในการบำบัดความต้องการของตน 3. ความสามารถที่จะซื้อ purchasing power or ability to pay ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญ คือไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีความอยากได้หรือความต้องการในสินค้าหรือบริการมากน้อยเพียงใดก็ตาม ถ้าปราศจากความสามารถที่จะซื้อหรือจัดหามาแล้วการซื้อขายจริงๆจะไม่เกิดขึ้น นั่นคือ จะเป็นแต่เพียงความต้องการที่มีแนวโน้มจะซื้อ potential demand เท่านั้น ซึ่งความสามารถที่จะซื้อโดยปกติจะถูกกำหนดจากขนาดของทรัพย์สินหรือรายได้ที่บุคคลนั้นมีหรือหามาได้ โดยมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ ถ้ามีรายได้หรือทรัพย์สินมากความสามารถ ที่จะซื้อจะมีสูง ถ้ามีน้อยก็จะมีความสามารถซื้อต่ำ |
||
อุปสงค์ Demand หมายถึงความต้องการของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและบริการในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้เพราะจำนวนประชากร รสนิยมในการบริโภค รายได้ที่เปลี่ยนแปลง การโฆษณา หรือปัจจัยอื่น ๆ ความต้องการซื้อสินค้า หมายถึง สินค้าและบริการที่ผู้บริโภค มีความเต็มใจที่จะซื้อ ตามปรกติหากสินค้าราคมสูง ความต้องการของผู้บริโภคจะลดลง ถ้าหากสินค้ามีราคาต่ำความต้องการของผู้บริฅโภคจะมากขึ้น เราเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “กฎของอุปสงค์” Law of Demand | ||
2.4.2 กฎของอุปสงค์ Law of Demand |
||
2.4.3 ปัจจัยที่กำหนดอุปสงค์ของสินค้านอกจากราคาของสินค้าแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก ดังนี้ |
||
ราคาของสินค้า สินค้าราคาถูกผู้บริโภคจะซื้อปริมาณมาก สินค้าราคาแพงผู้บริโภคจะซื้อปริมาณน้อย (เป็นไปตามกฎอุปสงค์)Law of Demand |
||
1. รายได้ของผู้บริโภค ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และปริมาณการเสนอซื้อสินค้าขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า ในกรณีสินค้าปกติ (Normal Goods) และสินค้าฟุ่มเฟือย (Superior Goods) รายได้และปริมาณการเสนอซื้อสินค้าของผู้บริโภคจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน ส่วนในสินค้าด้อยคุณภาพ (Inferior Goods) รายได้และปริมาณการเสนอซื้อสินค้าของผู้บริโภคจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม | ||
2. ระดับราคาสินค้าชนิดอื่น ปริมาณการเสนอซื้อสินค้าถูกกำหนดโดยราคาสินค้าชนิดอื่นด้วย เนื่องจากสินค้าที่ซื้อขายในตลาดมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ สินค้าบางชนิดสามารถใช้แทน กันได้ (Substitute goods) หรือสินค้าบางชนิดต้องใช้ร่วมกัน (complementary goods) ดังนั้น การที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งปริมาณเท่าใดต้องพิจารณาถึงราคาของสินค้าชนิดอื่นที่สัมพันธ์กันด้วย | ||
