หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
หน่วยเศรษฐกิจ
หน่วยที่ 2 ระบบเศรษฐกิจในโลกปัจจุบัน
  2.1 หน่วยเศรษฐกิจ Economic unit
     
           หน่วยเศรษฐกิจ Economic unit  หมายถึง บุคคลหรือองค์กรต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตทางเศรษฐกิจ หน่วยเศรษฐกิจประกอบด้วย 3 กลุ่ม ใหญ่ ๆ แต่ละหน่วยมีองค์ประกอบ หน้าที่ และเป้าหมาย แตกต่างกัน ดังนี้  
     
  1. หน่วยครัวเรือน Household unit  
     
                หน่วยครัวเรือน หมายถึง หน่วยเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยบุคคลตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป มีการตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือ ปัจจัยทางด้านการเงิน เพื่อให้ได้ประโยชน์แก่ตนหรือกลุ่มตนมากที่สุด มีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเบื้องต้น เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ครัวเรือนเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมการผลิตและการบริโภค โดยผลิตสิ่งที่สมาชิกของครอบครัวมีความจำเป็นและมีความต้องการที่จะบริโภค  
     

              หน่วยครัวเรือนอาจเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต คือ ผู้มีปัจจัยการผลิตชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน และการประกอบการ ซึ่งอาจมีเพียงชนิดเดียวหรือหลายชนิดก็ตาม เจ้าของปัจจัยจะนำปัจจัยการผลิตที่ตนมีอยู่ให้ผู้ผลิตเพื่อไปผลิตเป็นสินค้าหรือบริการ โดยได้รับค่าตอบแทนในรูป ค่าเช่า ค่าจ้าง ดอกเบี้ย หรือ กำไร

     
                 เป้าหมายของเจ้าของปัจจัยการผลิต คือ รายได้สุทธิสูงสุด หรือ หน่วยครัวเรือน ทำหน้าที่เป็นผู้บริโภค คือ ผู้ใช้ประโยชน์จากสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการ เป้าหมายของผู้บริโภค คือ ความพึงพอใจสูงสุด สมาชิกของหน่วยครัวเรือน อาจทำหน้าที่ทั้งเจ้าของปัจจัยการผลิต และเป็นผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กัน  
     
                  อย่างไรก็ตามหน้าที่ของหน่วยครัวเรือนจะต้องพยายามหารายได้มาไว้สำหรับจับจ่ายใช้สอย ส่วนแหล่งที่มาของรายได้ขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  
     

2. หน่วยธุรกิจ Business Firm unit
              หน่วยธุรกิจ Business Firm unit คือ บุคคลหรือองค์การที่มีบทบาทในการผลิตหรือบริการสินค้า เพื่อแสวงหาผลกำไรและสนองความต้องการและความพึงพอใจของผู้คนในสังคม หรือ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่เอาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ มาผสมผสานผลิตเป็นสินค้าหรือบริการแล้วนำไปจำหน่ายจ่ายแจกหรือขายให้แก่ผู้บริโภค หน่วยธุรกิจประกอบด้วยสมาชิก 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ผู้ผลิตและผู้ขาย ซึ่งหน่วยธุรกิจบางหน่วย ทำหน้าที่ทั้งผู้ผลิตและผู้ขาย หรือทำหน้าที่เพียงอย่างเดียว เป้าหมายของผู้ผลิต คือ แสวงหากำไรสูงสุด หรือมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในธุรกิจนั้น หรือการมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ หรือธุรกิจมีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ในอัตราสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นต้น


     
3. หน่วยรัฐบาล Government unit
              หน่วยรัฐบาล Government Agency  หมายถึง หน่วยงานของรัฐ หรือ ส่วนราชการต่าง ๆ ที่จัดตั้งเพื่อดำเนินการของรัฐบาล มีบทบาทสำคัญในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยมุ่งประโยชน์ การกินดีอยู่ดี ของประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก มีหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์กับหน่วยอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งบทบาท หน้าที่ ความสัมพันธ์ดังกล่าว จะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ ระบบเศรษฐกิจ ถ้าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม บทบาทหน้าที่ของหน่วยรัฐบาลโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจจะมีค่อนข้างจำกัด แต่ถ้าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมหรือแบบคอมมิวนิสต์ รัฐบาลจะมีบทบาทค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยรัฐบาล พอสรุปได้ดังนี้
     
