หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
 
ความหมายของเศรษฐศาสตร์
 
หน่วยที่ 1 เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น
  1.1 ความหมาย ความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์
  ความสำคัญของเศรษฐศาสตร์

              การที่ทรัพยากรมีจำกัด ขณะที่ความต้องการของคนเรามีไม่จำกัด เราจึงไม่ สามารถผลิตทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องการได้ จึงต้องเกิดการเลือกใช้ทรัพยากร ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเศรษฐศาสตร์จะเป็นสาขาวิชาที่ จะช่วยเราในการกระบวนการตัดสินใจ “เลือก” เพื่อให้การเลือกแต่ละครั้งคุ้มค่า มากที่สุด ทั้งในการตัดสินใจเกี่ยวกับการผลิต การบริโภค บริการและการแลกเปลี่ยนสินค้า เศรษฐศาสตร์จึงเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคน ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับครอบครัว จนถึงระดับประเทศ

 
     
 

             วิชาเศรษฐศาสตร์ ช่วยให้มนุษย์เข้าใจหรือสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเป็นระบบและมีระเบียบ รู้จักใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพนั้นมีเป้าหมายต่างกันอันเนื่องจากหน่วยเศรษฐกิจต่างระดับกัน 
             ระดับผู้บริหารประเทศ ใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ในการพิจารณาถึงการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ ที่มีอย่างจำกัดนั้น ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
             ระดับประชาชน ใช้วิชาเศรษฐศาสตร์เพื่อ เป็นเครื่องมือในการพิจารณาเลือกและตัดสินใจในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน หรือเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจประกอบอาชีพ หรือ ช่วยให้เข้าใจเหตุการณ์หรือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองและวิธีแก้ไขของภาครัฐบาล

 
     
  ประโยน์ของการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์  
  วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่สำคัญและมีประโยชน์ ผู้ที่ศึกษาสามารถเอาความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์  
 


 
 

1.  ประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือประชาชนทั่วไป
     - รู้วิธีการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
     - สามารถกำหนดค่าใช้จ่ายในการบริโภค การออม การลงทุน ได้พอควร
     - รู้จักวิธีจำแนกชนิดของสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์และนำไปใช้อย่างประหยัด
     - สามารถพยากรณ์ภาวะทางเศรษฐกิจ

 
 


 
  2. ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการหรือผู้ผลิต ทำให้สามารถผลิตสินค้าและบริการเพื่อให้ได้กำไร และใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
     - สามารถพยากรณ์ความต้องการใช้ปัจจัยการผลิต คาดคะเนความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผลิตสินค้าและบริการได้ตรงตามที่ตลาดต้องการ
     - ลดต้นทุนการผลิต ทำให้แข่งขันกับผู้ผลิตอื่นได้
     - สามารถใช้ปัจจัยการผลิตร่วมกับผู้ผลิตอื่น เป็นการประหยัดต้นทุน
 
     
 

3. ประโยชน์ต่อผู้บริหารประเทศ ทำให้สามารถกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจได้ถูกต้อง
     - กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพโดยส่วนรวม
     - จัดลำดับความสำคัญของแผนงานและโครงการต่างๆตามความจำเป็นและต้องการของประชากร
     - สามารถเข้าใจปัญหาต่างๆทางเศรษฐกิจได้ดี

 
     
  ความหมายของเศรษฐศาสตร์
เศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาที่ศึกษาถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ เพื่อผลิต บริโภค กระจาย แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ โดยการจัดสรรทรัพยากร ที่เป็นปัจจัยการผลิตอันมีอยู่อย่างจำกัดเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีอย่างไม่จำกัด
 
     
          อัลเฟรด มาร์แชลล์ Alfred Marshall นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้กล่าวถึงความหมาย ของวิชาเศรษฐศาสตร์ไว้ในหนังสือ Principle of Economics ว่าเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม ของมนุษย์ทั้งระดับบุคคลและสังคม ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อการดำรงชีพให้ได้รับความสุขสมบูรณ์ ผู้ริเริ่มทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์จุลภาคเป็นคนแรก  
   
          อดัม สมิธ Adam Smith ชาวอังกฤษ ได้รับสมญา “บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์” เขียนหนังสือ “An  inquiry  in to the Nature and causes of the Wealth of Nations” เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มแรกกล่าวถึงการทำอย่างไรประเทศจึงจะร่ำรวย เรื่องกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างสังคมกับธุรกิจให้ผลประโยชน์ร่วมกัน กลไกของตลาด การกำหนดมูลค่าของราคาสิ่งของ การบริหารการคลัง การกระจายรายได้ และการค้าระหว่างประเทศ
     