3. รสนิยมของผู้บริโภค รสนิยมของบุคคลโดยทั่วไปจะแตกต่างกันไปตาม อายุ อาชีพ ขนบธรรมเนียมประเพณี ระดับการศึกษา และบุคลิกส่วนตัว นอกจากนี้ยังเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ยุคสมัย ซึ่งเป็นรสนิยมของแต่ละบุคคล ตัวอย่าง อุปสงค์ในกางเกงยีนในกลุ่มวัยรุ่นจะมากกว่าในกลุ่มของผู้ใหญ่ (วัย) อุปสงค์ในเครื่องสำอางของกลุ่มผู้ชายจะน้อยกว่าของกลุ่มผู้หญิง (เพศ) ฯลฯ นอกจากนี้ความนิยมในแต่ละสินค้ายังเปลี่ยนแปลงได้เร็วช้าแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสินค้าที่พิจารณา |
||
4. การคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคต การคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุปสงค์ของสินค้าเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับการคาดคะเนของผู้บริโภคแต่ละคน กล่าวคือถ้าผู้บริโภคคาดว่าในอนาคตราคาสินค้าจะสูงขึ้น ผู้บริโภคก็จะมีอุปสงค์ในสินค้าเหล่านั้นในปัจจุบันเพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามถ้าคาดว่าราคาสินค้าจะลดลง ผู้บริโภคก็จะชะลอการใช้จ่ายในปัจจุบันลง นั่นคืออุปสงค์ของสินค้าเหล่านั้นในปัจจุบันจะน้อยลง | ||
5. ขนาดและโครงสร้างของประชากร โดยปกติถ้าจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอุปสงค์ของสินค้าแทบทุกชนิดย่อมเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าจำนวนประชากรกับปริมาณความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ในสินค้าใดๆจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น-ลดลง ความต้องการในสินค้าและบริการต่างๆก็จะเพิ่มขึ้น-ลดลงตามแต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างประชากรด้วย ลักษณะโครงสร้างประชากรมีผลให้อุปสงค์ของสินค้าบางชนิดเพิ่มขึ้นและบางชนิดลดลง | ||
6. เทศกาลหรือฤดูกาล ฤดูหนาวคนบริโภคเสื้อกันหนาวเพิ่มมากขึ้น เทศกาลกินเจ คนบริโภคผักเพิ่มมากขึ้น วันวาเลนไทน์ คนซื้อ ดอกกุหลาบเพิ่มขึ้น ปีใหม่คนซื้อของขวัญเพิ่มขึ้น | ||
7. ปัจจัยอื่นๆ การที่ผู้บริโภคจะมีอุปสงค์ต่อสินค้ายังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย อาทิ วัฒนธรรม ประเพณี ตัวอย่าง ผู้บริโภคที่นับถือศาสนาอิสลามจะไม่มีอุปสงค์ในเนื้อหมูเลย หรือผู้บริโภคที่เป็นชาวจีนส่วนใหญ่จะไม่นิยมการบริโภคเนื้อวัว ทำให้ปริมาณความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ในเนื้อวัวมีน้อย ฯลฯ อุปนิสัยในการใช้จ่าย ลักษณะการจัดเก็บภาษีของรัฐ อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น | ||
2.4.4 พฤติกรรมการบริโภคกับทฤษฎีอรรถประโยชน์ | ||
พฤติกรรมการบริโภคก็เป็นตัวกำหนดหรือมีอิทธิพลต่อปริมาณความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ในสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งมีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการบริโภค คือ ทฤษฎีอรรถประโยชน์ คำว่า อรรถประโยชน์ Marginal Utility นักเศรษฐศาสตร์ได้ให้ความหมายว่า ความพอใจที่บุคคลได้รับจากการบริโภคสินค้า |
||
ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น ความต้องการและความสามารถในการซื้อเรียกว่า อุปสงค์ Demand หากสมมติว่า เราเป็นคนที่มีเหตุมีผล ในทางเศรษฐศาสตร์ การตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าและบริการหรือไม่นั้นก็เป็นไปตามหลักการคิดแบบหน่วยสุดท้าย กล่าวคือ ต้องมีการเปรียบเทียบความพึงพอใจที่จะได้รับจากการบริโภคเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหน่วย Marginal Utility: MU กับต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการบริโภคหน่วยนั้นที่เพิ่มขึ้น Marginal Cost: MC หาก MU ที่ได้รับเท่ากันหรือมากกว่า MC ที่เกิดขึ้นจากการบริโภคแล้ว ก็จะทำการซื้อสินค้าชิ้นนั้น |
||
อย่างไรก็ดี Marginal Utility: MU ที่ได้รับจากการบริโภคนั้นไม่ได้คงที่เสมอไป ลองนึกถึงความพึงพอใจที่ได้รับจากการได้กินไอศกรีมถ้วยแรกกับความพึงพอใจที่ได้รับจากการกินไอศกรีมถ้วยที่สอง สาม สี่และห้า จะเห็นได้ว่าไอศกรีมถ้วยแรกให้ความพึงพอใจกับเรามากกว่าไอศกรีม ถ้วยต่อๆ ไป การลดลงของความพึงพอใจที่ได้รับจากการบริโภคเมื่อมีการบริโภคสินค้าหรือบริการชนิดเดิมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น เรียกว่า “กฎการลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์” Law of Diminishing Marginal Utility | ||
ถ้าเราเพิ่มข้อสมมติเข้าไปอีกว่า ความพึงพอใจสามารถตีค่าออกมาเป็นตัวเงินได้ เช่น ไอศกรีมถ้วยแรกให้ MU กับเราเท่ากับ 30 บาท ไอศกรีมถ้วยที่สองให้ MU กับเราเท่ากับ 20 บาท ถ้าไอศกรีมถ้วยราคาถ้วยละ 25 บาท(MC) หากตัดสินใจตามหลักเศรษฐศาสตร์ เราก็จะซื้อไอศกรีมถ้วยแรกมากินเนื่องจาก MU>MC แต่จะไม่ซื้อไอศกรีมถ้วยที่สองเพราะความพึงพอใจที่ได้รับน้อยกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้น จากการบริโภคหากไอศกรีมราคาถ้วยละ 15 บาท เราก็จะซื้อไอศกรีมเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เคยซื้อแค่ถ้วยเดียว ก็เพิ่มมาเป็นสองถ้วย เพราะไอศกรีมถ้วยที่สองนั้น MU>MC |
||
ด้วยสมมติฐานทั้งสองข้อนี้เองที่ทำให้เกิด กฎของอุปสงค์ Law of Demand ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ในเชิงผกผันระหว่างราคาสินค้าและบริการกับปริมาณซื้อสินค้านั้น เมื่อใดที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น การซื้อสินค้าก็จะลดลง ในทางตรงกันข้าม เมื่อราคาสินค้าลดลง ความต้องการซื้อสินค้านั้นก็จะเพิ่มขึ้น |
||
|
||
กฎการลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์ Law of Diminishing Marginal Utility เมื่อผู้บริโภคได้รับสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่รสนิยมและอุปนิสัยของผู้บริโภคไม่เปลี่ยนแปลง อรรถประโยชน์ของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น ในระยะแรกแล้วค่อยๆลดลง จนถึงจุดหนึ่งส่วนที่เพิ่มจะเท่ากับศูนย์ จะลดลงต่ำกว่าศูนย์ซึ่งเป็นไปตามกฎการลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์ |
||
อรรถประโยชน์เพิ่มและอรรถประโยชน์รวม Marginal Utility and Total Utility อรรถประโยชน์เพิ่ม (Marginal Utility : MU) คือ ความพอใจที่บุคคลได้รับเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับสินค้าและบริการการสนองความต้องการเพิ่มขึ้นทีละหน่วย อรรถประโยชน์รวม (Total Utility : TU) คือ ผลรวมของอรรถประโยชน์เพิ่มที่บุคคลได้รับจากการบริโภคสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่งขณะนั้น |
