หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
 
ปัจจัยที่ใช้กำหนดขนาดของตลาด
 
หน่วยที่ 2 ระบบเศรษฐกิจในโลกปัจจุบัน
  2.3 ตลาดในระบบเศรษฐกิจ
     
  ปัจจัยที่ใช้กำหนดขนาดของตลาด  
  ปัจจัยที่ใช้กำหนดขนาดของตลาดขนาดของตลาดจะใหญ่หรือเล็กเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างเป็นตัวกำหนด ปัจจัยต่างๆประกอบด้วย  
     
  1.ลักษณะของสินค้า ลักษณะของสินค้าเป็นตัวกำหนดขอบเขตของตลาดได้มากทีเดียว เนื่องจากสินค้าแต่ละชนิดมีลักษณะไม่เหมือนกัน การที่ลักษณะไม่เหมือนกันนี้เองจึงทำให้ขนาดของตลาดแตกต่างกัน ลักษณะต่างๆของสินค้าที่เป็นตัวกำหนดตลาดของสินค้า ได้แก่  
     
 
  1. สินค้าที่เป็นของเน่าเสียง่าย เช่น ผักสด ผลไม้สด อาหารทะเล ดอกไม้สด เป็นต้น สินค้าเหล่านี้จะเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งแพงและเน่าเสียง่าย จึงไม่สามารถขนส่งได้ไกลและเก็บไว้ไม่ได้นาน ตลาดของสินค้านี้จึงแคบ ไม่กว้างขวางเท่าที่ควร
  2. สินค้าที่มีน้ำหนักหรือปริมาตรมากแต่มูลค่าต่ำ เช่น นุ่น หิน ทราย ตลาดของสินค้าพวกนี้จะแคบเช่นกัน เพราะขนส่งไปไกลๆจะไม่คุ้มค่าและลำบากต่อการขนส่ง
  3. สินค้าที่เคลื่อนย้ายไม่สะดวก สินค้าบางอย่างบอบบาง แตกชำรุดง่าย และขนส่งย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ยากลำบาก จึงทำให้ไม่ค่อยมีผู้ดำเนินการขนส่งสินค้าจำพวกนี้ออกไปจำหน่ายในท้องที่ไกลๆ เป็นผลให้สินค้าพวกนี้มีตลาดแคบ
  4. สินค้าประเภทแรงงาน แรงงานถือเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่มีการซื้อขายกัน คนซื้อแรงงานก็คือนายจ้าง ส่วนคนขายแรงงานก็คือคนที่หางานทำนั่นเอง ตลาดแรงงานเป็นตลาดที่แคบ เพราะในทางปฏิบัติการอพยพย้ายถิ่นเป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยากอันเนื่องจากหลายๆสาเหตุ ได้แก่ ปัญหาทางด้านครอบครัว ความรู้ ความชำนาญของแรงงาน ขนบธรรมเนียมและประเพณีระหว่างท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน ฯลฯ
  5. มาตรฐานของสินค้า มาตรฐานหรือคุณภาพของสินค้าจะเป็นตัวกำหนดขนาดของตลาดได้เป็นอย่างดี สินค้าใดที่ผู้ซื้อเห็นว่ามีคุณภาพหรือมีมาตรฐานสูงก็จะทำให้ผู้ซื้อเกิดความนิยมซื้อกันอย่างแพร่หลาย ทำให้ตลาดในการจำหน่ายสินค้านั้นขยายกว้างมากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าสินค้ามีคุณภาพและมาตรฐานไม่ดีก็จะทำให้ผู้ซื้อไม่นิยมซื้อ ตลาดก็จะแคบลง
 
     
  2. การสื่อสารและการคมนาคม เป็นปัจจัยที่มีผลทำให้ขอบเขตของตลาดกว้างหรือแคบได้ กล่าวคือ สินค้าใดที่สามารถขนส่งจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคได้ด้วยระบบการขนส่งที่สะดวกรวดเร็วและประหยัด เช่น มีถนนหนทางดี มีภาชนะที่ใช้ขนถ่ายดี ก็จะทำให้ตลาดของสินค้านั้นขยายกว้างขวาง แต่ในทางกลับกัน ถ้าการขนส่งเคลื่อนย้ายไม่ดี เสียค่าใช้จ่ายสูง ช้าและไม่สะดวก ก็จะทำให้ผู้ที่ประกอบธุรกิจการค้าสินค้าจำพวกนี้ไม่ต้องการทำการขนย้ายไปขายยังที่อื่นๆ จึงทำให้ตลาดสินค้านี้แคบลง ส่วนด้านการสื่อสาร เช่น โทรศัพท์ โทรเลข ไปรษณีย์ ถ้าการสื่อสารดังกล่าวดีพอก็ทำให้การติดต่อกันสะดวกและรวดเร็ว ทำให้ตลาดขยายกว้างขวางยิ่งขึ้น แต่ถ้าการสื่อสารไม่ดีทำให้ติดต่อกันไม่สะดวก ตลาดก็จะถูกจำกัดอยู่แต่เพียงภายในพื้นที่นั้นเท่านั้น  
     
  3. นโยบายของรัฐบาล นโยบายต่างๆของรัฐที่เกี่ยวข้องกับตลาดของสินค้าและบริการจะมีผลทำให้ขอบเขตของตลาดขยายหรือแคบลงได้ และถือว่าเป็นผลโดยตรง นโยบายต่างๆ เช่น นโยบายทางด้านภาษี นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ นโยบายด้านการอุดหนุนและการส่งเสริม ฯลฯ จะทำให้มีผลต่อการขยายตัวและการแคบลงของตลาด อาทิ การลดภาษี เพิ่มโควตาการส่งออก การผ่อนคลายการควบคุม การส่งเงินตราออกนอกประเทศ  
     
  4. ความต้องการของผู้บริโภค ตลาดจะสามารถขยายตัวออกไปได้กว้างขวางเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้านั้นๆ สินค้าซึ่งผู้บริโภคทั่วไปมีความต้องการมาก ได้แก่ อาหาร เสื้อผ้า ของใช้จำเป็นต่างๆ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก เป็นต้น สินค้าเหล่านี้จะทำให้ตลาดขยายตัวไปได้มาก  
     
  5. การกระจายรายได้ของประชาชนในประเทศนั้นๆ ถ้าประชาชนของประเทศส่วนใหญ่ยากจน มีรายได้ต่ำ การขยายตัวของตลาดสินค้าบางชนิดจะทำได้ยาก  
     
  6. ศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อ การบริโภคสินค้านั้นในบางครั้งก็มีผลสืบเนื่องมาจาก ความเชื่อทางศาสนาหรือวัฒนธรรมด้วย เช่น ผู้นับถือศาสนาอิสลามไม่บริโภคเนื้อหมู คนจีนบางกลุ่ม ไม่บริโภคเนื้อวัว ทำให้การขยายตลาดมีความแตกต่างกันไปด้วย  
     

Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoeay Khlongtoeay Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th