        จอห์น เมนาร์ด เคนส์ John Maynard Keynes ผู้ริเริ่มทฤษฏี ทางเศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นคนแรก  ได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค” โดยเสนอนโยบาย วิธีแก้ปัญหา การว่างงาน การเงิน การคลัง การออม การลงทุน  
   
           พอล แซมมวลสัน Paul Samuelson นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้ให้คำนิยามวิชาเศรษฐศาสตร์ ว่า "วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการที่มนุษย์และสังคม โดยจะใช้เงินหรือไม่ก็ตาม ตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัด นำไปผลิตสินค้าและบริการ และจำหน่ายจ่ายแจกสินค้า และบริการเหล่านั้นไปยังกลุ่มบุคคลต่างๆ ในสังคมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต"
     
          พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) บุคคลสำคัญในกลุ่มบุกเบิกการเผยแพร่วิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย ซึ่งเคยดำรงดำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ท่านเป็นผู้เรียบเรียงและพิมพ์ตำราทางเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย ชื่อ “ทรัพย์ศาสตร์” ในปี พ.ศ.2454 ต่อมาดร.ทองเปลว ชลภูมิ ผู้สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ขออนุญาตจากท่านนำหนังสือดังกล่าวมาจัดพิมพ์ใหม่และให้ชื่อว่า “เศรษฐศาสตร์ภาคต้น” เล่ม 1 และเล่ม 2 เพื่อใช้เป็นตำราเรียน  
     
           วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ให้ความหมาย เศรษฐศาสตร์ ว่า "เป็นการพัฒนาทรัพยากรเทคโนโลยีเพื่อผลิตสินค้า และ บริการให้เป็นไปอย่างประหยัด ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้มีปริมาณมากพอต่อความต้องการของมนุษย์  
 


         อุทิศ นาคสวัสดิ์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง "หลักและทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทั่วไป" ได้กล่าวว่า เศรษฐศาตร์เป็นการศึกษาถึงวิธีการที่ระบบเศรษฐกิจทำการผลิตสิ่งของและบริหาร เพื่อบำบัดความต้องการของมนุษย์และแจกจ่ายสิ่งของและบริการเหล่านั้นไปยังบุคคลที่มีความต้องการ  
   
           วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน ได้เขียนหนังสือ "เศรษฐศาสตร์" ได้ให้คำจำกัดความหมายเศรษฐศาสตร์ คือ ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับ การเลือกหนทาง ในการใช้ทรัพยากร การผลิตอันมีอยู่อย่างจำกัด สำหรับการผลิตสินค้าและบริการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด  
     
          รัตนา สายคณิต ได้เขียนหนังสือเรื่อง "มหาเศรษฐศาสตร์จุลภาค" ได้ให้คำจำกัดความเศรษฐศาาสตร์ว่า "วิชาที่ศึกษาถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มนุษย์ต้องการและทำการจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าและบริการเหล่านั้นไปบำบัดความต้องการของบุคคลในสังคม  
     
        ชะเลงศักดิ์ เชื้ออรวรรณ ครูสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า เศรษฐศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่สอนเกี่ยวกับการใช้ความคิดของมนุษย์ ในการนำปัจจัยการผลิต factors of production มาผลิตเป็นเศรษฐทรัพย์ economic goodsทั้งสินค้าและบริการ goods and services เพื่อก่อให้เกิดอรรถประโยชน์ utility อาจจะผลิตคนเดียว หรือ รวมกลุ่มกันผลิตก็ได้ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจ economic system   ตามความต้องการของตัวเอง หรือ กลุ่มบุคคลเพื่อจำหน่ายจ่ายแจกตอบสนองความต้องการของมนุษย์  
     
  ความเป็นมาของวิชาเศรษฐศาสตร์  
 

           ความคิดทางเศรษฐศาสตร์มีมาตั้งแต่สมัยโบราณโดยแทรกอยู่ในข้อเขียนและหนังสือสอนศาสนาของนักปราชญ์ในสมัยนั้น เช่น หลักปรัชญาของโซเครตีส (Socrates) เพลโต (Plato) ฯลฯ    แต่แนวความคิดดังกล่าวยังไม่ถือเป็นหลักหรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นสมัยที่การค้าทางยุโรปเจริญรุ่งเรืองมาก ได้เกิดลัทธิพาณิชย์นิยม (mercantilism)

 
     
  ลัทธิพาณิชยนิยม (Mercantilism)  
             Mercantile แปลว่า พ่อค้า หรือ พาณิช  ส่วน ism แปลว่า ลัทธิ รวมกันเรียกว่าลัทธิพาณิชย์นิยมเป็นลัทธิที่นิยมและยกย่องพ่อค้าและการค้า ทำให้ประเทศมั่งคั่ง หรือแม้แต่พ่อค้าก็มั่งคั่ง นักเขียนในลัทธินี้ส่วนใหญ่จึงเป็นพ่อค้า  
     