||
สมมติว่า ความพึงพอใจสามารถแทนค่าได้ จะเห็นได้ว่าอรรถประโยชน์ที่เกิดจากการบริโภคไอศกรีมถ้วยแรกจะมีค่ามากที่สุด แต่อรรถประโยชน์ที่เกิดจากการบริโภคไอศกรีมถ้วยต่อๆไปเริ่มลดลงจนกระทั่งถ้วยที่หกจะรู้สึกอิ่มทันทีคือไม่มีอรรถประโยชน์เลย คือ เท่ากับศูนย์ แต่ถ้าเรายังบริโภคไอศกรีมต่อไปนอกจากจะไม่มีอรรถประโยชน์แล้วจะให้โทษอีกด้วยนั่นคืออรรถประโยชน์ติดลบ |
||
2.4.5 อุปทาน supply |
||
1. ความเต็มใจที่จะเสนอขายหรือให้บริการ willingness กล่าวคือ ณ ระดับราคาต่างๆ ที่ตลาดกำหนดมาให้ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการมีความยินดีหรือเต็มใจที่จะเสนอขายสินค้าหรือให้บริการตามความต้องการซื้อของผู้บริโภค |
||
เมื่อกล่าวถึงคำว่า อุปทาน จะเป็นการมองทางด้านของผู้ผลิตซึ่งตรงข้ามกับอุปสงค์ที่เป็นการมองทางด้านของผู้บริโภค ในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ความสัมพันธ์ของราคาสินค้าที่มีต่ออุปทานของสินค้านั้นจะเป็นไปตามกฎของอุปทาน Law of Supply | ||
อุปทาน Supply หมายถึงความต้องการของผู้ผลิตหรือผู้ขาย ในการขายสินค้าและบริการ ที่ผู้ผลิตเสนอขายในระยะเวลาหนึ่ง อุปทานของสินค้าต้องเป็นปริมาณของสินค้าที่ผู้ผลิตยินดีจะขายและสินค้ามีพร้อมที่จะนำออกขาย ณ ระดับราคาต่าง ๆ ตามปรกติหากสินค้าราคาสูง ผู้ผลิตย่อมต้องการขายสินค้าจำนวนมาก ๆ แต่ถ้าสินค้าราคาต่ำความต้องการขายสินค้าของผู้ผลิตจะลดลง เราเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “กฎของอุปทาน” Law of Supply |
||
2.4.6 กฎของอุปทาน Law of Supply | ||
ภายใต้ข้อสมมติว่าปัจจัยตัวอื่นๆที่มีผลต่ออุปทานมีค่าคงที่ ปริมาณอุปทานของสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับราคาของสินค้าชนิดนั้น กล่าวคือเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้นปริมาณอุปทานจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตมีความต้องการที่จะเสนอขายมากขึ้น เพราะคาดการณ์ว่าจะได้กำไรสูงขึ้น ในทางกลับกัน เมื่อราคาสินค้าลดลงปริมาณอุปทานจะน้อยลง เนื่องจากคาดการณ์ว่ากำไรที่ได้จะลดลง ลักษณะทั่วไปของเส้นอุปทานจึงเป็นเส้นที่มีลักษณะที่ลากเฉียงขึ้นจากซ้ายไปขวา |
||
2.4.7 ปัจจัยที่กำหนดอุปทานของสินค้านอกจากราคาของสินค้าแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก ดังนี้ |
||
สินค้าราคาสูง ผู้ผลิตย่อมต้องการขายสินค้าจำนวนมาก ๆ แต่ถ้าสินค้าราคาต่ำความต้องการขายสินค้าของผู้ผลิตจะลดลง เราเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “กฎของอุปทาน” Law of Supply |
||
1. ราคาของสินค้า เมื่อราคาแพงขึ้น ความต้องการขายก็มากขึ้นด้วย |
||
2. ราคาของปัจจัยการผลิตหรือต้นทุนการผลิต เนื่องจากราคาปัจจัยการผลิตเป็นตัวกำหนดต้นทุนการผลิตของสินค้าหรือบริการ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของราคาปัจจัยการผลิตทำให้ต้นทุนการผลิตเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกัน เช่น ถ้าค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณความต้องการเสนอขายหรืออุปทานลดลงได้ และถ้ากลับกันก็จะให้ผลในทางตรงกันข้าม หรือ หากต้นทุนค่าขนส่งแพงขึ้นเพราะราคาน้ำมันแพงขึ้น แต่ราคาสินค้าที่นำไปวางขายไม่เปลี่ยนแปลง จะทำให้ผู้ผลิตอยากขายสินค้าในปริมาณที่น้อยลง เพราะได้กำไรน้อยลง |
