หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
ขอบข่าย เป้าหมายของการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์
หน่วยที่ 1 เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น
  1.2 ขอบข่าย เป้าหมายของการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์
     
                 การศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของสังคมว่า การดำเนินกิจกรรมหรือการตัดสินใจหนึ่งๆ เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ เช่น ถ้าสินค้าชนิดหนึ่งมีราคาสูง ผู้ซื้อควรจะตัดสินใจอย่างไร หน่วยธุรกิจ จะผลิตอะไร หรือรัฐบาลควรจะดำเนินการอย่างไร  เป็นต้น ดังนั้น สามารถจำแนกขอบข่ายออกได้เป็น 2 แนวทาง ดังนี้  
     
  1. จำแนกตามเนื้อหาของวิชาเศรษฐศาสตร์  
      
           1.1. เศรษฐศาสตร์จุลภาคหรือจุลเศรษฐศาสตร์ Microeconomics  
           1.2. เศรษฐศาสตร์มหาภาคหรือมหาเศรษฐศาสตร์ Macroeconomics  
     
  2. จำแนกตามการวิเคราะห์ปัญหา  
     
            2.1 เศรษฐศาสตร์ตามความเป็นจริง หรือ เศรษฐศาสตร์พรรณนา positive or descriptive economics
            2.2 เศรษฐศาสตร์ที่ควรจะเป็น หรือ เศรษฐศาสตร์นโยบาย normative or policy economics
     
            1.1 เศรษฐศาสตร์จุลภาค Microeconomics  
     
                   จุล - แปลว่า "เล็ก" + เศรษฐศาสตร์  
  เศรษฐศาสตร์จุลภาค Microeconomics เป็นเศรษฐศาสตร์ สาขาหนึ่งซึ่งศึกษาพฤติกรรมของบุคคลและบริษัท ในด้านการตัดสินใจที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและบริษัท หรือการศึกษาพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของหน่วยเศรษฐกิจใดหน่วยเศรษฐกิจหนึ่ง    เช่น  
     
  การศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภครายใดรายหนึ่งว่าจะมีการตัดสินใจในการเลือกบริโภคสินค้าและบริการอย่างไร จำนวนเท่าใด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความพอใจสูงสุดภายใต้ขีดจำกัดของรายได้จำนวนหนึ่ง  
     
  พฤติกรรมของผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งว่าจะตัดสินใจเลือกผลิตสินค้าอะไร จำนวนเท่าใด ด้วย วิธีการอย่างไร และจะกำหนดราคาเท่าไร จึงจะได้กำไรสูงสุด ศึกษาพฤติกรรมการลงทุน การออมของ บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ศึกษากลไกตลาดและการใช้ระบบราคาเพื่อการจัดสรรสินค้า บริการ และทรัพยากร อื่นๆ  
     
            จะเห็นได้ว่าเศรษฐศาสตร์จุลภาคส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับราคาในตลาดแบบต่างๆ นักเศรษฐศาสตร์บางท่านจึงเรียกวิชาเศรษฐศาสตร์อีกชื่อหนึ่งว่า ทฤษฎีราคา (Price Theory)  
     
              1.2 เศรษฐศาสตร์มหภาค Macroeconomics  
     
                    มห - แปลว่า "ใหญ่" + เศรษฐศาสตร์
 
  เศรษฐศาสตร์มหภาค Macroeconomics เป็นสาขาของเศรษฐศาสตร์ แขนงหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับความสามารถ โครงสร้าง พฤติกรรม และการตัดสินใจในระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งประกอบไปด้วยเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ประเทศ และระดับโลก   
     
                  นักเศรษฐศาสตร์มหภาค ศึกษาดัชนีรวม อาทิ    ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ GDP อัตราการว่างงาน รายได้ประชาชาติ GNP ดัชนีราคา และความสัมพันธ์ระหว่างกันของแต่ละภาค ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อทำความเข้าใจถึงการทำงานของเศรษฐกิจ หรือ เศรษฐศาสตร์มหภาค macroeconomics  เป็นการศึกษาภาวะเศรษฐกิจโดยส่วนรวม ทั้งระบบเศรษฐกิจหรือทั้งประเทศ อันได้แก่  
     
                  การผลิตของระบบเศรษฐกิจ การบริโภค การออม และการลงทุนรวมของประชาชน การจ้างงาน ภาวะการเงินและการคลังของประเทศ ฯลฯ   เศรษฐศาสตร์มหภาคโดยทั่วไปจะครอบคลุมหัวข้อต่างๆ   เช่น รายได้ประชาชาติ วัฏจักรเศรษฐกิจ   เงินเฟ้อและระดับราคาสินค้าหรือบริการ การคลังและหนี้สาธารณะ เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ   การเงินและสถาบันการเงิน  และ เศรษฐศาสตร์การพัฒนาและวางแผน Economics of   Development and Planning ฯลฯ  
     