         1.  เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และเจ้าของปัจจัยการผลิตในระบบเศรษฐกิจ
 
     
         2.  อำนวยความสะดวกในด้านปัจจัยพื้นฐาน เช่น บริการด้านสาธารณูปโภค (บริการไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ ฯลฯ) และสาธารณูปการ (การซ่อม สร้าง บำรุงถนน ฯลฯ) ให้แก่ประชาชน
 
     
         3.  จัดหารายได้โดยการเก็บภาษีจากประชาชน เพื่อไว้ใช้จ่ายในการบริหารและพัฒนาประเทศ
 
     
         4.  รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ระงับและตัดสินข้อพิพาทและป้องกันประเทศ  
     
  ความสัมพันธ์ของหน่วยเศรษฐกิจ  
              ในทางทฤษฎี บุคคลในระบบเศรษฐกิจมีหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ผลิตโภค และ เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต แต่ในทางปฏิบัติการแบ่งหน้าที่แบบนี้จะแยกจากกันโดยเด็ดขาดได้ยาก เพราะบุคคลคนเดียวอาจทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และ เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตร่วมกันไปด้วย ซึ่งหน้าที่ต่างๆ ดังกล่าวมีความสัมพันธ์กันเป็นวงจรเศรษฐกิจ ดังนี้  
     
  1. ความสัมพันธ์ของหน่วยเศรษฐกิจอย่างง่ายแบบไม่มีรัฐบาล  
  2. ความสัมพันธ์ของหน่วยเศรษฐกิจแบบปิดมีรัฐบาล  
  3. ความสัมพันธ์ของหน่วยเศรษฐกิจแบบเปิด  
     
  1. ความสัมพันธ์ของหน่วยเศรษฐกิจอย่างง่ายแบบไม่มีรัฐบาล  
     
 
 
  วงจรกระแสหมุนเวียน     
 

จากหน่วยครัวเรือนหรือเจ้าของปัจจัยการผลิต จะนำเอาปัจจัยการผลิต ให้กับ หน่วยธุรกิจ จากนั้น หน่วยธุรกิจ ก็นำปัจจัยการผลิต มาผลิตเป็นสินค้าและบริการ วงจรตรงนี้ ทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า กระแสผลผลิต Real Flow (วงจรสีขาว)

 
     
  เมื่อหน่วยครัวเรือน นำปัจัยการผลิต ให้กับหน่วยธุรกิจ ทำให้หน่วยครัวเรือน มีรายได้ เป็นค่าตอบแทนจากการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต จากหน่วยธุรกิจ   หน่วยธุรกิจ ก็นำปัจจัยการผลิต มาผลิตเป็นสินค้าและบริการ จำหน่ายให้กับหน่วยครัวเรือน หน่วยธุรกิจมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการ วงจรตรงนี้ ทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า กระแสเงิน Money Flow(วงจรสีส้ม)  
     
 
 
  วงจรกระแสหมุนเวียน  
 

จาก ครัวเรือนหรือเจ้าของปัจจัยการผลิต จะนำเอาปัจจัยการผลิตออกสู่ ตลาดปัจจัยการผลิต เมื่อตลาดได้ตกลงใจที่จะรับซื้อปัจจัยการผลิตแล้ว ก็จะจ่ายเงินให้กับเจ้าของปัจจัยการผลิตในรูปต่างๆ เป็น (ที่ดิน - ค่าเช่า , แรงงาน - ค่าจ้าง ,ทุน - ดอกเบี้ย และผู้ประกอบการ - กำไร) ให้แก่ครัวเรือน เมื่อตลาดปัจจัยการผลิตได้รับปัจจัยการผลิตจากครัวเรือนมาแล้ว ก็เปิดโอกาสให้ธุรกิจ หรือ ผู้ผลิตเข้าครอบครอง และ ใช้ทรัพยากรการผลิตเหล่านั้น โดยที่ธุรกิจจะต้องจ่ายเงินตอบแทน ปัจจัยการผลิต ที่ได้จากตลาดปัจจัยการผลิต ค่าตอบแทนนี้เรียกว่า ต้นทุนการผลิต