||
3. ราคาสินค้าอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าชนิดหนึ่งอาจมีผลกระทบต่อปริมาณความต้องการเสนอขาย หรืออุปทานของสินค้าชนิดหนึ่งได้ เช่น ถ้าราคาส้มลดลง ชาวสวนอาจหันไปปลูกมะนาวแทน ทำให้ปริมาณความต้องการขายส้มลดลง ส่วนของมะนาวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตรายดังกล่าวคาดว่าตนจะได้รับกำไรเพิ่มขึ้นจากการปลูกมะนาวแทนส้ม หรือ กรณีที่ราคาสินค้าอื่นแพงขึ้น อาจมีผลทำให้อุปทานของสินค้าชนิดที่ผลิตอยู่ลดลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น เมื่อราคาข้าวโพดแพงขึ้น คนที่เคยปลูกมันสำปะหลังอยู่ อาจหันไปปลูกข้าวโพดแทน และลดการปลูกมันสำปะหลังลง ซึ่งผลทำให้อุปทานของมันสำปะหลังสูงขึ้น ขณะที่อุปทานของข้าวโพดลดลง เป็นต้น |
||
4. เทคโนโลยีในการผลิตสินค้า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง เนื่องจากปัจจัยการผลิตจำนวนเท่าเดิมผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าได้ปริมาณมากขึ้น นั่นคือ ความสามารถในการเสนอขายหรืออุปทานของสินค้าของผู้ผลิตมีเพิ่มขึ้น เช่น หากมีการคิดค้นเทคโนโลยีในการผลิตให้ดีขึ้น ทำให้ผลิตได้ปริมาณสินค้ามากขึ้นด้วยต้นทุนเท่าเดิม จะทำให้ปริมาณการเสนอขายสินค้าเพิ่มขึ้นได้ |
||
5. การคาดการณ์ในอนาคต ถ้าผู้ผลิตคาดการณ์ว่าราคาสินค้าในอนาคตจะสูง ขึ้น ผู้ผลิตจะชะลอปริมาณการเสนอขายในปัจจุบันลง เพื่อจะเก็บไว้รอขายในอนาคต (อุปทานลดลง) ในทางกลับกัน ถ้าคาดการณ์ว่าราคาสินค้าในอนาคตจะลดลง ผู้ผลิตจะเพิ่มปริมาณการเสนอขายในปัจจุบันมากขึ้น (อุปทานเพิ่มขึ้น) เช่น หากผู้ผลิตหรือผู้ขายคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว ก็เสนอขายสินค้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น |
||
6. จำนวนผู้ประกอบการ หรือ จำนวนผู้ขาย ถ้าผู้ผลิตหรือผู้ขายมีจำนวนมากขึ้น จะทำให้อุปทานเพิ่มขึ้น แต่ถ้าผู้ผลิตน้อยลงจะทำให้อุปทานลดลง |
||
7. เป้าหมายของผู้ผลิต ถ้าธุรกิจผลิตรถยนต์ ต้องการ ผลิตรถกระบะมากกว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลก็จะใช้ปัจจัยการผลิตส่วนมากไปผลิตรถกระบะทำให้ปริมาณการผลิตรถกระบะเพิ่มมากขึ้น |
||
8. ปัจจัยอื่น เช่น ฤดูกาล ภาษีและเงินอุดหนุน และโครงสร้างตลาดสินค้า ฯลฯ จำนวนภาษีหรือเงินอุกหนุนที่รัฐบาลจัดเก็บจากการขายสินค้าและบริการเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดต้นทุนการผลิตของสินค้าและบริการ ถ้ารัฐบาลเก็บภาษีในอัตราสูงจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น ทำให้อุปทานลดลง แต่ถ้ารัฐบาลเก็บภาษีในอัตราลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดลง และอุปทานจะเพิ่มขึ้น หรือ ฤดูกาล สภาพดินฟ้าอากาศ ส่วนใหญ่จะมีอิทธิพลต่อผลผลิตทางการเกษตร ถ้าฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลผลผลิตก็จะมีมากและอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าสภาพดินฟ้าอากาศไม่ดีปริมาณผลผลิตก็จะมีน้อย | ||