               การค้ากับต่างประเทศทำให้อังกฤษเป็นประเทศมั่งคั่งด้วยการซื้อวัตถุดิบจากเมืองขึ้น (ในแอฟริกาและเอเชียบางประเทศที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ)  ในราคาถูก แล้วนำมาผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นสินค้าสำเร็จรูปมีราคา    แพงกว่าสินค้าออกมากกว่าสินค้าเข้า ทำให้มีดุลการค้าได้เปรียบ favorable balance of trade or surplus รวมทั้งการบังคับให้ประเทศเมืองขึ้นค้ากับตนเท่านั้น เช่น  อังกฤษซื้อฝ้ายจากเมืองขึ้น เพื่อมาป้อนโรงงานอุตสาหกรรมทอผ้า ผลิตเป็นผ้าสำเร็จรูป ส่งไปขายเมืองขึ้นอีก ในราคาแพง มูลค่าเพิ่มจึงมาก ทำให้อังกฤษมีทองคำไหลเข้าประเทศมาก เพราะสมัยก่อนชำระหนี้ด้วยทองคำหรือเหรียญทองคำด้วยการผลิตที่ได้มาก ทำให้งานเพิ่มขึ้น ชาวอังกฤษจึงมีงานทำ ค่าจ้างสูง ตระหนักในเรื่องนี้  อังกฤษจึงคุ้มครองการค้า protectionism เพื่อให้สินค้าในประเทศขายได้  
     
            พวกที่นิยมการทำการค้า นักพาณิชย์นิยมมีความเชื่อว่าประเทศจะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อประเทศนั้นๆ ขายสินค้าขาออกให้ต่างประเทศเป็นมูลค่ามากกว่าการซื้อสินค้าขาเข้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเศรษฐกิจของประเทศจะมั่นคงก็ต่อเมื่อประเทศนั้นมีดุลการค้าที่เกินดุล ทั้งนี้ เพราะเห็นว่าการที่ประเทศมีดุลการค้าเกินดุลทำให้มีทองคำและเงินตราไหลเข้าประเทศมากๆจะเป็นการส่งเสริมการจ้างงานภายในประเทศ เนื่องจากเมื่อประเทศมีปริมาณเงินหมุนเวียนมากจะทำให้การค้าเจริญ เมื่อการค้าเจริญการผลิตย่อมเพิ่มขึ้นตาม ส่งผลให้เกิดการว่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในที่สุด ประชาชนจะมีความอยู่ดีกินดี เนื่องจากมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น         
     
 

          นอกจากนี้ นักพาณิชย์นิยมยังมีความเชื่อว่า การที่ประเทศจะมั่งคั่งคือมีดุลการค้าที่เกินดุลนั้น       รัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการค้ากับต่างประเทศ กล่าวคือ รัฐจะต้องส่งเสริมให้มีการส่งออกให้มากพร้อมกับให้มีการจำกัดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ    รัฐจะเป็นผู้กำหนดนโยบายการค้าและนโยบายด้านเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐ  กล่าวโดยสรุปแนวความคิดของลัทธิพาณิชย์นิยมไม่สนับสนุนแนวความคิดของระบบเศรษฐกิจแบบเสรี แต่เป็นลัทธิที่สนับสนุนให้รัฐบาลมีบทบาทในการควบคุมและแทรกแซงกิจกรรมทาง เศรษฐกิจ โดยพยายามทำให้ประเทศมีดุลการค้าที่เกินดุลมากๆ แล้วเศรษฐกิจของประเทศจะมั่งคั่ง ประชาชนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 
     
 

          ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 อดัม สมิท (Adam Smith) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ซึ่งเป็นแกนนำของนักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก (classical school) ได้เขียนหนังสือชื่อ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations หรือที่นิยมเรียกสั้นๆว่า The Wealth of Nations ใน ค.ศ. 1776 นับได้ว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกและยิ่งใหญ่ที่สุด เล่มหนึ่งของโลกมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้อดัม สมิทได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็น บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ แนวคิดหลักของสำนักคลาสสิกสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม (laissez-faire) โดยจำกัดบทบาทของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจเพราะมีความเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม จะทำให้ประเทศพัฒนาไปได้ด้วยดี เศรษฐกิจของประเทศจะมีความมั่งคั่งก็ต่อเมื่อรัฐบาลแทรกแซงหรือมีบทบาทในกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้น้อยที่สุดหรือไม่แทรกแซงเลยดีที่สุด รัฐบาลมีหน้าที่เพียงแต่คอยอำนวยความสะดวก รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และป้องกันประเทศ ปล่อยให้เอกชน เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเสรี นั่นคือ อดัม สมิท (Adam Smith) เชื่อใน พลังกลไกราคา (ตลาด)หรือ ที่เขาเรียกว่า มือที่มองไม่เห็น (invisible hand) นอกจากสมิทแล้วนักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มของ คลาสสิกยังมีทอมัส มัลทัส (Thomas Multhus) เดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) จอห์น มิลล์ (John Mill)