 
     
  เมื่อธุรกิจได้ปัจจัยการผลิตมาแล้วก็จะทำการผลิตสินค้าและบริการส่งออกไปขายในตลาดสินค้าและบริการ ตลาดจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่ง แก่หน่วยธุรกิจซึ่งนับว่าเป็นรายได้ของหน่วยธุรกิจ แล้วตลาดสินค้าและบริการก็จะนำสินค้าและบริการเหล่านี้ไปขายให้แก่ หน่วยครัวเรือน คารัวเรือนก็จะจ่ายเงินทดแทนในรูปของค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ  
     
  2. ความสัมพันธ์ของหน่วยเศรษฐกิจแบบปิดมีรัฐบาล  
     
 
 
     
  ความสัมพันธ์ของหน่วยเศรษฐกิจทั้งหน่วยครัวเรือน หน่วยธุรกิจและหน่วยรัฐบาล หน่วยรัฐบาลเป็นหน่วยงานทำหน้าที่ อำนวยความสะดวกในการส่งเสริมการผลิตและการบริโภค ตลอดจนการกระจาย ด้วย เช่น การออกระเบียบและกฎหมายให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุน การลงทุนสร้างถนน ไฟฟ้า ประปา และโทรคมนาคมการให้เงินกู้เพื่อการลงทุน การเข้าไปแทรกแซงด้านการตลาดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกันราคาสินค้า การพยุงราคาสินค้า การรับจำนำสินค้าเกษตร การขยายตลาดในต่างประเทศ การเก็บภาษีอากร และการให้ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ  
     
 
 
     
  บทบาทของรัฐบาลที่เป็นทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และเจ้าของปัจจัยการผลิต โดยรับบาลจะมีรายรับจากภาษีอากรและการขายสินค้าให้แก่ธุรกิจและครัวเรือน  ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะนำรายรับไปซื้อปัจจัยการผลิตในตลาดปัจจัยการผลิต เพื่อนำไปผลิตสินค้าและบริการที่หน่วยธุรกิจไม่ทำการผลิต เช่น ผลิตกระแสไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ การคมนาคม ทุกประเภท ทั้งทางน้ำ ทางบก ทางอากาศ เป็นต้น รวมทั้งจะนำรายรับไปซื้อสินค้า และบริการเพื่อให้หน่วยราชการนำไปใช้สอย และในบางกรณีรัฐยังจ่ายเงินโอนให้ครัวเรือนและหน่วยธุรกิจในกรณีที่เกิดปัญหา เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากภัยพิภัยธรรมชาติ การให้เงินอุดหนุนภาคเอกชนในการผลิต ฯลฯ  
     
 
 
     
  3. ความสัมพันธ์ของหน่วยเศรษฐกิจแบบเปิด  
     
                 ความสัมพันธ์ของหน่วยเศรษฐกิจทุกภาคส่วนภายใต้ระบบเศรษฐกิจ เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หลากหลายรูปแบบ ตามบริบทของหน่วยเศรษฐกิจ อาทิ  
  หน่วยรัฐบาล ต้องให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวกให้ ภาคเอกชน ในการส่งสินค้าออกไปยังต่่างประเทศ ทำให้เอกชนมีรายได้ รัฐบาลมีรายได้ จากการเก็บภาษี หรือภาครัฐอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชน ในการสั่งซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศหรือสินค้าทุนอื่นๆเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการสามารถแข่งขันกับ ตลาดต่างประเทศได้  
     
  หรือ ความสัมพันธ์ ระหว่าง หน่วยธุรกิจ กับ ตลาดการเงิน ซึ่งมีการทำสัญญากู้ยืมเงินทั้งในตลาดเงินและตลาดการเงิน ทำให้เกิดการลงทุน เป็นการสร้างงาน เกิดความสัมพันธ์กับหน่วยครัวเรือนอีกทอดหนึ่ง ตลาดแรงงานกว้างขึ้น ทำให้หน่วยครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น  
     
     
     
     

Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th