2.4.8 ราคาและราคาดุลยภาพ ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมหรือทุนนิยมนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าราคาของสินค้าและบริการจะถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานของตลาด เนื่องจากอุปสงค์จะแสดงถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าชนิดหนึ่งเป็นปริมาณเท่าใดในแต่ละระดับราคา ส่วนอุปทานจะเป็นการแสดงถึง พฤติกรรมของผู้ผลิตในการขายสินค้าชนิดนั้นเป็นปริมาณเท่าใดในแต่ละระดับราคา โดยปกติแล้วปริมาณความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ในสินค้าไม่จำเป็นจะต้องเท่ากับปริมาณความต้องการเสนอขายหรือ อุปทานในสินค้า ณ ขณะใด พฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าจะเป็นไปตามกฎของอุปสงค์และอุปทานดังนี้ |
||
ถ้าอุปสงค์ของสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งมีปริมาณมากกว่าอุปทานของสินค้าชนิดนั้น ราคาสินค้านั้นจะมีแนวโน้มสูงขึ้น และเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้นจะทำให้อุปทานเพิ่มขึ้น อุปสงค์ลดลง ตรงกันข้าม ถ้าอุปสงค์มีปริมาณน้อยกว่าอุปทาน ราคาสินค้านั้นจะมีแนวโน้มลดลง และเมื่อราคาสินค้าลดลงจะทำให้อุปทานลดลง อุปสงค์เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทานของสินค้าจะเคลื่อนไหว สลับไปมาอย่างนี้เรื่อยไป จนกระทั่งเข้าสู่ดุลยภาพของตลาด ณ จุดที่ปริมาณอุปสงค์เท่ากับปริมาณอุปทาน เราเรียกระดับราคาดังกล่าวว่า ราคาดุลยภาพ equilibrium price | ||
ราคาดุลยภาพ หมายถึง ระดับราคา ณ จุดที่ปริมาณอุปสงค์เท่ากับปริมาณอุปทาน (ดุลยภาพ ของตลาด) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นราคาที่ความต้องการเสนอซื้อเท่ากันพอดีกับความต้องการ เสนอขาย ถ้าพิจารณาจากกราฟ ราคาดุลยภาพจะเป็นระดับราคา ณ จุดที่เส้นอุปสงค์ตัดกับเส้นอุปทาน |
||
จากตาราง ราคาดุลยภาพเท่ากับ 30 บาท ปริมาณดุลยภาพเท่ากับ 3 หน่วย (ปริมาณอุปสงค์เท่ากับปริมาณอุปทาน) |
||
ระดับราคาที่อยู่เหนือราคาดุลยภาพจะทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด excess supply or surplus เนื่องจากระดับราคาดังกล่าวสูงกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ผู้ผลิตมีความต้องการที่จะเสนอขายมาก แต่ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อน้อย เกิดความไม่สมดุล ณ ระดับราคาดังกล่าว ถ้าผู้ผลิตมีความต้องการที่จะขายก็จะต้องลดราคาลงมา เพื่อกระตุ้นหรือจูงใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อ (มีความต้องการซื้อ) มากขึ้น โดยสรุป ราคาจะมีแนวโน้มลดลงจากเดิมจนเข้าสู่ราคาดุลยภาพ ในทางกลับกัน ถ้าราคาอยู่ต่ำกว่าราคาดุลยภาพจะทำให้เกิดภาวะสินค้าขาดตลาด excess demand or shortage ซึ่งราคาดังกล่าว ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ผู้ผลิตมีความต้องการที่จะเสนอขายน้อย แต่ผู้บริโภคกลับมีความต้องการซื้อมาก เกิดความไม่สมดุล เมื่อผู้บริโภคมีความต้องการซื้อมาก (อุปสงค์เพิ่ม) ส่งผลให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตเสนอขายสินค้ามากขึ้น ในที่สุดราคาจะมีแนวโน้มเข้าสู่ราคาดุลยภาพ | ||