  2. จำแนกตามการวิเคราะห์ปัญหา  
     
            2.1 เศรษฐศาสตร์ตามความเป็นจริง หรือ เศรษฐศาสตร์พรรณนา positive or descriptive economics  
                เศรษฐศาสตร์เชิงสัจจะ Positive Economics หรือ เศรษฐศาสตร์ตามความเป็นจริง หมายถึง เศรษฐศาสตร์ที่ครอบคลุมหรือเกี่ยวข้องกับเนื้อหาหรือข้อความที่อธิบายถึงปรากฏการณ์ใดๆ ที่เคยเป็น หรือกำลังเป็นอยู่ หรือจะเป็นในอนาคต ซึ่งสามารถพิสูจน์ความถูกต้องของเนื้อหาหรือข้อความนั้นได้โดยอาศัยประจักษ์พยานจากข้อเท็จจริง โดยหลักแล้วเนื้อหาหรือข้อความที่เป็นเศรษฐศาสตร์เชิงสัจจะจะต้องปราศจากซึ่งวิจารณญาณส่วนบุคคล  
     
            2.2 เศรษฐศาสตร์ที่ควรจะเป็น หรือ เศรษฐศาสตร์นโยบาย normative or policy economics  
               เศรษฐศาสตร์เชิงบรรทัดฐาน  Normotive economics หรือ เศรษฐศาสตร์ที่ควรจะเป็น หมายถึง การศึกษาวิเคราะห์และแสดงทัศนะทางเศรษฐศาสตร์ที่อิงอยู่กับบรรทัดฐานหรือวิจารณญาณส่วนบุคคล ดังนั้น สิ่งที่นำเสนอหรืออธิบายจึงมักจะเกี่ยวข้องกับการตัดสินว่าปรากฏการณ์หรือพฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ ดีหรือไม่ดี และ ควรหรือไม่ควร  
     
               เศรษฐศาสตร์ เป็นคำที่คุ้นหูกันมากขึ้น เมื่อเกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ แต่เดิมเราไม่ค่อยสนใจ เมือเทียบกับวิชาอื่นในสาขาสังคมศาสตร์ หรือยิ่งไปกว่านั้น อาจไม่รู้ว่ามีวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ในสาขา  การเรียนรู้สังคมศาสตร์  เมื่อได้ยินคำว่า “เศรษฐศาสตร์” ก็มีคำถามเกิดขึ้นทันทีว่า “เรียนไปประกอบอาชีพอะไร หรือเรียนไปทำมาหากินอย่างไร  
     
               เศรษฐศาสตร์มีเป้าหมายอย่างไร ทำไมถึงต้องศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ หรือ ศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ไปพอสมควรแล้ว จะนำเอาความรู้ที่ได้จากการศึกษานั้นไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร  จริงแล้วมนุษย์ใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ ในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลา เมื่อมนุษย์มีการตัดสินใจ เลือกทำ หรือ เลือกไม่ทำอะไร เพราะจะเกิดอรรถประโยชน์ และ ค่าเสียโอกาสทันที  
     
 

             การศึกษาเศรษฐศาสตร์นั้นเป็นการแสวงหาความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อควบคุมสถานการณ์ทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามที่ต้องการ และเพื่อการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้การที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้น สามารถกระทำได้โดยผ่านขบวนการ 2 อย่างคือ

 
     
            1. การแสวงหาความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์โดยตรง จัดเป็นเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์  economic analysis or positive economics 
 
     
            2. การควบคุมสถานการณ์ทางเศรษฐกิจให้เป็นไปตามที่ต้องการ และการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวางนโยบายทางเศรษฐกิจ  economic policy or normative economics
 
     
             วัตถุประสงค์ของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แตกต่างจากนโยบายเศรษฐกิจ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สนใจเฉพาะการแสวงหา หลักเกณฑ์และทฤษฎี เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ว่าเป็นอย่างไร โดยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จะไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคุณค่า value judgement ว่าควรหรือไม่ควร ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จึงเป็นเพียงเครื่องมือทั่วไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น
 
     
              ส่วนนโยบายทางเศรษฐกิจแตกต่างจาก ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ เพราะความสนใจของนโยบายทางเศรษฐกิจอยู่ที่เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ต้องการและวิธีการที่จะให้บรรลุเป้าหมายนั้นๆ นโยบายทางเศรษฐกิจจึงเกี่ยวข้องกับการตัดสินคุณค่า เพราะผลของนโยบายอาจเกิดประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์     ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นและเป้าหมายของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามการวางนโยบายทางเศรษฐกิจ ที่เหมาะสมจำเป็นต้องมีความรู้ทางทฤษฎีเป็นพื้นฐาน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ปัญหาและผลของนโยบาย เพราะการวางนโยบายโดยขาดความรู้ทางทฤษฎีก็เปรียบเสมือนกับการแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดา     ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายได้  
     
  เป้าหมายของการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์  
     
            1. มุ่งทำความเข้าใจในพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์เพื่อใช้ความรู้นั้นให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตน  ช่วยทำให้ผู้บริโภครู้จักการตัดสินใจ เลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในการบริโภคและใช้ในทางที่ดีที่สุด  
     
             2. มุ่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหน่วยเศรษฐกิจและผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ของประชาชน ช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความสามารถในการวางแผนการผลิต  
     
              3. มุ่งศึกษาเพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายที่เหมาะสมกับปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ   รวมทั้งการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ การบริหารเศรษฐกิจของประเทศ และของรัฐบาลเองด้วยช่วยให้ผู้บริหาร ในองค์กรของรัฐมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม  
     

 

Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th