 
     
            หลังจากกลุ่มของสำนักคลาสสิกก็เป็นกลุ่มของสำนักนีโอคลาสสิก (neoclassical school) ซึ่งเป็นสำนักเศรษฐศาสตร์ที่ก่อตัวและพัฒนาขึ้นในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แนวคิดหลักของสำนักนีโอคลาสสิกส่วนมากสืบต่อหรือดัดแปลงแก้ไขมาจากแนวคิดของสำนักคลาสสิก โดยเชื่อว่าการแข่งขันอย่างเสรีจะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจมีความมั่งคั่ง นั่นคือ สนับสนุนแนวคิดของระบบเศรษฐกิจแบบเสรี เช่นเดียวกับของสำนักคลาสสิก นอกจากนั้น ยังเน้นให้เห็นว่าเนื่องจากทรัพยากรมีจำนวนจำกัด ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องพยายามเลือกบริโภคสินค้าและบริการเพื่อให้ได้รับความพอใจสูงสุด และเช่นเดียวกัน ผู้ผลิตจะต้องตัดสินใจเลือกวิธีการผลิตที่ทำให้เสียต้นทุนต่ำที่สุดหรือให้ได้กำไรสูงสุด นั่นคือ แต่ละฝ่ายจะต้องพยายามใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและประหยัดที่สุด นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นผู้ วางรากฐานแนวคิดที่สำคัญของสำนักนีโอคลาสสิกคือ อัลเฟรด มาร์แชลล์ นอกจากนี้ ยังมีเลอง วาลราส (Leon Walras) วิลเฟรโด พาเรโต (Vilfredo Pareto) ฯลฯ

 
     
            นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของทั้งสำนักคลาสสิกและนีโอคลาสสิกต่างมีความเชื่อว่า อุปทานจะเป็นตัวสร้างอุปสงค์ (supply creates its own demand) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันว่าคือ "กฎของเซย์" (Say's law) ซึ่งมีสาระสำคัญว่า อุปทานจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ กล่าวคือ ไม่ว่า ผู้ผลิตจะผลิตสินค้าหรือบริการอะไรออกมาก็จะมีผู้รับซื้ออยู่ตลอดเวลา นั่นคือ จะไม่เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือ เกิดการว่างงาน ซึ่งต่อมาแนวความคิดนี้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง เกิดปัญหาการว่างงานจำนวนมากใน ค.ศ. 1930 ซึ่งกฎของเซย์ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้  
     
            ในขณะนั้น จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes)นักเศรษฐศาสตร์ ชาวอังกฤษ  เป็นแกนนำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ (Keynesian Economics) ได้เขียนหนังสือชื่อ The General Theory of Employment, Interest and Money ซึ่งถือว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคเล่มแรกของโลก ใน ค.ศ. 1936 เพื่ออธิบายถึงสาเหตุของภาวะสินค้าล้นตลาด เศรษฐกิจตกต่ำ และการว่างงานจำนวนมากตลอดจนวิธีการแก้ไข นับเป็นครั้งแรกของวงการเศรษฐศาสตร์ที่ได้มีการศึกษาเศรษฐศาสตร์โดยรวมของทั้งระบบเศรษฐกิจหรือของทั้งประเทศ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keyne)  มีความเชื่อว่าแนวความคิดที่ถูกต้องคืออุปสงค์จะเป็นตัวกำหนดอุปทาน ซึ่งตรงข้ามกับกฎของเซย์ โดยอุปสงค์และอุปทานดังกล่าวเป็นตัวมวลรวมของทั้งประเทศ
 
     
           จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keyne) อธิบายว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำคือการที่ระบบเศรษฐกิจมีอุปสงค์มวลรวมน้อยเกินไป ดังนั้นวิธีแก้ไขคือการเพิ่มอุปสงค์มวลรวมของระบบเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการเงินการคลัง จะเห็นได้ว่าเคนส์เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกของโลกที่กล่าวถึงหรือให้ความสนใจกับเศรษฐกิจมวลรวม อันเป็นมูลเหตุที่ทำให้มีการแยกศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคเศรษฐกิจส่วนย่อยซึ่งเรียกว่าเศรษฐศาสตร์จุลภาค กับภาคเศรษฐกิจส่วนรวมซึ่งเรียกว่าเศรษฐศาสตร์มหภาค และยกย่อง ให้จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keyne)  เป็น บิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค Macroeconomics  
     
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoei Khlongtoei Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th