สรุประดับราคาที่อยู่สูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาดุลยภาพจะเป็นระดับราคาที่ไม่มีเสถียรภาพ ราคาที่อยู่สูงกว่าราคาดุลยภาพจะมีแนวโน้มลดลงมา ส่วนราคาที่อยู่ต่ำกว่าราคาดุลยภาพ จะมีแนวโน้มสูงขึ้น จนในที่สุดเข้าสู่ดุลยภาพของตลาด ซึ่งเป็นระดับราคาที่ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพเป็นระดับราคา ณ จุดที่อุปสงค์เท่ากับอุปทาน (เส้นอุปสงค์ตัดกับเส้นอุปทาน) |
||
ดุลยภาพของตลาดอาจเปลี่ยนได้ หากเส้นอุปสงค์เปลี่ยนหรือเส้นอุปทานเปลี่ยน หรือ ทั้งสองเส้นเปลี่ยนพร้อมกัน |
||
กรณีที่ 1 อุปสงค์อาจเปลี่ยนไปในทางที่เพิ่มขึ้น (เส้นอุปสงค์ Shift มาทางขวา) | ||
กรณีที่ 1 สมมติว่า เดิมราคาเนื้อน่องไก่ จุดดุลภาพอยู่ที่ E0 เท่ากับกิโลกรัมละ40 บาท ปริมาณดุลยภาพเท่ากับ 4,000 ก.ก. ต่อมาถึงเทศกาลปีใหม่ ความต้องการบริโภคน่องไก่เพิ่มขึ้น อุปสงค์ต่อน่องไก่จึงเพิ่มขึ้นเส้นอุปสงค์จึงเปลี่ยนจากเส้นD0 ไปเป็นเส้นD1 ทำให้จุดดุลยภาพเปลี่ยนจากจุด E0 ไปเป็นจุด E1 ทำให้ราคาดุลภาพเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 60 บาท ปริมาณดุยภาพเท่ากับ 6,000 กิโลกรัม |
||
กรณีที่ 2 อุปสงค์อาจเปลี่ยนไปในทางที่ลดลง (เส้นอุปสงค์ Shift มาทางซ้าย) | ||
กรณีที่ 2 สมมติว่า เดิมราคาเนื้อน่องไก่ จุดดุลภาพอยู่ที่ E0 เท่ากับกิโลกรัมละ40 บาท ปริมาณดุลยภาพเท่ากับ 4,000 ก.ก. ต่อมาถึงเทศกาลกินเจ ความต้องการบริโภคน่องไก่ลดลง อุปสงค์ต่อน่องไก่จึงลดลงเส้นอุปสงค์จึงเปลี่ยนจากเส้นD0 ไปเป็นเส้นD2 ทำให้จุดดุลยภาพเปลี่ยนจากจุด E0 ไปเป็นจุด E2 ทำให้ราคาดุลภาพลงเป็นกิโลกรัมละ 20 บาท ปริมาณดุยภาพเท่ากับ 2,000 กิโลกรัม |
||
กรณีที่ 3 อุปทานอาจเปลี่ยนไปในทางที่เพิ่มขึ้น (เส้นอุปทาน Shift มาทางขวา) | ||
กรณีที่ 3 สมมติว่า เดิมราคาลำไยอยู่ที่จุดดุลยภาพ E0 เท่ากับกิโลกรัมละ 40 บาท ปริมาณดุลภาพเท่ากับ 4,000 กิโลกรัม ต่อมาลมฟ้าอากาศดี ทำให้ลำไยดก มีปริมาณเพิ่มขึ้น จุดดุลยภาพเปลี่ยนจาก E0 มาอยู่ที่ E1 ราคาดุลยภาพเปลี่ยนเป็น 20 บาท/กิโลกกรัม ปริมาณดุลยภาพเท่ากับ 6,000กิโลกรัม |
||
กรณีที่ 4 อุปสงค์อาจเปลี่ยนไปในทางที่ลดลง (เส้นอุปทาน Shift มาทางซ้าย) | ||
กรณีที่ 4 สมมติว่า เดิมราคาลำไยอยู่ที่จุดดุลยภาพ E0 เท่ากับกิโลกรัมละ 40 บาท ปริมาณดุลภาพเท่ากับ 4,000 กิโลกรัม ต่อมาเกิดความแห้งแล้งลมฟ้าอากาศไม่ดี ทำให้ลำไย มีปริมาณลดลง จุดดุลยภาพเปลี่ยนจาก E0 มาอยู่ที่ E2 ราคาดุลยภาพเปลี่ยนเป็น 60 บาท/กิโลกกรัม ปริมาณดุลยภาพเท่ากับ 2,000กิโลกรัม |
||
Copyright By : Chalengsak
Chuaorrawan Sainampeung School 186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com Tel; 089-200-7752 mobile |
|
http://www.sainampeung.ac.th |